chat

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก


‘กุมภาพันธ์’ เดือนแห่งความรักและวันวาเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึง หลายคนคงคำนึงแต่ความสุข ความสัมพันธ์กับคู่ครองหรือคนที่กำลังคบหาดูใจกันอยู่ จนละเลยโรคภัยที่มาพร้อมกับเพศสัมพันธ์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ ฝีมะม่วง เอดส์ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย รักเดียวใจเดียวไม่เลี่ยนคู่นอนบ่อย รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือ ‘กามโรค’ หากพบอาการผิดปกติและสงสัยว่าจะเป็นโรคภัยในเดือนแห่งความรักให้มาพบแพทย์และรักษาได้ที่โรงพยาบาลยันฮี

หนองใน (Gonorrhea)

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรับเชื้อได้ผ่านทางอวัยวะเพศ ทวารหนักและปาก จำแนกได้ออกเป็น ‘หนองในแท้’ และ ‘หนองในเทียม’ สำหรับหนองในแท้ ผู้ป่วยชายจะปัสสาวะแสบขัด มีหนองข้นไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ ขณะที่ผู้ป่วยหญิงอาจจะไม่ปรากฏอาการหรือมีอาการน้อย เช่น ตกขาว ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ ท่อรังไข่ตีบตัน ท่ออสุจิตีบตัน ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นหมัน ผื่นขึ้นตามลำตัวและเยื่อบุ ปวดตามข้อ ฯลฯ สำหรับหนองในเทียม ผู้ป่วยจะปัสสาวะแสบขัด มีหนองใสไหลออกจากปลายท่อปัสสาวะ บางรายอาจไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รักษา โรคจะลุกลามเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในลักษณะเดียวกับโรคหนองในแท้ และโรคนี้สามารถส่งต่อเชื้อแบคทีเรียไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้อีกด้วย

เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

โรคเริมเป็นผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HSV (Herpes Simplex Virus) สามารถติดเชื้อได้หลายทางรวมถึงผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทั้งทางช่องคลอดและทวารหนัก ใครก็ตามที่ได้รับเชื้อโรคชนิดนี้อาจส่งผลให้เชื้ออยู่ในร่างกายตลอดชีวิต ผู้ป่วยมักมีรอยถลอกของผิวหนังหรือเยื่อบุอ่อนบริเวณใกล้เคียง เกิดตุ่มใสที่อวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียง ทำให้ปัสสาวะแสบขัด มักแสดงอาการเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันตก ทั้งนี้ ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ สามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตรได้อีกด้วย

โลน (Pubic lice)

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

เป็นปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศ บางครั้งก็พบในขนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขนขา รักแร้ หนวด เครา ขนตา คิ้ว เป็นต้น ตัวโลนอาศัยอยู่บนร่างกายมนุษย์ด้วยการดูดเลือดมนุษย์เป็นอาหาร และเนื่องจากโลนไม่สามารถกระโดดหรือบินได้จึงแพร่กระจายด้วยการสัมผัสโดยตรง หรือผ่านผ้าที่ใช้ร่วมกันเช่นผ้าเช็ดตัวหรือผ้าปูเตียง

ซิฟิลิส (Syphilis)

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย สามารถติดเชื้อได้ทาง บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปาก และริมฝีปาก ระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศ เป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ ถ้าไม่ได้รักษา แผลจะหายได้เอง แต่โรคจะดำเนินต่อไป มีผื่นขึ้นตามลำตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก ผมร่วง ปวดข้อ ถ้ายังไม่ได้รักษาอีก โรคจะเข้าสู่ระยะสงบ ไม่มีอาการ ทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น หลายปีต่อมาจะเข้าสู่ระยะสุดท้าย มีผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตในที่สุด ในเพศหญิงสามารถส่งต่อเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)

เกิดจาก เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง มีสาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสเลือด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อได้จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า ‘พาหะ’ มักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเท่านั้น สามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสเลือด เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกรณีใช้ยาเสพติด การสัก การบริจาคโลหิต จากแม่สู่ลูก เป็นต้น

ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีที่สามารถพบได้ในสารคัดหลั่งจำพวกเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด น้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ ฯลฯ ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีโดยไม่ป้องกัน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่านแผลเปิด หรือรับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อทั้งขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมทารก เชื้อเอชไอวีจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อและเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จำนวนเม็ดเลือดขาวและประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคจะเสื่อมถอย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นและเกิดโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิต

โรคหูดหงอนไก่

โรคภัยในเดือนแห่งความรัก

เกิดจากเชื้อ Human Papillomavirus: HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ระยะฟักตัวประมาณ 1-6 เดือน สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เกิดติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำปลีขึ้นอย่างชัดเจนในบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณง่ามขา หรืออาจพบรอยโรคในหลายๆ ตำแหน่งได้

แผลริมอ่อน (Chancroid)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus ducreyi มีระยะฟักตัวระหว่าง 4-7 วัน ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน อาการของผู้ชายจะมีตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศ ต่อมาแตกเป็นแผล แผลขอบไม่แข็ง ไม่เรียบ มีเลือดอออกเจ็บปวดมาก ส่วนอาการของผู้หญิงคล้ายกับผู้ชาย แต่ถ้าแผลอยู่ที่ผนังช่องคลอดหรือปากมดลูกอาจไม่ปรากฏอาการ หรือเจ็บปวดเวลาร่วมเพศ

พยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis)

เกิดจากเชื้อ Trichomonas vaginalis มีระยะฟักตัว ระหว่าง 1 -6 เดือน อาการในผู้หญิงจะตกขาวผิดปกติ สีเข้ม มีกลิ่นเหม็น มีฟองมากและคัน แสบปากช่องคลอด ส่วนอาการในผู้ชาย มักมีของเหลวเป็นเมือกใสหรือปนหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ คันหรือเจ็บในท่อปัสสาวะ

มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เกิดจากเชื้อฮิวแมนแป๊ปปิโลม่าไวรัส (Human papilloma virus = HPV) ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาการที่ปรากฏ ได้แก่ มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากหมดประจำเดือนไปนานแล้ว ตกขาวมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น ปวดท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน เป็นต้น จึงควรตรวจคัดกรองเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะปรากฏอาการ เป็นการตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งและมะเร็งระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ รวมถึงรักษามะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างได้ผล ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหลายวิธี แต่ที่นิยม ได้แก่ การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา หรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear)

ไม่ว่าจะเป็นวันแห่งความรัก เดือนแห่งความรัก หรือวันไหน ๆ ก็ตาม ทุกคนควรป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสวมถุงยางอนามัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย รักษาสุขอนามัยของอวัยเพศตนเอง ตรวจสุขภาพร่างกายและตรวจเลือดทั้งตัวเองและคู่สมรส หรือกรณีก่อนแต่งงานและจดทะเบียนสมรสก็ควรจูงมือกันมาตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สู่คู่ครองหรือคนรอบข้าง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและรักษาสุขภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ของตัวเองต่อไป

แพทย์ผู้เขียนบทความ