chat

โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus : SLE)

โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus : SLE)

13 มิถุนายน 2567 ครบรอบ 32 ปี การเสียชีวิตของราชินีเพลงลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ ‘โรคพุ่มพวง’ เมื่อปี 2535 โรงพยาบาลยันฮีจึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงได้ พร้อมเสนอแนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานของร่างกายที่แข็งแรง

sle

โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus : SLE) หรือ ‘ลูปัส’ เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เกิดการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดงตามผิวหนัง เนื้อเยื่ออักเสบ ไตอักเสบ และเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน ได้แก่ กรรมพันธุ์ อาจมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง, ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น แสงยูวี ความเครียด การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่นๆ การใช้ยาบางตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอาการชัก และยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคนี้ร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear Antibody ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน

sle
sle

อาการของโรคจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงมาก บางรายอาจได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน เช่น ผิวหนัง แต่บางกรณีอาจได้รับผลกระทบทุกส่วน พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุระหว่าง 15-45 ปี เป็นอาการเรื้อรังแต่การกำเริบจะเกิดขึ้นบางช่วงเท่านั้น อาการทั่วไป เช่น ข้อบวม ปวดข้อ มีไข้ ผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณจมูกและแก้ม ผื่นบนใบหน้ามีรูปทรงคล้ายปีกผีเสื้อบริเวณเหนือแก้มทั้งสองข้าง อ่อนแรง ผมร่วง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บชายโครงเวลาหายใจเข้า ไตอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีฟองมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ หากรุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ไวต่อแสงแดด แผลเปื่อยบริเวณจมูกหรือปาก ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ปวด ศีรษะ สับสน ลมชัก กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เยื่อบุรอบปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ ตาแห้ง ปากแห้งเรื้อรัง เป็นต้น

sle

การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค หากอาการไม่รุนแรงอาจใช้ยาช่วยบรรเทาอาการ หากรุนแรงมากมีผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทานเพื่อช่วยควบคุมโรคให้สงบ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังจึงต้องรักษาระยะยาวและต้องทานยาสม่ำเสมอแม้จะเป็นช่วงที่ไม่มีอาการก็ตาม ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพสามารถช่วยป้องกันอาการกำเริบของโรคได้ ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แพทย์ป้องกันการกำเริบของโรคและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ความเครียด โภชนาการ และการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถลดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนได้, พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เนื่องจากรังสียูวีทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้, ออกกำลังกายช่วยคงความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจ, งดสูบบุหรี่เพราะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิต้านทาน ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

หากท่านพบอาการเบื้องต้นที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาและตรวจสุขภาพจากแพทย์แผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลยันฮีได้ในเวลาเปิดทำการ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 1723