chat

“ดุ” เจ้าตัวเล็กอย่างเข้าใจ


เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีการเรียนรู้ ความเข้าใจแตกต่างกันจึงจำเป็นที่ผู้ปกครองและคนรอบข้างจะต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก โดยเฉพาะพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ควรจะมีการว่ากล่าวตักเตือนควบคู่กับอธิบายให้เด็กเข้าใจ ไม่ให้หวาดกลัวและไม่แสดงอาการก้าวร้าวอีก

  • พฤติกรรมของเด็กที่บ่งบอกถึงความดื้อหรืองอแง อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ได้รับควันบุหรี่โดยตรงและทางอ้อมหรือดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ลูกน้อยดื้อสมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
  • เมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มเข้าสู่วัยใกล้ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เข้าใจในคำสั่งง่าย ๆ ด้วยท่าทางประกอบและเริ่มมีการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่หากเมื่อใดที่ลูกมีอาการร้องไห้เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หรือเกเรคุณพ่อ-คุณแม่ไม่ควรดุ หรือโวยวายใส่ลูกแต่ใช้วิธีสวมกอดแล้วพาเด็กออกมาจากสิ่งที่เขาต้องการ
  • ขยับเข้าสู่วัย 2-5 ขวบ เด็กจะเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง จึงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นได้ทดลอง ลงมือทำในขอบเขตที่กำหนดไว้ขณะเดียวกันให้เด็กเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรและหากกระทำสิ่งไม่ควรก็ต้องให้เหตุผลกับเด็กได้

ยังมีข้อมูลอ้างอิงด้วยว่าถ้าเด็กในช่วงวัย 2-5 ขวบ ใช้กิจกรรมไปกับการจ้องมองโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์เกิน 1 ชั่วโมงจะมีโอกาสซน และสมาธิสั้นกว่าเด็กทั่วไปอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งเนื่องจากการอุ้มผิดท่า ท่านอนหรือนั่งที่ไม่เหมาะสมทำให้เด็กทรงท่าให้อยู่นิ่งไม่ได้ จึงต้องขยับตัวตลอดรวมทั้งการเลี้ยงดูที่ขาดวินัยการถูกตามใจทุกเรื่อง หรือปัญหาสุขภาพของเด็กเองก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งเช่นกัน

เมื่อทราบเช่นนี้แล้วมาเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกรัก จากพลังดื้อให้เป็นพลังรักด้วยการสร้างพฤติกรรมเชิงบวก เข้าใจลูกพร้อมทั้งรู้วิธีที่จะรับมือที่ถูกต้องและเหมาะสม สิ่งสำคัญอย่ามองข้ามเรื่องการเข้าพบแพทย์ด้านพัฒนาเด็ก เพราะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยให้คำแนะนำพัฒนาการแก่ลูกรักได้ค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์กุมารเวช รพ.ยันฮี