chat

สุขชั่วข้ามคืน ทำไม? ยังเสี่ยงโรคร้ายทั้งที่มีเซ็กซ์แบบปลอดภัย


คุณรู้จัก HPV ดีพอหรือยัง

ไวรัสตัวร้าย แอบมาสิงสู่แบบเงียบ ๆ แต่พิษสงเพียบ

ชื่อเดียว แต่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ จึงทำให้ติดต่อกันได้ง่ายจากหลายทิศทาง สาเหตุหลักมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนักหรือทางปาก ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากถึง 40 ชนิด ไวรัสตัวนี้เป็นต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดย 70% เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งทางนรีเวชที่พบสถิติการเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม เชื้อที่มาจากผู้ชาย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิง ติดเชื้อกันแบบเงียบ ๆ นิ่ง ๆ ไม่แสดงอาการ รู้ตัวอีกทีกลายเป็นมะเร็ง โรคร้ายทำลายชีวิต คุ้มไหม ถ้าจริง ๆ แล้ว เราสามารถป้องกันไวรัส HPV ได้ตั้งแต่ยังไม่ใช้ นางสาว

แม้ว่าเราจะมีเพศสัมพันธ์เพียง 1 ครั้ง หรือมี 1 คู่นอนก็ตาม เราก็ยังเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ได้อยู่ดี ความเสี่ยงนี้จะมากขึ้นอีก หากมีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 16 ปี เป็นผู้ชายหรือมีคู่นอนที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ มีคู่นอนที่มีคู่นอนหลายคน และเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนข้างกายเรา นอนกับเราเพียงคนเดียว หรือไม่เคยผ่านมือใครมาก่อน อดีตที่เราไม่รู้ ย้อนอดีตไปดูก็ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือวันต่อ ๆ ไปเราจะมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัยทั้งเราและคู่นอน รู้หน้า รู้จัก รู้ใจ แต่เรามิอาจรู้ว่าใคร มีเชื้อไวรัส HPV จริงไหมคะ

1. แปลกแต่จริง! คนที่มีเพศสัมพันธ์ เกือบทุกคนจะติดเชื้อ HPV จากสถิติพบผู้ใหญ่ 9 ใน 10 คน เคยได้รับเชื้อไวรัสนี้ ในช่วงหนึ่งของชีวิต

2. มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม เชื้อกลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงต่ำ ร้ายแรงสุดแค่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ เชื้อกลุ่มสองที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้เซลล์พัฒนากลายเป็นมะเร็งได้

3. ทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้อีก เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาติ มะเร็งด้านหลังลำคอ (คอหอยส่วนปาก) มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งที่อวัยวะเพศภายนอก

4. บางสายพันธุ์ส่งผลร้ายต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เช่น มะเร็งลำคอที่สาเหตุไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการได้รับเชื้อ HPV ในช่วงอายุ 35-55 ปี ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปาก และมะเร็งลำคอมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และมะเร็งทวารหนักในผู้ชาย ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อ HPV อีกด้วย

5. การตรวจหาเชื้อ HPV หากไม่พบเชื้อ ไม่สามารถการันตีได้ว่า เราไม่มีเชื้อในร่างกาย และจะไม่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งนะคะ เพราะในปัจจุบันไม่มีวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง และการติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ จึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจพบ

6. แต่เราสามารถหาสัญญาณเบื้องต้นของโรคมะเร็ง ที่เกิดจากเชื้อ HPV ได้ ถึงแม้จะไม่มีวิธีตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจ Pap smear หาเซลล์ผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ HPV ได้ ซึ่งควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี และตรวจต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 65 ปี ในส่วนของมะเร็งชนิดอื่น ๆ ถึงแม้จะยังไม่มีมาตรฐานในการคัดกรอง แต่การตรวจหา DNA ของ HPV เป็นวิธีที่ดีและได้รับการยอมรับ สิ่งสำคัญคือการสังเกตอาการผิดปกติบริเวณนั้น ๆ เช่น บวม คัน มีแผลฯ ที่ดูแล้วว่าไม่มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก

7. 3 วิธีง่าย ๆ ในการลดความเสี่ยงติดเชื้อ HPV ถึงแม้จะแพร่เชื้อได้ง่าย แต่ก็มีวิธีลดการแพร่กระจายได้ ด้วย 1.ใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 2.ไม่เปลี่ยนคู่นอน และ 3.ที่สำคัญ ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV จะคุ้มค่าและได้ประโยชน์มาก หากฉีดก่อนได้รับเชื้อ หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ และควรฉีดตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ด้วย 3 เหตุผล ก็คือ ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ยังไม่ติดเชื้อ HPV และวัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าผู้ใหญ่ แต่ถึงแม้มีเพศสัมพันธ์แล้วก็ควรฉีด เพราะเชื้อที่ทำให้เกิดมะเร็งมีหลายสายพันธุ์ อย่างไรฉีดไว้ก็ยังได้ประโยชน์ในการป้องกันสายพันธ์อื่น มาฉีดวัคซีน HPV และสนับสนุนให้คู่ของคุณเข้ารับการฉีดด้วย เพื่อเป็นการร่วมด้วยช่วยกันอีกทางหนึ่งนะคะ