chat

รู้จักกับ โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า แพร่กระจายเร็ว ติดต่อง่าย

delta

COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า คืออะไร และมีที่มาจากไหน

COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า เป็นเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชนิดหนึ่งที่มีการกลายพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลง สารพันธุกรรมบางตำแหน่งต่างออกไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้มีคุณสมบัติบางอย่างแตกต่างออกไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยมีการตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ B.1.617.2

COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า มีอาการอย่างไร ต่างจากสายพันธุ์อื่นๆอย่างไร

อาการ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ B.1.617.2 )

- อาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ ปวดศีรษะ, เจ็บคอ, ไอ, มีน้ำมูก จะต่างจากสายพันธุ์อื่นๆตรงไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส

อาการ COVID-19 สายพันธุ์อัลฟ่า (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ B.1.1.7)

- มีไข้, ไอ เจ็บคอ,หนาวสั่น,อาเจียน,ปวดเมื่อย,ปวดศีรษะ,ท้องเสีย,และการรับรส / ได้กลิ่น ปกติ

อาการ COVID-19 สายพันธุ์เบต้า (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ B.1.351)

- เจ็บคอ, ปวดศีรษะ,ตาแดง, นิ้วมือ/เท้า, เปลี่ยนสี, การรับรส/ได้กลิ่นเป็นปกติ, ปวดเมื่อย, ท้องเสีย,มีผื่นผิวหนัง

อาการ COVID-19 สายพันธุ์ S (ระบาดระลอกแรกในไทย)

- ไอต่อเนื่อง, ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น, มีไข้ 37.5 องศา ขึ้นไป, หอบเหนื่อย, หายใจลำบาก

แพร่กระจายได้เร็วขนาดไหน

เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ สายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 50% ส่วนสายพันธุ์เดลต้านั้นแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึงเกือบ 60% หรือคนติดเชื้อ 1 คนจะแพร่ให้ผู้อื่นได้ราว 8-9 คน

ความน่ากลัวของสายพันธุ์เดลต้า

1. สามารถแพร่กระจายได้เร็ว

2. วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง

ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อต่อสายพันธุ์เดลต้า

✩ วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 79 จากร้อยละ 90 ของสายพันธุ์ดั้งเดิม

✩ วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ประสิทธิภาพพอๆกับวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer)

✩ แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) สร้างภูมิคุ้มกันได้ร้อยละ 60 จากร้อยละ 88

✩ วัคซีนโควิดซิโนแวค (Sinovac) ข้อมูลยังมีไม่มากนักเนื่องจากทางอเมริกาและยุโรปไม่ได้ใช้วัคซีนตัวนี้ แต่ถ้าข้อมูลในประเทศไทยเองพบภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่าจากสายพันธุ์ดั้งเดิม

เพราะอะไรกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรค ควรรีบไปรับวัคซีน

เพราะโอกาสที่ติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตสูงกว่าคนอายุน้อยและไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้เตียงในโรงพยาบาลเต็มเกือบทุกโรงพยาบาล โอกาสที่อาการหนักแล้วจะได้รับการรักษาในเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักก็จะยากมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

การป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

การใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงการใส่หน้ากาก 2 ชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัยโดยมีหน้ากากผ้าทับด้านนอก เมื่อต้องไปในที่คนอยู่หนาแน่น ระบบระบายอากาศไม่ดี, การรักษาระยะห่างทางสังคม, รวมถึงการทำความสะอาดมือด้วยการล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดมือบ่อยๆ ยังเป็นมาตรการที่สำคัญและใช้ได้ผลในการป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

ข้อมูล และเรียบเรียงโดย : นพ.เอกวิทย์ เกวลินสฤษดิ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี