chat

จุดเริ่มต้นของ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจ


เกิดขึ้นครั้งแรกปี 1960 ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่เปิดรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศเหมือนในปัจจุบัน เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศทางเลือก หลายคนพยายามปกปิดอำพรางตัวตนไม่ให้ใครรู้ ด้วยเงื่อนไขของการยอมรับในครอบครัว ตำแหน่งหน้าที่การงานซึ่งยังปิดกั้นไม่ให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศสามารถเข้าถึงตำแหน่งแห่งที่ในองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างเสรี

pride-month

‘บาร์เกย์’ จึงกลายเป็นจุดนัดพบเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมหรือพบปะพูดคุยกัน เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้เพียงเพราะเป็นสถานที่ของเกย์ จึงตกอยู่ในสถานะบาร์เถื่อน กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์ สโตนวอลล์ อิน (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่พวกเขาไม่ยินยอม สุดท้ายเหตุการณ์จึงบานปลาย มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ

pride-month

แต่ยิ่งตำรวจล้อมปราบเท่าไร ฝูงชนก็ยิ่งมารวมตัวกันมากขึ้น จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึง ‘ไพรด์’ (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตัวเองในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน

pride-month

เดือนมิถุนายนปีต่อมา กลุ่มความหลากหลายทางเพศในนิวยอร์กได้จัดขบวนพาเหรดเพื่อร่วมเดินในงาน Liberation Day หรือ วันประกาศอิสรภาพของสหรัฐ (19 มิ.ย.1865) เป็นการฉลองการสิ้นสุดของการยึดครองหรือการกดขี่โดยกองกำลังต่างชาติบนถนนคริสโตเฟอร์อีกครั้ง โดยผู้ริเริ่มจัดขบวนพาเหรดดังกล่าว คือ เบรนดา ฮาวเวิร์ด (Brenda Howard) เป็นนักกิจกรรมไบเซ็กชวล ผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่บาร์เกย์สโตนวอลล์ อิน เธอชักชวนเพื่อนๆ มาเป็นคณะกรรมการ นัดพบปะพูดคุยกันที่ Oscar Wilde Memorial Bookshop ร้านหนังสือเกย์และเลสเบี้ยนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา บนถนนคริสโตเฟอร์ ต่อมาในปี 1999 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของเกย์และเลสเบี้ยน (Gay and Lesbian Pride Month) และกระจายไปทั่วโลก

pride-month

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกๆ วันที่ 28 มิถุนายน จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ 1 ปีหลังจากนั้น ได้เกิดการเดินขบวนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก มีการเดินขบวนอีกหลายแห่งทั่วโลกตามมา จนกลายเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยสีสัน เรียกว่าเทศกาล Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจนั่นเอง

ปัจจุบันมีการจัดงานไพรด์พาเหรดประมาณ 82 ประเทศทั่วโลก แต่มีเพียง 34 ประเทศเท่านั้นที่กฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกัน โดยมีประเทศหลักๆ ที่จัดงานเทศกาล Pride Month ได้แก่EuroPride & Pride Week เวียนนา ออสเตรีย, Madrid Gay Pride มาดริด สเปน, Amsterdam Gay Pride อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, Mexico City Gay Pride เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก, Stockholm Pride สต็อกโฮล์ม สวีเดน, Tel Aviv Gay Pride เทลอาวีฟ อิสราเอล, Dublin Gay Pride ดับลิน ไอร์แลนด์, Tokyo Rainbow Pride โตเกียว ญี่ปุ่น, Taiwan LGBT Pride ไทเป ไต้หวัน และ Metro Manila Pride มะนิลา ฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทยเคยมีการจัดงานไพรด์ครั้งแรกในปี 1999 ร่วมกับประเทศไอซ์แลนด์และฮังการีของทวีปยุโรป ภายใต้ชื่อ ‘Bangkok Gay Festival 1999’ เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม และรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์

การจัดงานไพรด์ครั้งแรกของประเทศไทย มีการเดินขบวนจากถนนพระรามสี่จนถึงสีลม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ยังเคยมีการจัดงานเกย์ไพรด์ที่เชียงใหม่ในปี 2009 ซึ่งถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นจนต้องยุติไปในที่สุด และกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2019 ที่ภูเก็ตมีการจัดงาน Phuket Gay Pride มาตั้งแต่ปี 1999, ในปี 2022 มีการจัดงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เดินขบวนพาเหรดหน้าวัดแขกมุ่งหน้าสู่ถนนสีลม เพื่อเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและสวัสดิการจากรัฐ

pride-month

ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน ‘Bangkok Pride 2023’ ภายใต้แนวคิด ‘Beyond Gender’ โดยเริ่มต้นขบวนจากสวนลุมพินีผ่านถนนราชดำริมุ่งหน้าสู่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ชูประเด็นสมรสเท่าเทียม พร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘World Pride 2028’ โดยนำร่องจัดกิจกรรม Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายนในอีก 4 พื้นที่หลักนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และพัทยา