chat

โรคอ้วนในวัยเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

โรคอ้วนในวัยเด็ก

โรคอ้วนในวัยเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจกันมากนักเนื่องจากเด็กอ้วนจะถูกมองว่า "น่ารักสมบูรณ์ดี" แต่จนปัจจุบันนี้กว่า 25% ของเด็กจะเป็นเด็กอ้วนและมักจะมีปัญหาด้านจิตใจและสุขภาพร่างกายตามมาในภายหลัง

เมื่อไรที่เรียกว่าเด็กอ้วน

เกณฑ์การตัดสินภาวะอ้วนในเด็กทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต มีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นตลอด

น้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับความสูงนั้นๆ (Weight for Height)ปัจจุบันตัวชี้วัดความอ้วนที่นิยมใช้กันในเด็ก ในประเทศไทยเราถือว่าเด็กอ้วนเมื่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับความสูงนั้นๆ มีค่าเกิน 120% ของปกติ (Ideal body weightor height >120%) ผู้ปกครองสามารถคัดกรองด้วยตนเองง่ายๆ โดยการดูกราฟแสดงการเจริญเติบโตของเด็กไทย

ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองสงสัยว่าลูกจะอ้วนหรือไม่ควรให้กุมารแพทย์เป็นผู้ประเมินเพื่อวินิจฉัยหรือส่งต่อ ให้แพทย์เฉพาะทางประเมิน และรักษาต่อไปเด็ก กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคอ้วน

1.เด็กที่แรกเกิดมีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยกว่าปกติ

2.ประวัติอ้วนในครอบครัว พบว่าเด็กที่มีพ่อหรือแม่อ้วนจะมีโอกาสเป็นเด็กอ้วน เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าเทียบกับเด็กปกติ แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 เท่าถ้าทั้งพ่อและแม่อ้วน

3.เด็กที่มีเริ่มอ้วนตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากขึ้น

4.พบว่าทารกที่กินนมผสมจะมีโอกาสเป็นเด็กอ้วนได้ง่ายกว่าเด็กที่กินแต่นมแม่และเด็กที่กินนมแม่ เป็นระยะเวลานานจะมีโอกาส เป็นเด็กอ้วนได้น้อยกว่าเด็กที่กินนมเพียงระยะเวลาสั้นๆ

สาเหตุของโรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างพลังงานที่บริโภค (EnergyIntake)กับการใช้พลังงาน (Energy Expenditure)

สาเหตุส่งเสริมความอ้วนในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและวัยรุ่นปัจจุบันมาจาก

1.อาหารปัจจุบันที่ประกอบด้วยอาหารที่ทอด หรือมีไขมันสูง โดยเฉพาะ fast food เนื้อสัตว์ที่ทอด

2.เด็กและวัยรุ่นนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่มาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง

3.เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างในการดูโทรทัศน์ เล่นวีดีโอ เกม และเล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะออกกำลังกาย

สาเหตุส่งเสริมความอ้วนในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี

อาจได้รับนมมากเกินไป โดยเฉพาะหากเกิน 30 ออนซ์/วัน มักจะมีภาวะอ้วน

ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นที่อ้วน

1.ผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคม : เด็กที่อ้วนมีปริมาณ ไขมันสะสมในร่างกายมาก มักจะเป็นหนุ่มเป็นสาว เร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกันทำให้เด็กอายเวลาเข้าสังคม

2.ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนทางร่างกาย :

* เด็กและวัยรุ่นที่อ้วนพบมีความผิดปกติของกระดูกและข้อได้ 50-70% คือ ขาโก่ง ทำให้เดินลำบากมีท่าเดินที่ผิดปกติ ปวดขา ปวดสะโพก แก้ไขโดยการลดน้ำหนักและใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน

* คนอ้วนบางรายอาจมีผิวหนังบริเวณคอ, รักแร้, ขาหนีบ ข้อพับ ดำคล้ำ (Acanthosis Nigricans) ซึ่งเกิดจาก ภาวะฮอร์โมนอินสุลินในเลือดสูงทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานโดยเฉพาะเด็ก

* ภาวะไขมันแทรกในตับ (Fattyliver) ภาวะนี้อาจหายได้ เช่นกันเมื่อลดน้ำหนัก

* ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงทำให้พบอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือด และหัวใจมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

* ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในเด็กที่น้ำหนักเกิน 150% ของเด็กวัยและเพศเดียวกัน

* ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

* โรคผิวหนัง ที่พบได้บ่อย คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง

แนวทางการรักษาโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อุปนิสัยการรับประทานอาหาร, กิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่เหมาะสม หรือ เรียกว่า ปรับเปลี่ยน "Lifestyle Modification" จัดกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหวไม่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี เล่นเกมส์ควรใช้คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน

2.การควบคุมอาหาร อาหาร คือ งดดื่มน้ำหวาน, น้ำผลไม้, หรือน้ำอัดลม หรือดื่มน้ำเปล่า ถ้าอยากดื่มน้ำผลไม้ให้เปลี่ยนเป็น เจือจางเท่าตัว หรือกินผลไม้เป็นลูกๆ แทนซึ่งมีประโยชน์มากกว่า

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทอดหรือมีไขมันสูง โดยเฉพาะ fast food เนื้อสัตว์ที่เคยทอด อาจเปลี่ยนวิธีปรุง เป็นต้มแทน ลดไขมันในอาหารสำหรับครอบครัวลง โดยไม่ต้องทำให้อาหารเสียคุณค่าไป วิธีง่ายๆก็คือ รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารประเภทไขมันต่ำ เนื้อเป็ดไก่ที่ไม่มีหนัง, เนื้อวัว, หมู ไม่ติดมัน ธัญพืชชนิดไม่มีไขมัน

3.การออกกำลังกายชนิดแอโรบิค เช่น การว่ายน้ำระยะ ไกล, การเดินเร็ว, การปั่นจักรยาน เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน ต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที

4.จุดมุ่งหมายในการป้องกัน และรักษาโรคอ้วนในเด็ก ไม่ใช่การลดน้ำหนัก แต่เป็นการทำให้เด็กมีการเจริญเติบโต อย่างเหมาะสมตามวัย โดยการดูแลให้มีอัตราการเพิ่มน้ำหนักและความสูงที่สมดุลกัน เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ มีสุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไปร่วมมือกันทั้งบ้าน ในการลดความอ้วนของลูก คนทั้งบ้านต้องมานั่งร่วมกัน ปรึกษาหารือกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทานประจำ น้ำดื่มต่างๆ รวมทั้งขนมขบเคี้ยวควรงดนำเข้าบ้าน ให้กำลังใจแต่ไม่ควรห้ามลูกทานอาหารให้ลูกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ให้ลูกได้อิ่มท้องตลอดเวลา ให้ชั่งน้ำหนักตัวลูกทุกเช้า และให้กำลังใจเพื่อให้ชนะโรคอ้วนให้ได้

บทความโดย: พญ.วิจิตร อิสริยวุฒิ แพทย์ประจำศูนย์กุมารเวช