chat

ฮีทสโตรก อุณหฆาตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด

heatstroke

“ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ “โรคลมแดด” ภัยใกล้ตัวในช่วงหน้าร้อนที่หลายคนมองข้ามเพราะมองว่าเป็นเพียงอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือเป็นลมทั่วไป ที่ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต จนทำให้หลายคนประมาทและมองข้ามภัยร้ายของฮีทสโตรกไป ทั้งที่ความจริงแล้วอากาศร้อนจัดส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานผิดปกติ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เมื่อเกิดอาการฉับพลันและไม่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากอุณหฆาตได้

heatstroke

“ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ “โรคลมแดด” คือ ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส โดยอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่สูงเกินปกติได้ แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองร้อนที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับสภาพอากาศ แต่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูร้อนของไทยที่อุณหภูมิสูงมากก็สามารถส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพได้โดยตรง โดยความเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดได้ เช่น ผู้ใช้แรงงาน กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร นักกีฬา ทหารที่ต้องฝึกกลางแจ้ง ฯลฯ การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก, สวมเสื้อผ้าที่หนาหรือรัดแน่นมิดชิดเกินไปจนเหงื่อระบายได้ยาก, ไม่ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันจนร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ฯลฯ

สำหรับอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ได้แก่

  • กระหายน้ำมาก
  • อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • ตัวร้อนมาก
  • วิงเวียนศีรษะ
  • หน้ามืดเป็นลม
  • หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
  • ผิวหนังและหน้าเปลี่ยนเป็นสีออกแดง
  • ชักเกร็งกล้ามเนื้ออันเป็นผลจากความผิดปกติทางระบบประสาท
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ไม่มีเหงื่อออก และปวดศีรษะ

heatstroke

โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม จัดให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง และคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก หาผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ และหน้าผาก เพื่อระบายความร้อน, ราดน้ำเย็นบนร่างกายเพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำลง หากสามารถนำตัวไปอยู่ในห้องที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศช่วยระบายความร้อนจะสามารถบรรเทาอาการได้, หากผู้ป่วยยังมีสติดีอยู่ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ทดแทนเหงื่อในร่างกายที่สูญเสียไป, กรณีอาเจียนต้องจับผู้ป่วยนอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก หากมีอาการหายใจเร็วควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

heatstroke

ทั้งนี้ พยายามลดความเสี่ยงด้วยการงดออกกำลังกายกลางที่แจ้งในช่วงเที่ยงหรือบ่าย แนะนำให้ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นที่มีแสงแดดอ่อนมากกว่า, ไม่ทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัด, สวมใส่เสื้อผ้าโปร่งสบายเพื่อให้ผิวหนังได้มีการถ่ายเทความร้อนออกไปได้ง่ายขึ้น, หลีกเลี่ยงการอยู่ในรถที่จอดกลางแดด เพราะอุณหภูมิในรถสามารถขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ปล่อยเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุให้อยู่ในรถที่มีความร้อนสูงเพียงลำพัง, พกร่มหรือหมวกปีกกว้างสำหรับกันแดด, ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในที่อุณหภูมิสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือโรคระบบทางเดินหายใจ, ผู้ที่ทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต, ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศเมืองหนาวแล้วปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทยไม่ได้ ทุกคนจึงไม่ควรมองข้ามภัยใกล้ตัวอย่าง “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ “โรคลมแดด” ที่อาจเป็นอันตรายต่อเราและคนรอบข้างถึงขั้นเสียชีวิตได้