chat

พิษสุนัขบ้า…ฉีดวัคซีนป้องกันได้ตอนไหน?


    สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังระบาดในหลายจังหวัดขณะนี้ ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัวกับการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค บางคนถึงกับหวาดผวาเมื่อมีสุนัขจรจัดเฉียดกรายเข้ามาใกล้ ๆ จริง ๆ แล้วโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดเฉพาะในสุนัข เพียงแต่สุนัขเป็นสัตว์นำโรคที่พบมากที่สุด ยังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นได้ด้วย เช่น แมว, หนู, ลิง, กระรอก, หมู, ม้า, วัว, ควาย เป็นต้น หากคนเราถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผล ถึงแม้จะเป็นเพียงแผลถลอกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ถ้าเป็นแล้วบอกเลยว่าไม่มียารักษา คนไข้จะเสียชีวิตทุกราย
    ดังนั้นหากโดนสัตว์บ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผล สิ่งที่ต้องรีบปฏิบัติคือ ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง โดยล้างให้ถึงก้นแผล ประมาณ 15 นาที แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ยารักษาแผลสด เช่น เบตาดีน ถ้าไม่มีจะใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลก็ได้ แล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันสักนิด เพราะมีทั้ง (1) การฉีดหลังจากที่โดนสัตว์บ้ากัดแล้ว และ (2) การฉีดป้องกันล่วงหน้า ซึ่งมักฉีดในคนที่มีโอกาสเสี่ยง เช่น สัตวแพทย์ คนที่ทำงานในสวนสัตว์ เด็ก คนที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีการระบาด (อย่างในพื้นที่ที่มีการระบาดในขณะนี้) หรือถ้าใครกังวลใจอยากฉีดป้องกันไว้ก่อนก็ทำได้เช่นกัน
การฉีดวัคซีนหลังจากโดนสัตว์บ้ากัด
ส่วนใหญ่คนมักฉีดในกรณีนี้ ซึ่งวัคซีนที่ใช้จะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ
 
(1) วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา มีทั้งฉีดเข้ากล้ามและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยทั่วไปจะนิยมฉีดเข้ากล้ามโดยฉีดครั้งละ 1 เข็ม 5 ครั้ง (วันที่ 0 (วันเริ่มฉีดวัคซีน), วันที่ 3, วันที่ 7, วันที่ 14 และ วันที่ 30)
  (2) ฉีดเซรุ่ม หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (RIG) โดยจะฉีดรอบแผลเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไปทำลายเชื้อก่อนที่เชื้อจะก่อโรคขึ้นและระหว่างรอให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างขึ้นมาเองจากวัคซีน ซึ่งเซรุ่ม หรือ RIG นี้มี 2 แบบ คือ ทำมาจากม้า (ERIG) และทำมาจากคน (HRIG)
 
    ทีนี้ แพทย์จะฉีดตัวไหนบ้าง ก็จะดูจากบาดแผล ถ้าบาดแผลรุนแรงหรือถูกกัดบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น บริเวณใบหน้า คอ แขน เป็นต้น จะฉีดเซรุ่มให้เลยไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเอง แต่เนื่องจากเซรุ่มมีราคาแพงและโอกาสที่คนฉีดจะเกิดอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาตามความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป
 
การฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า
      สำหรับวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันล่วงหน้าก็ไม่ใช่วัคซีนใหม่ แต่เป็นวัคซีนชนิดเดียวกันกับที่ใช้ฉีดหลังโดนกัดแล้ว เพียงแต่จำนวนครั้งในการฉีดแค่ 3 ครั้ง (วันที่ 0 (วันเริ่มฉีดวัคซีน), วันที่ 7, วันที่ 21 หรือ 28) ซึ่งหากได้ฉีดวัคซีนล่วงหน้าไว้แล้วกรณีถูกสัตว์บ้ากัดจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1 - 2 ครั้ง โดยไม่จําเป็นต้องฉีดเซรุ่มรอบแผลอีก การฉีดเซรุ่มรอบแผลบอกเลยว่าเจ็บ ถ้ามีหลายแผลก็ต้องฉีดให้ครบทุกแผล ดังนั้นจึงไม่ต้องเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่ม ที่สำคัญลดโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้เซรุ่ม และลดค่าใช้จ่ายไปได้มากค่ะ