chat

MIS-C ภาวะเสี่ยงในเด็กหายป่วยโควิด-19


MIS-C ภาวะเสี่ยงในเด็กหายป่วยโควิด-19

MIS-C คืออะไร

MIS-C หรือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ หากมีอาการรุนแรงสามารถส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป

อาการที่ต้องระวังหลังเด็กหายป่วยจากโควิด-19

อายุ 0 – 21 ปี เคยติดเชื้อโควิด และหายแล้ว 2 – 6 สัปดาห์ โดย

1. มีไข้สูง 24 ชั่วโมง

2. มีอาการบ่งชี้ว่ามีการอักเสบของอวัยวะ 2 ข้อขึ้นไป

  • อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
  • ตาแดงทั้ง 2 ข้าง
  • ผื่นแดง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ลิ้นแดง เป็นตุ่ม ริมฝีปากแดง
  • มือ เท้า บวมแดง
  • อาการอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง เช่น ชัก ช็อก ตับวาย ไตวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

3. มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่ามีการอักเสบ

การดูแลรักษา

เป้าหมายของการรักษาภาวะ MIS-C คือการลดการอักเสบกับภาวะคุกคามชีวิต และการป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยมีการรักษาทางอิมมูนเบื้องต้น คือ

1. การใช้ยา IVIG

2. ยากลุ่มสเตียรอยด์

การป้องกัน

1. รับวัคซีนโควิดเมื่อถึงเกณฑ์อายุ

2. ป้องกันการติดเชื้อโควิด เช่น การล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย

คำแนะนำจากแพทย์

เด็กที่ป่วยด้วยโรค MIS-C อาจเกิดอาการช็อกหรือเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังอาการของเด็กหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หากเด็กมีอาการคล้ายกับโรค MIS-C หรือโรคคาวาซากิ ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาทันที

บทความโดย : พญ.นภัสรา ทองมาก แพทย์ประจำศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลยันฮี