chat

ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจตาเมื่อไร? เพื่อป้องกัน “เบาหวานขึ้นตา”

ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจตาเมื่อไร? เพื่อป้องกันเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา รักษาที่ต้นเหตุ

“ เบาหวานขึ้นตา ” เป็นสภาวะแทรกซ้อนจาก " โรคเบาหวาน " เกิดจากการไม่ควบคุมระดับน้ำตาล ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดการอุดตันและเกิดความเสียหายกับจอตา จนกระทั่งทำให้มีเลือดออกบริเวณจอรับภาพในตา นับได้ว่าสูญเสียการมองเห็นไปเลยทีเดียวหากรักษาอาการเหล่านี้ไม่ทัน

ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานที่ทำให้เกิด “ เบาหวานขึ้นตา ”

1. ระดับน้ำตาลในเลือดถ้าควบคุมได้ไม่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำตาลสะสมย้อนหลัง 3 เดือน (HbA1C) > 6.5 มีโอกาสเบาหวานขึ้นตาสูง

2. ระยะเวลาที่เป็นโรคเบาหวานมานาน มีโอกาสเกิดเบาหวานขึ้นตาได้สูง

3. โรคอื่นที่เป็นร่วม เช่น ความดันโลหิตสูงถ้าสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท, ไขมันในเลือดสูง, มีภาวะไตวาย เหล่านี้จะทำให้เบาหวานขึ้นตาเร็วขึ้น

4. ภาวะตั้งครรภ์

5. ปัจจัยอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่, กรรมพันธุ์

ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจตาเมื่อไร ? เพี่อป้องกันเบาหวานขึ้นตา

  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (DM type 1) ในระยะ 5 ปี แรกหลังวินิจฉัยโรคมักไม่พบเบาหวานขึ้นจอตา หรือพบเพียงเล็กน้อยจึงตรวจตาครั้งแรกเมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานแล้ว 5 ปี
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 (DM type 2) เนื่องจากไม่ทราบระยะเวลาการเกิดโรคที่แท้จริง จึงพบว่าเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ก็อาจมีเบาหวานขึ้นตาแล้ว ดังนั้น จึงแนะนำตรวจตาครั้งแรกทันทีเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยเบาหวานตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจตาก่อนหรือทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ไม่ควรเกินไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และติดตามใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์

ความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

1. เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก (ไม่มีหลอดเลือดผิดปกติงอกที่จอประสาทตา) จะพบเลือดออกเป็นจุดขนาดเล็กที่จอประสาทตา, หลอดเลือดโป่งพอง มีสารน้ำและโปรตีนรั่วจากหลอดเลือด แต่ไม่พบเส้นเลือดเกิดใหม่ที่จอประสาทตา

2. เบาหวานขึ้นตาระยะที่มีหลอดเลือดงอกที่จอประสาทตา ตรวจพบเส้นเลือดเกิดใหม่ผิดปกติที่จอประสาทตา ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้เปราะแตกง่ายหากไม่รีบรักษา อาจมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา และตามมาด้วยการเกิดพังผืดดึงรั้งจอตาได้

เมื่อเบาหวานขึ้นตา อันตรายถึงตาบอด?

โรคเบาหวานขึ้นจอตาส่วนมากมีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถควบคุมให้คงที่ได้โดยการคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโดยการยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตาร่วมกับการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ยกเว้นในรายที่เบาหวานขึ้นตารุนแรงจนมีภาวะแทรกซ้อนในตาจากเบาหวาน เช่น ต้อหิน เลือดออกในน้ำวุ้นตา เลือดออกที่จอประสาทตาจากเส้นเลือดงอกผิดปกติจนเกิดพังผืดดึงรั้งให้จอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น และตาบอดได้หากไม่รีบตรวจและรักษาแต่ระยะเริ่มต้น

บทความโดย พญ.ปฐมานุช ตัณฑวิเชียร จักษุแพทย์ ศูนย์รักษาจอตาจากเบาหวาน โรงพยาบาลยันฮี