chat

ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่

NewMpox

หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษาลิง (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public health emergency of international concern) ที่น่ากังวลล่าสุด นพ.ยงค์ ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า เดิมการระบาดของฝีดาษลิงใน 2 ปีที่ผ่านมา ระบาดมากนอกทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์กลุ่ม 2 Clade 2b  รวมที่พบในประเทศไทยมากกว่า 400 ราย สายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง พบในผู้ใหญ่ เพศชาย ส่วนใหญ่เกิดการติดต่อจากเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย  ทำให้ผู้ป่วยร้อยะ 98 เป็นเพศชาย

สายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศคองโก ในปีนี้มีผู้ป่วยนับหมื่นราย และแพร่กระจายไปยังหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 Clade 1  และมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Clade 1b สายพันธุ์นี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง ที่เสียชีวิตมากส่วนใหญ่เป็นเด็ก เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์กลุ่ม 2 การติดต่อนอกจากสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังพบว่าฝอยละอองทางการหายใจ ก็สามารถทำให้ติดได้สายพันธุ์นี้ได้ จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก

mpox

เมื่อ 2 ปีที่แล้วองค์การอนามัยโลกเคยประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งแรก ทำให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง ตื่นตัว การระบาดครั้งนั้น มีการแพร่กระจายออกมานอกทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ที่เป็นผู้ใหญ่ และการระบาดได้กระจายไปเกือบทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย สายพันธุ์ของการระบาด เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่ม 2 (Clade 2) เช่นในประเทศไทยที่พบจะเป็น 2b และโรคไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก

ปีนี้ 2567 เกิดการระบาดใหญ่ ในทวีปแอฟริกา เช่น คองโก บุรุนดี เคนย่า รวันดา มากกว่า 15,000 ราย และมีการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 3.4 (537 ราย จาก 15,600 ราย) มีการเสียชีวิตในเด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตรวจไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 1 Clade 1b ซึ่งแตกต่างกับการระบาดก่อนหน้านี้ในประเทศนอกแอฟริกา จึงทำให้เกิดความกังวลว่าโรคนี้จะระบาดออกไปทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก จึงประกาศโรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ครั้งที่ 2 หลังจากที่คิดว่าโรคนี้ได้สงบลงแล้ว การติดต่อของโรคจะไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ที่ระบาดนอกแอฟริกา และพบได้ทั้งเพศชายและหญิง

mpox

มีความรุนแรงมากกว่าในคองโก  2 ใน 3 ของผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และในจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเด็กมากกว่าร้อยละ 80  แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงจึงอยู่ในวัยเด็กการเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธุ์ ฝีดาษลิง ในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็น Clade 1b หรือสายพันธุ์ที่มาจากแอฟริกา จะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังติดตามไม่ให้แพร่กระจายได้

mpox

ถ้ามีการพบสายพันธุ์ดังกล่าว (1b) วัคซีนจะมีความสำคัญในการป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางเช่นเด็ก ขณะนี้วัคซีนยังมีราคาแพงมากๆ การลดขนาดของวัคซีนเช่นการให้ในผิวหนัง อาจจะต้องมีการศึกษาอย่างเร่งด่วน สำหรับประเทศไทย ทุกรายของฝีดาษลิงจะต้องเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัยและแยกสายพันธุ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้สายพันธุ์กลุ่มที่ 2 แพร่กระจายในประเทศไทย

mpox
การป้องกันโรคฝีดาษลิง

ทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งสกปรก

สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด

หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่ขณะนี้วัคซีนยังมีราคาแพง

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงเพิ่มเติมได้ที่ : คลิกที่นี่

Dr.-Akekavit-Kevalinsalit