chat

“ส่องกล้องผ่าตัดไส้เลื่อน”…แผลเล็ก ลดเจ็บ ฟื้นตัวเร็ว


ส่วนใหญ่เรามักจะเข้าใจกันว่า ไส้เลื่อน เป็นโรคที่เกิดกับผู้ชายเพียงเท่านั้น ความเป็นจริงผู้หญิงสามารถเป็นไส้เลื่อนได้เหมือนกัน และสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับไส้เลื่อน

เรามักจะเคยได้ยินคำพูดที่พูดต่อ ๆ กันมาว่า "ไม่ใส่กางเกงใน ระวังจะเป็นไส้เลื่อน" แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไส้เลื่อนไม่ได้เกิดจากการที่ไม่ได้ใส่กางเกงใน เพราะไส้เลื่อนเกิดจากเยื่อบุช่องท้องที่มีหน้าทีพยุงลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ มีความผิดปกติหรืออ่อนแอจึงทำให้ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้อง

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไส้เลื่อน

นอกจากคนที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (เยื่อบุช่องท้องและกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ) แล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไส้เลื่อน อาทิ ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ผู้ป่วยไอเรื้อรัง (จากการสูบบุหรี่) คนตั้งครรภ์ (มีแรงดันในช่องท้อง) ผู้ที่เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระบ่อย ๆ แรง ๆ (ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย) รวมถึงพฤติกรรมยกของหนัก ๆ ออกแรงมาก ๆ เป็นต้น

ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องดียังไง

นอกจากการผ่าตัดไส้เลื่อนทางหน้าท้องแล้ว ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ยังมีการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ซึ่งสามารถรักษาในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดไม่ใหญ่มากและไส้เลื่อนมายังขาหนีบทั้ง 2 ข้าง หรือในกรณีที่ไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำ การผ่าตัดแบบส่องกล้องนี้เป็นการเปิดแผลประมาณ 1.5 เซนติเมตร (แผลแรก) และ 0.5 เซนติเมตร (แผลที่2) โดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะใช้ตาข่ายสังเคราะห์มาปิดโพรงไส้เลื่อน ซึ่งร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาห่อหุ้มตาข่ายจนสมานเข้ากับเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องคือ แผลเล็ก บาดเจ็บน้อย ลดอัตราการเป็นซ้ำ ลดอาการแทรกซ้อน ฟื้นตัวได้เร็วกว่าในรายที่ผ่าตัดทางหน้าท้อง

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักโภชนาการที่ถูกต้อง และการออกกำลังกาย รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น การยกของหนัก เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรง ๆ เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจสุขภาพประจำปีสามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคไส้เลื่อนได้

ส่องกล้องผ่าตัดไส้เลื่อน-04