chat

โนโรไวรัสกับอาการท้องเสียในเด็ก


‘โนโรไวรัส’ เป็นสาเหตุการระบาดของการติดเชื้ออุจจาระร่วง ท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เกิดจากการทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน ผู้ป่วยเด็กมีอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ โดยอาการจะเกิดขึ้นฉับพลันใน 24-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ เป็นผลให้เกิดภาวะขาดน้ำจนต้องเข้าโรงพยาบาล

โนโรไวรัสคืออะไร?
อาการหลังติดเชื้อโนโรไวรัส
การตรวจวินิจฉัย
แนวทางป้องกันโนโรไวรัส
Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘โรคโนโรไวรัส’

โนโรไวรัสคืออะไร?

โนโรไวรัส (Norovirus) หรือชื่อเดิมว่า Norwalk virus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมันและน้ำตาลของลำไส้เล็ก ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี รวมถึงแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้

โนโรไวรัส

ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม รวมไปถึงการปนเปื้อนที่ภาชนะ เช่น จาน ชาม ช้อน เป็นต้น จึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย เนื่องจากใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ ไวรัสนี้พบระบาดได้มากในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักระบาดในหมู่เด็กเล็ก เด็กโต (ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และเด็กอาจมีอาการรุนแรง)

อาการหลังติดเชื้อโนโรไวรัส

ถ่ายเหลว ท้องเสียฉับพลัน

ปวดท้อง หรือปวดเกร็งที่หน้าท้อง

คลื่นไส้ อาเจียน

ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อตามร่างกาย และอ่อนเพลีย

มีชีพจรเบาเร็วและมีความดันโลหิตต่ำ

การตรวจวินิจฉัย

ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัสโดยเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ หากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดีอาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน

โนโรไวรัส

แต่หากเด็กขาดน้ำอาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด หรือได้รับสารละลายเกลือแร่ทางปาก 30-90 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้ดื่มครั้งละน้อยๆในเวลา 3-4 ชั่วโมง เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ครั้งละ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกครั้งที่อาเจียนหรือถ่ายเหลว อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องรับยาปฏิชีวนะ ยกเว้นผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง

ให้ยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้อง กรณีเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้

แนวทางป้องกันโนโวไวรัส

ล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนรับประทานอาหาร ล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทาน

ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ-ห้องสุขา

ดื่มน้ำที่สะอาดผ่านการกรองหรือต้มสุก

รับประทานอาหารที่สุก สะอาด สดใหม่ และใช้ช้อนกลาง

หลีกเลี่ยงการสัมผัสข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

ซักผ้าให้สะอาดด้วยผงซักฟอก และอบแห้งโดยใช้ความร้อน

ใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสโดยเฉพาะบริเวณห้องครัว ห้องน้ำ ห้องสุขา

ไม่สัมผัสอุจจาระ ปัสสาวะของผู้ป่วย และผู้ป่วยต้องงดประกอบอาหารป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น เพราะเชื้อโนโรไวรัสสามารถอยู่ในอุจจาระได้นานถึง 2 สัปดาห์ แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม

เด็กป่วยควรงดไปโรงเรียน

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘โรคโนโรไวรัส’

ถาม ตอบ

เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สามารถติดต่อกันได้อย่างไร?

  • การปนเปื้อนของเชื้อโนโรไวรัสในอาหาร และน้ำดื่ม
  • การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง
  • การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส
  • แพร่กระจายติดต่อกันผ่านลมหายใจ และทางอากาศ เช่นการหายใจร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส
ถาม ตอบ

สารเคมีอะไรที่ใช้ฆ่าเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ได้?

สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้จะอยู่ในจำพวก ฟอร์มาลิน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ คลอรอกซ์ และ ไฮเตอร์ อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวจะมีกลิ่นเหม็นมากจึงใช้ยาก นอกจากใช้ล้างห้องน้ำ

แพทย์ผู้เขียนบทความ