chat

กล้องแคปซูล ตรวจหาความผิดปกติในลำไส้

กล้องแคปซูล

       หากคุณมีอาการผิดปกติในช่องท้อง อาทิ ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ, ท้องเสียเรื้อรัง, มีภาวะซีดหรือโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็คงนิ่งนอนใจไม่ได้แล้วล่ะ ควรไปพบคุณหมอเพื่อค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรกันแน่ จะได้รีบหาทางแก้ไข บางครั้งการตรวจวินิจฉัยก็อาจจำเป็นต้องทำกันอย่างละเอียดกว่าแค่การซักประวัติ หรือเจาะเลือดไปตรวจ ถ้าคุณหมอสงสัยว่าต้อตอจะอยู่ที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ ก็จะทำการส่องกล้องตรวจดู ถ้าตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ เป็นไปได้ว่าความผิดปกติอาจเกิดใน “ลำไส้เล็ก”

       ความผิดปกติที่เกิดในลำไส้เล็กมักตรวจพบได้ยาก เนื่องจากลำไส้เล็กมีความยาวประมาณ 4 - 6 เมตร ซึ่งค่อนข้างยาวเกินกว่าการส่องกล้องแบบท่อขนาดเล็กที่ใช้กันในปัจจุบันจะตรวจได้ทั่วถึง ส่วนการตรวจโดยการกลืนแป้งแล้วเอกซเรย์ที่นิยมทำกันก็ยังให้ผลการตรวจไม่แน่นอนเนื่องจากลำไส้เล็กมีความยาวและคดเคี้ยวมาก

      อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในการตรวจลำไส้เล็กดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะตอนนี้มีนวัตกรรมอันทันสมัยที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติในลำไส้เล็กอย่าง การตรวจด้วยกล้องแคปซูล (Capsule Endoscopy) ซึ่งเป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บตัว และผลที่ได้มีความแม่นยำมากขึ้นเพราะสามารถตรวจได้ทั่วถึงตลอดลำไส้เล็ก

       “กล้องแคปซูล” มีหลักการทำงานยังไง?

      เห็นเทคโนโลยีสุดล้ำอย่างนี้ บอกเลยว่าหลักการทำงานไม่ยุ่งยากอะไรเลย การตรวจด้วยกล้องแคปซูลจะประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ 2 ส่วนคือ

       (1) กล้องแคปซูล ขนาดประมาณ 11 x 24 มิลลิเมตร ที่สามารถถ่ายภาพภายในทางเดินอาหารได้ 2 ภาพต่อวินาที

      (2) ตัวรับสัญญาณภาพ ที่มีลักษณะคล้ายเข็มขัดคาดไว้กับเอวผู้ป่วย ซึ่งจะรับสัญญาณภาพที่ส่งมาจากกล้องแคปซูลที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร

       เมื่อผู้ป่วยกลืนกล้องแคปซูลเข้าไป พร้อมคาดเข็มขัดรับสัญญาณภาพ กล้องแคปซูลจะเคลื่อนไปตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารเหมือนอาหารที่เรากินโดยอาศัยการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ พร้อมกับถ่ายภาพและส่งสัญญาณไปยังตัวรับสัญญาณภาพที่คาดอยู่ที่เอว โดยปกติแบตเตอรี่ของกล้องแคปซูลสามารถใช้งานได้นานประมาณ 8 ชั่วโมง จึงสามารถถ่ายภาพส่งให้ตัวรับสัญญาณภาพได้มากถึง 50,000 ภาพ ซึ่งข้อมูลภาพที่ได้จะเป็นภาพต่อเนื่องภายในระบบทางเดินอาหาร ทำให้แพทย์สามารถใช้วิเคราะห์หาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในลำไส้เล็กได้

       มาดูกันว่า... ใครบ้างเข้าข่ายที่จะตรวจด้วยกล้องแคปซูล

       คนที่ปัญหาดังต่อไปนี้ เชื่อว่าคงจะเป็นกังวลว่าตนเองเป็นโรคอะไร ร้ายแรงหรือเปล่า? ควรรีบมาปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาความผิดปกติ

  • มีภาวะซีดหรือโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ และการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ไม่พบตำแหน่งเลือดออก
  • มีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องรอบ ๆ สะดือ

       เตรียมตัวให้พร้อมก่อนกลืนกล้องแคปซูล

        การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้การตรวจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น อย่าละเลยสิ่งที่คุณหมอหรือเจ้าหน้าที่แนะนำ บางทีประมาทนิดเดียวก็ส่งผลเสียมากมายตามมาได้ สิ่งที่ควรปฏิบัติในช่วงก่อนกลืนกล้องแคปซูลมีดังนี้

  • งดน้ำและอาหารก่อนกลืนกล้องแคปซูลประมาณ 12 ชั่วโมง
  • แพทย์จะให้รับประทานยาระบายก่อนการตรวจเพื่อเตรียมลำไส้ให้ว่าง
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย, การใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยผ่าตัดหัวใจ, ใส่ pacemaker
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยผ่าตัดช่องท้อง หรือมีการอักเสบของลำไส้ เพราะหากมีภาวะลำไส้อุดตันหรือตีบแคบของลำไส้จะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนตัวของกล้องแคปซูลผ่านช่วงลำไส้ที่ตีบแคบได้

         ขั้นตอนการตรวจด้วยกล้องแคปซูล

       ส่วนใหญ่คนเรามักจะกังวลว่าขั้นตอนการตรวจจะต้องยุ่งยากอย่างนั้น วุ่นวายอย่างนี้ สำหรับการตรวจด้วยกล้องแคปซูลเป็นการตรวจที่ง่ายมาก เหมือนเรากลืนยาทั่วไป จากนั้นก็ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอแนะนำซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเช่นกัน ขั้นตอนการตรวจมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ

  • ผู้ป่วยกลืนกล้องแคปซูลพร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยว
  • การบันทึกภาพของกล้องแคปซูลจะเริ่มจากช่องปากตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มกลืนกล้องแคปซูลเข้าไปแล้วส่งสัญญาณภาพมายังตัวรับสัญญาณภาพซึ่งคาดอยู่ที่เอวของผู้ป่วย
  • ในช่วง 4 ชั่วโมงแรกหลังกลืน ห้ามรับประทานน้ำหรืออาหารเพื่อไม่ให้ไปบดบังลำไส้ และจะให้ผู้ป่วยเดินไปเดินมาเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้แคปซูลเคลื่อนตัวได้ดี
  • หลัง 4 ชั่วโมงไปแล้วจึงจะเริ่มรับประทานอาหารได้
  • โดยปกติการตรวจวินิจฉัยจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง คือเท่ากับเวลาของแบตเตอรี่ภายในกล้องแคปซูล ระหว่างการตรวจผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
  • หลังครบเวลาตรวจแพทย์จะนำข้อมูลภาพที่บันทึกอยู่ในตัวรับสัญญาณภาพไปวิเคราะห์หาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในลำไส้เล็ก

        โดยทั่วไป กล้องแคปซูลจะอยู่ในร่างกายประมาณ 24 ชั่วโมง ก็จะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระตามปกติ และกล้องแคปซูลที่ใช้แล้วจะไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ และไม่ต้องเก็บส่งตรวจอะไรอีก เพราะข้อมูลภาพถ่ายที่กล้องบันทึกไว้ได้ส่งมายังตัวรับสัญญาณภาพที่คาดไว้ที่เอวแล้ว