chat

การประเมินความเสี่ยงการเป็นเส้นเลือดขอด


เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีโอกาสรับเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำ แอปพลิเคชั่นประเมินความเสี่ยงโอกาสเป็นเส้นเลือดขอด ให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าในปัจจุบันได้มีการจัดทำแอปพลิเคชั่น ประเมินความเสี่ยงโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดขึ้นแล้ว แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนัก วันนี้จึงขอบอกเล่า เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการประเมินของตนเองนะครับ

แอปพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า Phleboscore มีทั้งใน Apple Store และ Google Play Store (คือ iphone android +phone) จัดทำขึ้นโดยการสนับสนุนของบริษัทยาแห่งหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อนะครับ)




โดยผมได้เข้าแอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อทดลองทำแบบประเมินด้วยตนเองแล้ว พบว่าการประเมินได้ผลลัพธ์ที่พอใช้ได้ (แม้จะยังไม่แม่นยำมากนัก) แต่ปัจจัยเสี่ยงที่นำมาประเมินในแอปใช้ได้ดี เป็นข้อเท็จจริงที่แพทย์ในปัจจุบันทราบกันอยู่ แต่ที่อาจยังไม่แม่นยำมากนัก เนื่องจากยังไม่มีใครรู้ % ที่แน่นอน เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้การคำนวณเมื่อทำแบบทดสอบออกมาแล้ว อาจทำให้หาค่าที่จะแยกระหว่างผู้มีความเสี่ยงกับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงออกจากกันได้ยาก (ภาษาอังกฤษน่าจะตรงกับ Cut off point)

อย่างไรก็ตามแอปนี้ก็ยังมีประโยชน์ เพื่อช่วยให้เราทราบปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคเส้นเลือดขอดของเราโดยคร่าว ๆ ได้ ที่สำคัญมีภาษาไทยให้เลือกด้วยนะครับ สะดวกในการใช้งานของคนไทยพอสมควร

เมื่อพูดถึงแอปประเมินความเสี่ยง ก็ขอพูดถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้มีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น เท่าที่ควรรู้ พอสังเขป

อันดับที่ 1 คือ กรรมพันธุ์ พบว่าถ้าพ่อหรือแม่ เป็นโรคเส้นเลือดขอด ลูก ๆ จะมีโอกาสเป็นโรคเส้น เลือดขอด ประมาณ 40% แต่หากว่า ทั้งพ่อและแม่เป็นเส้นเลือดขอดทั้งคู่ ลูก ๆ จะมีโอกาสเป็นโรค เส้นเลือดขอดได้ถึง 90%

อันดับที่ 2 คือ เพศ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (แต่มีบางงานวิจัยที่พบในทางกลับกัน คือ เพศชายมากกว่าเพศหญิง) แต่โดยทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่ยอมรับว่า จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อันดับที่ 3 คือ การตั้งครรภ์ ยิ่งหลายท้องยิ่งเพิ่มโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น โดยพบว่าถ้าเป็นท้องแรก ตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจเกิดเส้นเลือดขอดแล้วหายได้เองภายหลังคลอดบุตร แต่ในท้องที่ 2,3 เมื่อเป็นเส้นเลือดขอดตอนตั้งครรภ์แล้วจะไม่หายไป และหลังคลอดมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น

อันดับที่ 4 การใช้ยาฮอร์โมนเพศในผู้หญิง ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้นได้ จะแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือการใช้ยาคุม เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ กับการใช้ยาฮอร์โมนเพศ เพื่อรักษาในผู้หญิงที่มีอาการวัยทอง

อันดับที่ 5 คือ น้ำหนักตัวที่เกิน พูดง่าย ๆ คืออ้วน แต่อ้วนสักเท่าไหร่จะเป็นเส้นเลือดขอด ยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด แต่จากประสบการณ์ที่รักษาคนไข้มาพบว่า
   • หากผู้ชายไทย ความสูงปกติ 160-170 เซนติเมตร น้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม จะเริ่มมีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น ส่วนผู้หญิงไทย ความสูงปกติ 150-160 เซนติเมตร น้ำหนักเกิน 70 กิโลกรัม ก็จะเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน
   • หากประเมินโดยใช้เกณฑ์ BMI พบว่าคนที่มีค่า BMI เกิน 30 ขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดค่อนข้างมาก ยิ่งร่วมกับการประกอบอาชีพที่ในชีวิตการทำงานต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ มากกว่า 4 ชั่วโมง ขึ้นไปติดต่อกัน จะยิ่งเพิ่มโอกาส การเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างที่เป็นเส้นเลือดขอดและมาหาหมอบ่อย ๆ เช่น กุ๊กทำอาหาร ที่ยืนนาน และอากาศร้อนหน้าเตา แม่ครัวร้านขายอาหารตามสั่ง ที่ขายดีลูกค้าเยอะ เป็นต้น

อันดับที่ 6 คือ อาชีพ การยืนหรือนั่งที่นานเกิน 4 ชั่วโมง ติดต่อกัน ในคนที่ประกอบอาชีพที่ต้องยืนเช่น กุ๊ก, คุณครู , แพทย์ และพยาบาลในห้องผ่าตัด, พนักงานห้างสรรพสินค้า จะมีความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดขอดมากขึ้น

อันดับที่ 7 คือ อายุ คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น ตามตัวเลขของอายุที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อันดับที่ 8 อาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือ ความสูง คนที่สูงมากเท่าไหร่ โอกาสเป็นโรคเส้นเลือดขอดก็จะเพิ่มขึ้นตามความนั้นเลย (จะบอกว่าพบเส้นเลือดขอดในยีราฟบ่อย ๆ นะครับ เพราะว่ามันสูงมาก)

อันดับที่ 9 คือ เชื้อชาติ คนไข้มักจะบอกว่า ผิวบาง จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับแต่เกี่ยวกับเชื้อชาติ พบว่าฝรั่งผิวขาว อเมริกา ยุโรป (คอเคซอยด์) มีโอกาส เกิดอุบัติการณ์โรคเส้นเลือดขอดมากกว่าชาวเอเชียผิวเหลืองอย่างเรา ๆ (มองโกลอยด์) ในประเทศไทยจากการรักษาที่ผ่านมา พบว่า คนไทยเชื้อสายจีนมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าคนไทยเชื้อสายอื่นครับ

ลองเช็คกันดู เรามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคเส้นเลือดขอดกี่ข้อ ใครที่อยากประเมินความเสี่ยงโอกาสเป็นเส้นเลือดขอด หยิบมือถือแล้วโหลดแอป Phleboscore มาลองดูว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไหมได้นะครับ