chat

เตรียมตัวลูกให้พร้อมก่อนออกไปร่วมงานวันเด็ก ตอน “การดูแลบาดแผล!!”





• แผลฟกซ้ำ เป็นแผลที่เกิดได้จากการถูกของแข็งหนีบ, การกระทบกระแทก จะไม่มีบาดแผลฉีกขาดหรือเลือดออกให้เห็นจากภายนอก แต่มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง และหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ทำให้เลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง ลักษณะที่เห็นชัดคือเป็นรอยช้ำ บวม และสีผิวเปลี่ยนไป (สีม่วงแดง)


วิธีดูแล ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเป็นระยะ ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการห้ามเลือดหลังจาก 24 ชั่วโมงต่อมา ประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อลดอาการช้ำ บวม ไม่ควรคลึง ขยี้ หรือนวดด้วยความร้อน เช่น ยาหม่อง ยาแก้เคล็ดขัดยอก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น


• แผลถลอก เกิดจากการที่ผิวหนังชั้นนอกเสียดสีกับพื้นผิวที่ขรุขระ เช่น การหกล้ม สะดุด ลื่นล้ม เป็นต้น และมักเป็นแผลถลอกแบบตื้น มีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย บางครั้งก็มีน้ำใส ๆ เหนียว ๆ ออกมา และมักมีฝุ่นผงหรือสิ่งสกปรกเล็ก ๆ ติดมาด้วย เป็นแผลที่มีโอกาสติดเชื้อ อักเสบได้


วิธีดูแล ห้ามเลือดโดยการใช้สำลีหรือผ้าสะอาดกดที่บริเวณแผลเบา ๆ ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและกำจัดเศษสิ่งสกปรกออกให้หมด ถ้าแผลสกปรกมาก ควรเช็ดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วใส่เบตาดีนทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่ถลอก แต่ถ้าแผลที่ถลอกเป็นรอยลึก อาจใช้ผ้ากอซปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกการติดเชื้อ


• แผลถูกบาด ลักษณะของแผลที่ถูกบาด แบ่งได้หลายลักษณะตามวัตถุ สิ่งของ เช่น มีด เศษแก้ว โลหะ รวมถึงของแหลมมีคมที่แทงเนื้อเยื่อ เช่น เข็มหมุด ตะปู ของปลายแหลม ทั้งนี้หลักการเบื้องต้นในการดูแลแผลที่ถูกบาด เน้นการป้องกันการติดเชื้อเหมือนกัน


วิธีดูแล ใช้ผ้าสะอาดกดที่แผล เพื่อห้ามเลือด ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่ให้ใช้ผ้าพับหลายชั้น ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และใช้ผ้าสะอาดปิดแผล ถ้าหลังการทำแผลมีลักษณะบวม แดง และมีกลิ่น ควรรีบพบคุณหมอ


• แผลปากแตก ฟันโยก เกิดได้ทั้งจากการหกล้ม วิ่งชนของแข็ง ตกจากที่สูง ฯลฯ ทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปาก และส่งผลให้ฟันหน้าลูกโยกเล็กน้อย หรือมีเลือดออกซึม ๆ จากขอบเหงือกรอบฟันหน้า


วิธีดูแล ใช้ผ้าสะอาดซับเลือดให้หยุด และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด กินอาหารอ่อน ๆ และเลี่ยงการใช้ฟันซี่นั้น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถ้าฟันบิ่นหรือหัก (มีลักษณะเป็นรอยแหลมคม) ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อกรอฟันลบความแหลมคม แต่ถ้าบิ่นมาก ก็สามารถอุดเติมให้เต็มซี่ฟันเหมือนเดิม เพราะถ้าไม่อุดอาจทำให้ฟันซี่นั้นผุได้ง่าย


• แผลที่ศีรษะ หลังจากที่ศีรษะกระแทกกับของแข็งเส้นเลือดจะมารวมตัวอยู่มากบริเวณที่ถูกกระแทก เห็นเป็นลักษณะปูด พูดติดปากเรียกว่า หัวปูด หัวโน


วิธีดูแล ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวม เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ลดอาการเจ็บ (ไม่ควรใช้น้ำอุ่นประคบจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว ยิ่งทำให้แผลบวมมากขึ้น) ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าลูกมีอาการซึม ร้องกวน ไม่รับประทานอาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาคุณหมอโดยด่วน


• ผิวลูกไหม้แดด (Sunburn) ช่วงนี้อากาศเย็น ถึงจะไม่แดดแล้ว ในแสงแดดยังมีรังสีอัลตราไวโอเลตอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้


วิธีดูแล โดยการให้เด็ก ๆ สวมเสื้อแขนยาว ขายาว สีอ่อน กางร่ม และทาครีมกันแดด ควรให้ลูกสวมแว่นกันแดดด้วย หากต้องทำกิจกรรมกลางแดดนานๆ หากพบว่าหลังจากตากแดด ลูกมีผิวหนังแดงไหม้แบบเฉียบพลัน หรือผิวไหม้แดด ซึ่งจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่โดนแดด ตำแหน่งของผิวหนัง แนะนำเข้าอยู่ที่ร่ม ใช้ผ้าหรือน้ำแข็งประคบเย็นเบื้องต้น และไปพบแพทย์

บทความดัดแปลงบางส่วนจาก http://th.babimild.com