chat

โรคไข้อีดำอีแดง


จากข่าวการแพร่ระบาดของ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งจนต้องประกาศหยุดเรียน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนวิตกกังวลว่าบุตรหลานจะได้รับเชื้อดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-15 ปี เป็นกลุ่มหลักในการรับเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ จากการหายใจรดกันหรือสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก นอกจากนี้ สารคัดหลั่งยังสามารถสัมผัสผ่านทางอาหาร อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีการใช้เครื่องใช้ หรือของเล่นร่วมกัน พบได้ในการระบาดของโรคทางอาหารในบริเวณโรงเรียน หรือสถานที่เลี้ยงเด็ก หากบุตรหลานของท่านมีผื่นแดงสากคล้ายกระดาษทรายขึ้นตามลำตัว แขนขา และขาหนีบ ลิ้นบวมแดง ควรนำตัวมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

โรคไข้อีดำอีแดงคืออะไร?
สาเหตุของการเกิดโรคไข้อีดำอีแดง
อาการของโรคไข้อีดำอีแดง
วิธีแยกผื่นและอาการจากไข้อีดำอีแดงจากโรคผิวหนังอื่นๆ
การรักษาโรคไข้อีดำอีแดง
โรคแทรกซ้อนจากไข้อีดำอีแดง
แนวทางการป้องกันโรคไข้อีดำอีแดง
Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘โรคไข้อีดำอีแดง’

โรคไข้อีดำอีแดงคืออะไร?

โรคไข้อีดำอีแดง

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) เชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2-5 วัน สามารถสร้างสารพิษเรียกว่า ‘อิริโทรเจนิกท๊อกซิน’ (Erythrogenic toxin) ซึ่งทำให้เกิดผื่นที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล ทำให้เกิดหนอง หรือมีจุดเลือดออกได้ ต่อมาผื่นจะมีสีเข้มขึ้นบริเวณรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ข้อพับแขน เรียกว่า เส้นพาสเตีย (Pastia’ s line) หลังจากผื่นขึ้น 3-4 วันจะเริ่มจางหายไป หลังจากผื่นจางได้ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกเป็นแผ่นของผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้า ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุยๆ อาการผิวลอกนี้บางรายอาจจะพบติดต่อกันได้นานเป็นเดือน

สาเหตุของการเกิดโรคไข้อีดำอีแดง

หายใจสูดเอา ละอองฝอยของเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดหรือติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงผ่านทางมือผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

โรคไข้อีดำอีแดง
อาการของโรคไข้อีดำอีแดง

มีไข้สูง เป็นอยู่ประมาณ 5-7 วัน ส่วนมากไข้จะลดลงภายใน 1 วัน หากได้รับยาปฏิชีวนะ

โรคไข้อีดำอีแดง

เจ็บคอ แต่มักไม่พบอาการไอจากการติดเชื้อนี้

มีปัญหาในการกลืนอาหาร คลื่นไส้อาเจียน

โรคไข้อีดำอีแดง

หนาวสั่น ปวดศีรษะ

ลิ้นแดงและบวมมากขึ้น ช่วงแรกจะพบว่า ลิ้นจะมีปื้นสีขาวคลุม เมื่อเปรียบเทียบกับต่อมรับรสที่บวมและแดงมากขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆ จะทำให้มีลักษณะเหมือนผลสตรอเบอร์รี่

โรคไข้อีดำอีแดง

คอแดง คออักเสบ ต่อมทอนซิลบวมแดง มีหนองคลุม

ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดท้อง

ความอยากอาหารลดลง อ่อนเพลีย และไม่มีแรง

วิธีแยกผื่นและอาการจากไข้อีดำอีแดงจากโรคผิวหนังอื่นๆ

ผื่นมีลักษณะเหมือนกระดาษทราย เป็นตุ่มเล็กนูนจำนวนมาก บริเวณที่ผื่นขึ้นมีความสาก ส่วนมากขึ้นบริเวณแขนและหน้าอกมากกว่าบริเวณใบหน้า

บริเวณรอบปากซีดลงเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณหน้าผากและแก้มที่แดงมากขึ้น

เมื่อกดที่ตุ่มแดง ผิวบริเวณนั้นจะจางและขาวขึ้น ต่างกับผื่นจากโรคอื่นที่กดแล้วไม่จางลง

พบเส้นสีเข้ม (Pastia) บนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขนทั้งสองข้าง ดูคล้ายบริเวณที่สัมผัสแสงแดด

การรักษาโรคไข้อีดำอีแดง

ใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillin) เช่น อะม็อกซิลลิน (Amoxicillin) เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) หลังทานยา ภายใน 24 ชั่วโมงแรก อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไข้ลดลง ผื่นยุบ ลอก แม้อาการจะดีขึ้น แต่ยังคงต้องทานยาจนครบ 10 วัน

โรคแทรกซ้อนจากไข้อีดำอีแดง

แบคทีเรีย สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ สามารถก่อโรคไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever) เกิดหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว และไตอักเสบได้ แต่พบได้น้อย ทั้งนี้ โรครูห์มาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอง แต่เกิดจากผลของการกำจัดเชื้อแบคทีเรียของร่างกาย

สามารถพบการเกิดโรคไข้อีดำอีแดงภายหลังการมีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ โดยแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนี้ เป็นชนิดเดียวกับการเกิดการติดเชื้อพุพองที่ใบหน้า (Impetigo) อาการจะคล้ายกับการเกิดไข้อีดำอีแดงตามปกติ แต่แทนที่จะเกิดตามหลังอาการเจ็บคอของการติดเชื้อคออักเสบจะพบว่า มีการติดเชื้อที่ผิวหนังโดยเฉพาะรอบ ๆ แผลที่มีอยู่เดิม

หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันซึ่งมักเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ (เกิดจากปฏิกิริยาของแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอต่ออวัยวะต่างๆของร่างกาย)

ฝีรอบทอนซิล (Throat Abscesses)

แนวทางการป้องกันโรคไข้อีดำอีแดง

ควรแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อให้อยู่เฉพาะบริเวณบ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน หรือพบเพื่อน อย่างน้อยในช่วง 24 ชั่วโมงหลังได้รับยาปฏิชีวนะ หลังจากนั้นไข้อีดำอีแดงจะมีการแพร่กระจายเชื้อลดลง

ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะหลังไอ จาม หรือก่อนทานอาหาร

โรคไข้อีดำอีแดง

ควรปิดปากขณะไอ จาม ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน

โรคไข้อีดำอีแดง

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘โรคไข้อีดำอีแดง’

ถาม ตอบ

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงแล้วหรือยัง?

ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ

ถาม ตอบ

การวินิจฉัยหาเชื้อโรคทำได้อย่างไร?

  • ตรวจลำคอ ลิ้น ต่อมน้ำเหลือง และต่อมทอนซิล
  • การเพาะเชื้อ (Throat Swab Culture) โดยใช้ไม้ป้ายลำคอเก็บตัวอย่างเชื้อ นำไปวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจโลหิตหาภูมิต้านทานเชื้อแบคทีเรีย
ถาม ตอบ

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังจากป่วยเป็นไข้อีดำอีแดง?

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ลำคอชุ่มชื้นตลอดเวลาและลดอาการขาดน้ำ
  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อลดอาการเจ็บคอ
  • ทำให้อากาศภายในบริเวณที่อยู่อาศัยชุ่มชื้น เนื่องจากอากาศแห้งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในลำคอซึ่งจะนำมาด้วยอาการเจ็บคอได้
  • เช็ดตัวเพื่อลดไข้หากมีไข้ขึ้น รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการเจ็บคอหรือบรรเทาอาการไข้
  • ห้ามให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 รับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด
แพทย์ผู้เขียนบทความ