chat

โรคครูป


ในช่วงหน้าฝนที่อากาศเปียกชื้นแบบนี้ นอกเหนือจากการระบาดของโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 แล้ว ยังมีโรคครูป (Croup) ที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นชื่อ มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก แม้ไม่เป็นอันตรายรุนแรงและสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่หากพักรักษาตัวที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วันหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที

‘โรคครูป’ คืออะไร?
อาการของโรคครูป
สาเหตุของโรคครูป
แนวทางการวินิจฉัยโรคครูป
แนวทางการรักษาโรคครูป
แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคครูป
Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับโรคครูป

โรคครูป คืออะไร?

โรคครูป

โรคครูป (Croup) หรือภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนที่พบมากในเด็ก และมักเกิดในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยจะหายใจติดขัดและไอแบบมีเสียงก้อง เกิดจากการบวมของกล่องเสียงและหลอดลม ไม่ทำให้เกิดภาวะรุนแรง ส่วนใหญ่พักรักษาตัวได้ที่บ้าน

อาการของโรคครูป

ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นประมาณ 3-5 วัน อาการคล้ายเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ และอาการอื่น ๆ เช่น ไอแบบมีเสียงก้อง พบแผ่นฝ้าขาวในลำคอ เกิดจากการอักเสบและไอมากขึ้น มักมีอาการในตอนกลางคืน ตาแดง เสียงแหบ ต่อมน้ำเหลืองบวม และหายใจลำบาก

โรคครูป

ในเด็กที่มีอาการรุนแรง เด็กจะหอบเหนื่อย อกบุ๋ม คอบริเวณไหปลาร้ามีลักษณะบุ๋มเวลาหายใจเข้า ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน และหายใจจมูกบาน หากปรากฏอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ เริ่มมีน้ำลายไหลหรือกลืนลำบาก จมูก ปาก หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือม่วงจากภาวะหายใจลำบาก มีอาการคล้ายภาวะขาดน้ำ เช่น ลิ้นหรือปากแห้ง ไม่ปัสสาวะ เป็นต้น

เครดิตช่อง : Medzcool

สาเหตุของโรคครูป

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา บ่อยมากที่สุด นอกจากนั้น ได้แก่ ไวรัสอาร์เอสวี ไวรัสหัด และไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นต้น จากการหายใจสูดละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป หรือจากการสัมผัสกับพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ เมื่อมีการติดเชื้อจะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณกล่องเสียงลงไปจนถึงบริเวณหลอดลมส่วนต้น ส่งผลให้หลอดลมบวม ตีบแคบ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ หายใจเอาสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองเข้าไป ภาวะกรดไหลย้อน เป็นต้น

แนวทางการวินิจฉัยโรคครูป

ประเมินสัญญาณชีพ ระดับออกซิเจน ลักษณะการหายใจว่ามีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่

สังเกตการหายใจและฟังเสียงบริเวณหน้าอกด้วยหูฟังแพทย์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น หายใจเข้าและออกลำบาก หายใจมีเสียง เสียงหายใจเบาลง เป็นต้น

ตรวจในลำคอว่ามีอาการบวมแดงของฝาปิดกล่องเสียงหรือเปล่า

เอกซเรย์บริเวณคอเพื่อตรวจสอบการตีบแคบของหลอดลม

แนวทางการรักษาโรคครูป

ใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดรับประทานหรือชนิดพ่น เพื่อลดการอักเสบในทางเดินหายใจ

ฉีดยาเดกซาเมทา หรือพ่นยาเอพิเนฟรีน เพื่อลดการอักเสบของทางเดินหายใจ

กรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้เด็กรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางรายอาจให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ

แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคครูป

ใช้ไอน้ำลดอาการบวม หากมีเครื่องสร้างไอน้ำในบ้านให้เปิดไว้เพิ่มความชื้นในอากาศช่วยลดอาการไอ แต่ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยใด ๆ เพราะอาจทำให้ระคายเคือง

โรคครูป

ให้ดื่มน้ำอุ่น ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

โรคครูป

ให้นอนหมอนสูงช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น

โรคครูป

หากมีไข้สามารถทานยาลดไข้อย่างยาพาราเซตามอลได้ แต่ให้เลี่ยงการใช้ยาแก้หวัดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ"โรคครูป"

ถาม ตอบ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคครูป?

บางรายอาจมีความเสี่ยงทางเดินหายใจบวมจนส่งผลกระทบต่อการหายใจ บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อบริเวณฝากล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงบวม หากการปิดกั้นของกล่องเสียงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจอย่างรุนแรง หรืออาจหยุดหายใจได้

ถาม ตอบ

แนวทางการป้องกันโรคครูป?

- ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

- สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการไอจามรดกัน

- ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคครูปได้ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม