chat

โรคที่มากับน้ำท่วม

flood-1200

สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ และกระแสน้ำกำลังไหลหลาก ลงมายังลุ่มน้ำทางภาคกลาง ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยต่างได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม  นอก เหนือจากความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สินและอาคารบ้านเรือนแล้ว  โรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับกระแสน้ำก็เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนไม่ควรมองข้ามสุขอนามัยของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต, โรคตาแดง, โรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส เป็นต้น โดยทุกโรค สามารถมาตรวจรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลยันฮีได้

โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต
โรคที่มากับน้ำท่วม

มีอาการคันตามซอกนิ้วเท้าจากเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes หลังจากเท้าเปียกชื้นแช่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ผิวหนังลอกออกเป็นขุย ๆ เป็นผื่นที่เท้า สามารถลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้ เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้นช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ ถ้าจำเป็นจะต้องเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำควรสวมรองเท้าบูท

กรณีที่ติดเชื้อรุนแรง บวมและปวดมาก ในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ กรณีที่เป็นการติดเชื้อราจะต้องทายาต่อเนื่องไปอีก 2-4 สัปดาห์หลังจากที่รอยโรคหายเป็นปกติแล้ว ส่วนของยารับประทานต้านเชื้อราซึ่งมีผลข้างเคียงต่อตับจะพิจารณาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย หรือมีการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณอื่นเป็นบริเวณกว้างร่วมด้วย

โรคตาแดง (Conjunctivitis)
โรคที่มากับน้ำท่วม

เป็นโรคติดเชื้อที่เยื่อบุตา เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่ที่พบส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไวรัส adenovirus ติดต่อกันได้ง่ายมาก เช่น สัมผัสกับขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือหรือสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส จากการใช้สิ่งของร่วมกัน และจากการหายใจหรือไอจามรดกัน ฯลฯ ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ถ้าไม่รีบรักษาอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น กระจกตาดำอักเสบ ฯลฯ หลังได้รับเชื้อ 1-2 วัน เริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง เมื่อตาโดนน้ำสกปรก ควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที ไม่ขยี้ตา และไปพบจักษุแพทย์

โรคฉี่หนู (Leptospirosis)
โรคที่มากับน้ำท่วม

เกิดจากเชื้อ Leptospira เชื้อนี้สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด  แต่พบมากในหนู โดยเชื้อโรคจะออกมากับฉี่ของหนูและปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ สามารถเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง หลังจากได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ย 10 วันผู้ป่วยก็จะเกิดอาการปวดศีรษะ บางคนมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจทำให้ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย เซื่องซึมเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้ เราสามารถป้องกันได้โดยสวมถุงมือก่อนการสัมผัสกับสัตว์, หลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งน้ำขัง รวมถึงสวมใส่รองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ

โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
โรคที่มากับน้ำท่วม

ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ บิด เป็นต้น เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป มีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ถ่ายบ่อย ๆ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือ อาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดด้วย แนวทางการป้องกันควรทานอาหารที่ปรุงสุกถูกสุขอนามัย กรณีได้รับถุงยังชีพต้องพิจารณาอ่านฉลากอาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม, ดื่มน้ำสะอาดจากขวดที่ฝาปิดสนิทหรือน้ำต้มสุก, ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ กรณีน้ำท่วมสูง  ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ถ้าส้วมใช้ไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงขยะ

โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคที่มากับน้ำท่วม

เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ฯลฯ เป็นโรคที่ติดต่อไม่อันตรายเกิดจากเชื้อไวรัส ก่อโรคในบุคคลทุกเพศทุกวัย ติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เชื้อโรคแพร่กระจายทางนํ้ามูก นํ้าลาย เสมหะ มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ คัดจมูก นํ้ามูกไหล ไอจาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้อื่น เมื่อไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน เจ็บคอ ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก ควรไปพบหรือปรึกษาแพทย์

สำหรับ ‘โรคปอดบวม’ เกิดจากเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ทําให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยนํ้าท่วม หากสําลักนํ้าท่วมขังเข้าไปในปอดย่อมมีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้ ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยเมื่อ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาการมีไข้สูง ไอเรื้อรัง หายใจหอบและเร็ว หากไม่รีบรักษาอาจมีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เกิดหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด และมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวาย และเสียชีวิตได้