chat

“7 ข้อ” ต้องรู้ เตรียมพร้อมพาเจ้าหนูคนเก่ง “ตะลุยวันเด็ก”!!




จะมีสักกี่วันใน 365 วัน ที่จะทำให้หัวใจของเจ้าตัวเก่งของคุณพ่อคุณแม่เบ่งบานและตื่นเต้นสนุกสนานเท่า "วันเด็กแห่งชาติ" โดยเฉพาะเจ้าตัวเก่งที่อยู่ในวัยเรียนรู้โลกกว้างรอบ ๆ ตัวที่ดูจะยิ่งใหญ่ไปเสียหมดทุกสิ่งอย่าง หลาย ๆ หน่วยงานก็มักจะจัดงานวันเด็กแห่งชาติ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาร่วมกิจกรรม เรียนรู้และได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินในรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ความถนัดของแต่ละหน่วยงาน คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านก็จะได้มีโอกาสย้อนเวลานึกถึงวัยเด็กของเราและเผลอ ๆ อาจจะย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กไปพร้อม ๆ กับเจ้าตัวแสบของเราไปด้วยเลยก็ได้ครับ

ในวันเด็กที่แสนวุ่นวายนั้น เราอาจจะเจอะเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ได้ครับ ถ้าเรามีการเตรียมความพร้อมรับมือ/ป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้ลูกได้ และสามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างราบรื่น เราไปดูกันครับว่า คุณพ่อคุณแม่พร้อมสำหรับการพาเจ้าตัวเก่ง “ตะลุยโลกกว้างในวันเด็ก” ในปีนี้กันรึยัง


1. ป้ายชื่อ-สกุล ชื่อเล่น ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ปกครอง ยา/โรคประจำตัว ข้อนี้สำคัญที่สุด!!! ขอให้เป็นข้อแรกเลยครับ เพราะถ้าเกิดเหตุพลัดหลง/ลูกหายขึ้นมาจริง ๆ วินาทีนั้นโลกทั้งใบจะล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาจริง ๆ ครับ ในหลาย ๆ งานจำนวนผู้ร่วมงานจะหนาแน่นมากเป็นพิเศษ เช่น กองทัพบก กองทัพอากาศ ให้ทำป้ายนี้ใส่ถุงพลาสติกกันน้ำใส่ในกระเป๋าเสื้อ/กางเกง/เป้ของลูก ไว้หลาย ๆ จุด สำหรับป้องกันกรณีพลัดหลงจากผู้ปกครอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อให้มารับตัวเด็กกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน หากเป็นไปได้ หาสายจูงข้อมือ-หน้าอกกับลูกไว้ตลอดเวลา (คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่คุ้นเคยและอาจมองเราในแง่ลบ แต่สำหรับฝรั่งนั้นเขาใช้สายนี้กันเป็นปกติเวลาที่ต้องพาลูกไปในที่คนหนาแน่นและมีโอกาสพลัดหลงได้ สำหรับหมอเองเวลาพาลูกเดินทางไปต่างประเทศก็จะติดสายนี้ไปด้วยทุกครั้ง) ถ้าลูกโตพอ ต้องสอนลูกให้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เช่น วิ่งไปแจ้งพิธีกรบนเวที ผู้ประกาศในงาน รปภ. ตำรวจ เป็นต้น


2. คนแปลกหน้า คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา แต่คงไม่ถึงกับต้องจดจ้องตลอดทุกวินาทีนะครับ สอนลูกห้ามไม่ให้ไปกับคนแปลกหน้าเด็ดขาด รวมถึงการรับน้ำ/อาหาร/ขนมจากคนแปลกหน้าโดยเด็ดขาด ในทุก ๆ ปีจะมีรายงานเด็กพลัดหลง/สูญหายตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก และจากการสืบสวน ก็พบว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะถูกชักจูงและหายไปกับคนแปลกหน้าโดยเด็กไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด อาชญากรเหล่านี้มักมีทักษะหลอกล่อเด็ก ๆ ได้ดี ทำให้เด็กหลงเชื่อโดยง่าย จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ต่างจากข้อแรกครับและเผลอ ๆ อาจจะร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำครับ


3. การพลัดตกหกล้ม เนื่องจากบางกิจกรรมที่ลูกไปร่วมอาจมีความเสี่ยงของการพลัดตกจากที่สูง เช่น ตกจากเครื่องเล่นปีนป่าย ตกจากยานพาหนะที่จัดแสดง เช่น รถถัง เครื่องบิน เป็นต้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องประเมินความสามารถและทักษะของลูกก่อนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และควรจัดเสื้อผ้ารองเท้าที่รัดกุม มีความยืดหยุ่น ไม่รุ่มร่ามหรือคับแคบจนไม่สามารถขยับแขนขาได้เต็มที่อันจะมีส่วนเสริมให้เกิดการพลัดตกหกล้มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรพกน้ำเกลือขวดเล็ก ๆ แอลกอฮอล์ล้างแผลหรือเบตาดีน และพลาสเตอร์ปิดแผลไปบ้าง เผื่อมีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็สามารถดูแลเบื้องต้นได้ทันที ไม่ต้องไปเดินหาห้องปฐมพยาบาลให้เสียเวลาตะลุยโรค เอ้ย ตะลุยโลกกว้าง ของเจ้าตัวแสบกันครับ


4. น้ำดื่ม/นมและอาหาร ทุก ๆ ปีหลังเสร็จกิจกรรมงานวันเด็ก จะมีเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยที่มีอาการอาเจียน/ท้องเสียอย่างรุนแรง ในคืนนั้นหรือวันถัดมา ซึ่งก็คืออาการของลำไส้อักเสบเฉียบพลันนั่นเองครับ ส่วนใหญ่แล้วมักมีสาเหตุจากการรับประทานอาหาร/น้ำดื่มไม่สะอาด โดยเฉพาะของโปรดของเด็ก ได้แก่ น้ำแข็ง/น้ำหวาน/ไอศกรีม นอกจากนี้ ก็มีสาเหตุอาหารที่ซื้อจากร้านค้าที่มาร่วมจำหน่ายในงาน อาจจะเตรียมอาหารไว้ตั้งแต่กลางดึก หรือสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารบูดเสียเร็ว เป็นต้น ดังนั้น ควรพิจาณาเลือกร้านอาหารให้ดี หรือเตรียมน้ำดื่ม/อาหาร/นม ไปเองน่าจะปลอดภัยกว่า เลี่ยงการดื่มน้ำหวาน/น้ำแข็งบด เพราะมักจะมีแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากลูกมีภาวะการแพ้อาหารบางชนิด ยิ่งจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมอาหารที่เหมาะกับลูกไปด้วยครับ


5. เสื้อผ้า/ผ้าอ้อมสำรอง ความเลอะเกิดขึ้นได้เสมอครับ ไม่ว่าจะเลอะจากการดื่มกิน เปียกเหงื่อและ...การขับถ่าย เตรียมไปเผื่อไว้หลาย ๆ ชิ้นได้เลยครับ อันนี้ไม่ต้องพูดเยอะ เจ็บคอ!


6. การนอนพัก/ดื่มน้ำให้เพียงพอ เมื่อเล่นไปนาน ๆ เล่นมาก ๆ พลังงานก็จะหมดครับ ไหนจะต้องต่อสู้กับพลังความร้อน พลังเสียงอันอึกทึกครึกโครมรอบ ๆ ตัวตลอดเวลา ย่อมจะต้องใช้พลังมากเป็นพิเศษ ดีที่สุดก็ควรให้ลูกได้พักครึ่ง เช่น หลังพักทานมื้อกลางวัน ก็ควรหาที่ร่ม ๆ เย็น ๆ เงียบ ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ หาผ้าชุบน้ำเย็น ๆ ลูบหน้า คอ ตามตัวให้สบายแล้วให้นอนพักสักงีบ เป็นการชาร์จพลังในตัวสำหรับการเรียนรู้รอบบ่ายต่อไป (ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็รีบ ๆ ชิงงีบไปด้วยเลยก็ดีนะครับ เชื่อผม!) และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือการให้ลูกดื่มน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกขาดน้ำ เพราะทั้งกิจกรรมและสภาพอากาศที่ร้อนจะทำให้ลูกสูญเสียน้ำในร่างกายไปมากมายกว่าที่เราคิด นอกจากนี้ ให้สังเกตุจากปัสสาวะของลูกไปด้วย หากปัสสาวะไม่มากร่วมกับมีสีเหลืองเข้ม นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่าลูกกำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ พยายามให้ลูกดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น เลี่ยงการตากแดดนานเกินไป เพราะจะสาเหตุให้ลูกเจ็บป่วยตามมาหลังจากนี้ได้ครับ


7. ครีมกันแดด ข้อนี้อาจจะไม่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาผิวหนังที่บอบบางและไวต่อแสงแดด ก็ถือว่าจำเป็นทีเดียวครับ โดยเฉพาะถ้าต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หมอเองเคยพาลูกไปเข้าคิวต่อแถวเพื่อขึ้นไปนั่งเครื่องบินที่กองทัพอากาศ กลางลานบินตอนบ่าย ๆ ต่อแถวอยู่ร่วมชั่วโมงในเวลาบ่ายโมง คุณ ๆ ท่าน ๆ ลองคิดตามเอาเองนะครับ ว่าลูกและหมอกลับถึงบ้านตัวเกรียมหน้าเกรียมขนาดไหน


คงไม่ยากเกินไปใช่มั้ยครับกับการเตรียมตัวและข้อควรระวังเพียงไม่กี่ข้อดังกล่าวข้างต้น เพียงเท่านี้ก็สามารถพาลูกไปร่วมตะลุยโลกกว้างในวันเด็กได้อย่างสนุกสุขใจ มั่นใจและปลอดภัยมากขึ้นแล้วครับ และหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ หรือหากยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปร่วมกิจกรรมที่ไหน หมอก็ขอเชิญคุณพ่อคุณแม่พาเจ้าตัวเก่งมาร่วมงานกิจกรรมวันเด็กแบบกันเองๆ ณ โรงพยาบาลยันฮีของเราได้นะครับ...สุขสันต์วันเด็กครับ