chat

แสงสีฟ้า..จากสมาร์ทโฟน อันตรายไม่น้อย

ติดจอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของหลาย ๆ คนไปเรียบร้อยแล้ว มีผลสำรวจจาก Smartphone User Persona Report (SUPR) พบว่าคนไทยใช้เวลาประมาณ 160 นาที/ต่อวัน จ้องดูหน้าจอสมาร์ทโฟนแน่นอนว่าการใช้สายตาในระยะเวลานานอาจทำให้มีอาการปวดตาได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ แสงสีฟ้าซึ่งเป็นคลื่นแสงพลังงานสูงและมีส่วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ที่สามารถทำลายเซลล์จอประสาทตาได้ หากจ้องเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม อาการของการได้รับแสงสีฟ้าในอัตราที่เริ่มก่อให้เกิดอันตราย คือ ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อนกัน แสบตา ตาแห้ง มึนงง ปวดกระบอกตา เป็นต้น ซึ่งวิธีการป้องกันอันตรายจากแสงสีฟ้ามีดังนี้

  • ความสว่างของหน้าจอ ควรปรับให้มีความพอดีกับสายตาไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป เพื่อให้รู้สึกสบายตาเวลาใช้งาน
  • ติดฟิล์มกรองแสงสีฟ้า ฟิล์มกรองแสงจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ลดการแพร่กระจายของแสงเข้าสู่สายตาได้ในระดับหนึ่ง
  • จำกัดเวลาอยู่หน้าจอ ควรกำหนดเวลาการเล่นโทรศัพท์ไม่ให้จ้องนานเกิน 2 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้ดวงตาอ่อนล้าได้
  • การกะพริบตาบ่อย ๆ หากเกิดอาการปวดตาหรือตาแห้งให้กะพริบตาถี่ ๆ วิธีนี้จะช่วยลดความอ่อนล้าของสายตาได้มาก
  • ทานอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินเอมีส่วนในการช่วยบำรุงสายตา พบมากในสัตว์เช่น ไข่ไก่ ตับ น้ำมันตับปลา เนื้อวัว และผักผลไม้ เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุก ผักกาดขาว

เมื่อรู้ถึงวิธีป้องกันตัวเองและอันตรายของแสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟนแล้ว ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ให้พอดีเพื่อสุขภาพและดวงตาของตัวคุณเองนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์จักษุ รพ.ยันฮี