chat

อ้วนลงพุง…ฆาตกรเงียบที่คุณคาดไม่ถึง

อ้วนลงพุง

เอ้า อย่าเพิ่งนึกขำ ทราบหรือไม่ว่า ผลสำรวจล่าสุดพบคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปมีภาวะอ้วนลงพุงกว่า 9 ล้านคน ตอนนี้ก็เลยต้องมีการออกมารณรงค์กันยกใหญ่เพื่อให้คนไทยไร้พุง ไม่ใช่ว่ากลัวพุงหลามแล้วจะไม่หล่อไม่สวย หากแต่คนที่อ้วนลงพุงเนื่องจากมีไขมันสะสมในช่องท้องมากกว่าปกติ จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณสะโพกและแขนขา พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าเทียบคนอ้วนสองคนที่มีน้ำหนักตัวหรือมีไขมันในร่างกายเท่ากัน คนอ้วนที่มีไขมันที่พุงมากจะเกิดโรคทางกายได้มากกว่าคนอ้วนที่มีไขมันสะสมที่ส่วนอื่นของร่างกาย

ทำไมการมีไขมันสะสมบริเวณพุงมาก ๆ จึงเป็นอันตรายกว่าการมีไขมันสะสมที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ข้อนี้คงมีหลายท่านอยากรู้คำตอบใช่มั้ยล่ะ

เหตุผลก็เป็นเพราะว่าไขมันในช่องท้องสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระได้ง่ายและเข้าสู่ตับโดยตรง ในขณะที่ไขมันบริเวณสะโพกและแขนขาจะสลายตัวได้น้อยกว่า แถมยังเข้าสู่กระแสเลือดตามแขนขาก่อนจะเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายของคนเรา การที่กรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับได้โดยตรงดังกล่าว จะส่งผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน (โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ซ.ม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า) นอกจากนั้นยังเพิ่มแนวโน้มเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อาทิ โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ เป็นต้น

ดังนั้นยิ่งพุงใหญ่เท่าใดโอกาสอายุสั้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะสารพัดโรคพร้อมจะมาเยี่ยมเยียน ใครที่แบกไขมันส่วนเกินที่ท้องเอาไว้จำนวนมาก พึงสังวรไว้

แล้วเราจะรู้ได้ยังว่าเราอ้วนลงพุงหรือไม่?

อันนี้ไม่ยาก แค่วัด เส้นรอบเอว (Waist circumference) ดูว่าเกินเกณฑ์หรือไม่ ว่ากันเฉพาะคนเอเชีย (ฝรั่งไม่เกี่ยว) ถ้าผู้ชายมีเส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว (90 ซ.ม.) และผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้ว  (80 ซ.ม.) ถือว่ามีภาวะอ้วนลงพุง

สำหรับท่านที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็อย่าเพิ่งหลงดีใจไป เพราะถึงจะมีค่าดัชนีมวลกายปกติ แต่ถ้าเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคทางกายมากกว่ากลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินแต่เส้นรอบเอวไม่เกิน

ทีนี้มาดูการวัดเส้นรอบเอวบ้าง วิธีการวัดก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ให้ใช้สายเมตรธรรมดาทั่ว ๆ ไปนี่ล่ะ การวัดควรทำในท่ายืน เท้าแยกห่างจากกันประมาณ 1 ฟุต วัดรอบเอวระดับกึ่งกลางกระดูกสะโพกส่วนบนสุดและขอบล่างของกระดูกซี่โครงโดยให้สายขนานกับพื้น อย่าให้สายรัดแน่นจนเกินไป และควรวัดขณะที่หายใจออกเท่านั้น (ห้ามแอบแขม่วพุงเด็ดขาด) ถ้าวัดได้เส้นรอบเอวมากกว่าเกณฑ์ที่บอกไปในตอนต้น ก็แสดงว่าคุณมีภาวะอ้วนลงพุงแล้ว

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วถ้าได้ลองวัดรอบเอวดู คงรู้กันแล้วว่า คุณมีภาวะอ้วนลงพุงหรือไม่ ถ้ามีก็อย่าสบายใจปล่อยให้พุงโตไปเรื่อย ๆ  ควรหาทางลดพุงของตัวเองลงโดยเร็ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ในการควบคุมอาหารควรเน้นหนักไปทางผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัด หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน โปรตีนควรเป็นโปรตีนจากเนื้อปลา และถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ส่วนโปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ติดมัน ส่วนการออกกำลังกาย ควรหาเวลาในการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้มีการเผาผลาญพลังงานออกไป ซึ่งการออกกำลังกายสามารถทำได้ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง นี่แค่คำแนะนำอย่างย่นย่อ ถ้าอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะเห็นผล  อาจลองค้นหาจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมดูได้ แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคุณ  

ส่วนคนที่พุงยังไม่ใหญ่เกินเกณฑ์ ก็อย่านิ่งนอนใจ ป้องกันเอาไว้ก่อนดีกว่า จะกินอะไรก็คิดหน้าคิดหลังให้ดีอย่าตามใจปากพร่ำเพรื่อ และหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะอ้วนลงพุงได้

ภาวะอ้วนลงพุง หรือการมีไขมันในช่องท้องมากเกินไป อาจเป็นฆาตกรเงียบที่คุณคาดไม่ถึง ยังไงก็อย่าประมาท...หมั่นวัดรอบเอวเพื่อวัดปริมาณไขมันในช่องท้องดูบ้าง ถ้าเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็หาทางรีดไขมันตามวิธีที่แนะนำไป