รู้จัก “ฝีดาษลิง” ไวรัสจากสัตว์สู่คน พร้อมวิธีป้องกัน

รู้จักฝีดาษลิงไวรัสจากสัตว์สู่คนพร้อมวิธีป้องกัน

รู้จัก" ฝีดาษลิง "

เกิดจากไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)

เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

ฝีดาษลิง พบมากในประเทศแถบ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน

อาการเป็นอย่างไร ?

อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ต่อมน้ำเหลืองโต, อ่อนเพลีย

จากนั้นจะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่เริ่มจากใบหน้า ก่อนจะกระจายไปตามส่วนอื่นของร่างกาย ที่พบบ่อยคือฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มที่ขึ้นอาจทำให้คันหรือเจ็บและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ก่อนจะกลายเป็นสะเก็ดและร่วงออกมา อาการจะปรากฏราววันที่ 6-13 หลังได้รับเชื้อ การติดเชื้ออาจหายเองโดยไม่ต้องรักษาและคงอยู่ประมาณ 14-21 วัน

อันตรายแค่ไหน ?

ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก

อัตราตายของโรคพบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10

การติดต่อ

จากสัตว์สู่มนุษย์

  • จากการสัมผัสทางผิวหนัง
  • เยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา

จากสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค

  • สารคัดหลั่ง เลือด ผิวหนัง
  • การนำซากสัตว์ป่วยมาปรุงอาหาร
  • การถูกสัตว์ป่วย ข่วน กัด หรือสัมผัสเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์นั้น

จากมนุษย์สู่มนุษย์

  • ละอองฝอยทางการหายใจ
  • การสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย
  • การสัมผัสเลือด, รอยโรคที่ผิวหนัง
  • การสัมผัส ของใช้ส่วนตัวที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง จากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน

ป้องกันและดูแลตนเองอย่างไร?

1. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล

2. งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย

4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติ มาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

5. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์ป่า จากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง

คำแนะนำจากแพทย์

มีการยืนยันผู้ติดเชื้อแล้วใน 75 ประเทศทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยมากกว่า 16,000 คน พบมากที่สุดในประเทศสเปน, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และฝรั่งเศส สำหรับฝีดาษลิงในไทยเพิ่งมีการยืนยันการพบผู้ป่วยรายแรก

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% และบุคคลที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง

ข้อมูล และเรียบเรียงโดย :นพ.เอกวิทย์ เกวลินสฤษดิ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี

ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทย, กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค