MTF ข้อมูลเชิงลึกแปลงเพศ

ศัลยกรรมแปลงเพศชายเป็นหญิง Male-to-Female Sex Reassignment Surgery โรงพยาบาลยันฮี

ทำความเข้าใจ “การแปลงเพศ” คืออะไร

การเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดแปลงเพศ

โรคหรือภาวะที่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรือแก้ไขก่อนผ่าตัดแปลงเพศ

โรคหรือภาวะที่ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้

เทคนิคการแปลงเพศจากชายเป็นหญิง

ช่องคลอดทำได้ลึกแค่ไหน หลังการแปลงเพศ

อวัยวะเพศใหม่จะมีความรู้สึกหรือไม่

ระยะเวลาพักฟื้น

การดูแลแผล และการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

ความรู้เรื่องการขยายช่องคลอด (แยงโม)

Profile แพทย์ศัลยกรรมแปลงเพศ (ชายเป็นหญิง)

ราคาในการผ่าตัดแปลงเพศ

1. ศัลยกรรมแปลงเพศคืออะไร

“ศัลยกรรมแปลงเพศ” ตามนิยามของข้อบังคับแพทยสภาประเทศไทย* หมายถึง การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง หรือหญิงเป็นชาย รวมถึงการรักษาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศอย่างถาวร

สำหรับความหมายที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับบุคคลทั่วไป หมายถึง การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และฟังก์ชั่นการทำงานของอวัยวะเพศเดิมไปยังเพศที่ต้องการ ดังนั้น ศัลยกรรมแปลงเพศชายเป็นหญิง จึงหมายถึงการผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศหญิง ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. การสร้างอวัยวะเพศภายนอกแบบเพศหญิง (vulva)
  2. การสร้างช่องคลอดหรือช่องสืบพันธุ์ (neovagina)

โดยทั่วไปการทำศัลยกรรมแปลงเพศมักจะกระทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการข้ามเพศ ซึ่งหลักการข้ามเพศประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากระดับที่น้อยไปหามาก เช่น การใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้าม การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ และการทำศัลยกรรมร่างกายส่วนอื่นที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า เป็นต้น

ศัลยกรรมแปลงเพศเป็นการผ่าตัดในจุดซ่อนเร้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเติมเต็มความต้องการทางจิตใจเป็นหลัก และเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เมื่อกระทำไปแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินของสมาคมคนข้ามเพศนานาชาติ หรือ World Professional Association for Transgender Health (WPATH)** เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อผ่าตัดไปแล้วจะสามารถใช้ชีวิตในเพศที่ต้องการได้ และลดโอกาสที่จะเกิดการ “ตัดสินใจผิดพลาด” ในการเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ (regression after sex reassignment surgery)

2. การเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดแปลงเพศที่โรงพยาบาลยันฮี

การเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ เริ่มต้นด้วยการซักประวัติ ความต้องการในการเป็นเพศตรงข้าม และขั้นตอนในการข้ามเพศที่ได้กระทำมาแล้ว จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและประเมินความพร้อมในการผ่าตัด ตามเกณฑ์ประเมินดังนี้

  1. มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ในกรณีที่อายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี สามารถผ่าตัดได้แต่ต้องมีผู้ปกครองร่วมเซ็นลงนามด้วย)
  2. ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นคนข้ามเพศ (gender dysphoria)*** และมีใบรับรองจากจิตแพทย์จำนวน 2 ใบ (ในกรณีเป็นการผ่าตัดแก้ไข ไม่ต้องใช้ใบรับรองจากจิตแพทย์)
  3. ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคทางจิตเวช ที่อาจเป็นอันตรายต่อการผ่าตัดใหญ่ หรือการดมยาสลบ
  4. ผ่านการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ อย่างน้อย 1 ปี
  5. ผ่านการใช้ชีวิตเป็นเพศตรงข้าม อย่างน้อย 1 ปี

หลังจากนั้น แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีความผิดปกติหรือมีโรคประจำตัว จะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อร่วมประเมินด้วย

ในกรณีที่คนไข้รับประทานยาหรืออาหารเสริมอยู่ ซึ่งอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน (aspirin) โคลพิโดเกรล (clopidogrel) สมุนไพร เช่น ถั่งเช่า แปะก๊วย โสม กระเทียม น้ำมันตับปลา คอลลาเจน และวิตามินอี จะต้องหยุดรับประทานก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเลือดมากระหว่างการผ่าตัด

ควรหยุดยาฮอร์โมนข้ามเพศทุกชนิดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำระหว่างการผ่าตัด (deep venous thrombosis)

คนไข้ที่สูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบนิโคติน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หมากฝรั่งนิโคติน หรือแผ่นแปะสำหรับเลิกบุหรี่ ต้องหยุดใช้ ก่อนและหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 เดือน เนื่องจากนิโคตินจะส่งผลให้แผลผ่าตัดหายช้าลง สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ควรงดดื่ม 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด และนอกจากนี้ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อนที่มีกากน้อย เพื่อเตรียมลำไส้ให้สะอาด รวมทั้งรักษาสุขอนามัยอวัยวะเพศ ด้วยการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่สำหรับจุดซ่อนเร้น

โรคหรือภาวะที่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมหรือแก้ไขก่อนผ่าตัดแปลงเพศ

  • โรคประจำตัวหรือความพิการแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ หรือโรคไตชนิดรุนแรง
  • โรคเรื้อรังที่อยู่ระหว่างกระบวนการรักษา เช่น โรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)
  • โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี
  • ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (phimosis and paraphimosis) ภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (hypospadias) อัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง (cryptorchidism) ก้อนหรือเนื้องอกของอวัยวะเพศ หรือมีประวัติเคยฉีดสารแปลกปลอมในอวัยวะเพศ เป็นต้น
  • โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) และไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (abdominal hernia)

โรคหรือภาวะที่ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้

  • โรคประจำตัวที่ยังควบคุมได้ไม่ดี
  • โรคทางจิตเวชที่อาการยังไม่คงที่
  • ใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

3. เทคนิคการแปลงเพศจากชายเป็นหญิง

การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง แบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ตามเทคนิคที่ใช้สร้างช่องคลอด ได้แก่

  1. เทคนิคต่อกราฟ
  2. เทคนิคที่ใช้เนื้อเยื่อจากช่องท้อง ได้แก่ การต่อลำไส้ และเยื่อบุช่องท้อง

เทคนิคต่อกราฟ

เทคนิคต่อกราฟ หมายถึง การผ่าตัดแปลงเพศโดยใช้ผิวหนังอวัยวะเพศเดิมมาสร้างเป็นช่องคลอดใหม่ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดช่องท้อง และหลีกเลี่ยงการเกิดแผลเป็นบริเวณหน้าท้องได้ ความลึกของช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับสรีระของอุ้งเชิงกรานคนไข้เป็นหลัก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.5-6 นิ้ว

เทคนิคต่อกราฟเป็นวิธีมาตรฐานสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศครั้งแรก มีความซับซ้อนไม่มาก และความเสี่ยงไม่สูง อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดจะต้องมีการดูแลช่องคลอดใหม่ด้วยการขยายช่องคลอด (แยงโม) อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรก

เทคนิคต่อกราฟ จะสามารถสร้างอวัยวะเพศหญิงภายนอกได้ครบถ้วนและสมบูรณ์ ซึ่งมีองค์ประกอบได้แก่ คลิตอริส (clitoris) กลีบหุ้มคลิตอริส (clitoral hood and frenulum) แคมนอก (labia majora) แคมใน (labia minora) และรูเปิดท่อปัสสาวะ (urethral orifice) อีกทั้งยังสามารถเก็บเส้นประสาทรับความรู้สึกในจุดต่าง ๆ ไว้ได้ครบถ้วนอีกด้วย

ในกรณีที่คนไข้มีผิวหนังอวัยวะเพศน้อย ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการต่อกราฟ แต่ไม่ต้องการที่จะผ่าตัดช่องท้อง สามารถเลือกวิธีต่อกราฟ โดยใช้ผิวหนังจากบริเวณอื่นได้เช่นกัน เช่น จากขาหนีบหรือต้นขา แต่ข้อเสียคือจะมีรอยแผลเป็นเพิ่มเติมในบริเวณที่นำผิวหนังมาใช้

ข้อดี-ข้อเสียของเทคนิคแปลงเพศแบบต่อกราฟ

ข้อดี

  • สามารถสร้างอวัยวะเพศภายนอกได้ครบถ้วนสมบูรณ์
  • สามารถสร้างอวัยวะเพศภายนอกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ช่องคลอดที่มีความลึกและใช้งานได้จริง
  • ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดช่องท้อง

ข้อเสีย

  • ช่องคลอดสามารถตีบตันหรือตื้นลงได้ หากดูแลได้ไม่ดีพอ
  • ไม่มีสารหล่อลื่นภายในช่องคลอด
  • อาจมีแผลเป็นเพิ่มเติมในกรณีที่นำกราฟจากบริเวณอื่นมาใช้

เทคนิคการต่อลำไส้

เทคนิคการต่อลำไส้ต้องทำการผ่าตัดช่องท้อง และใช้ลำไส้ใหญ่มาสร้างเป็นช่องคลอด วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถสร้างช่องคลอดที่มีความลึกได้มากขึ้น มีความคงทนแข็งแรง และไม่มีการตีบตัน อย่างไรก็ตามบริเวณ “ปากทางเข้าช่องคลอด” ยังสามารถตีบแคบลงได้ จากการหดตัวของบาดแผล ดังนั้นผู้ที่แปลงเพศด้วยวิธีนี้จึงยังต้องขยายช่องคลอด เพื่อป้องกันการหดแคบลงของบริเวณปากทางเข้า

เทคนิคการต่อลำไส้ มักใช้ในการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มความลึก หรืออาจทำเป็นการผ่าตัดครั้งแรกก็ได้ ในกรณีที่คนไข้มีผิวหนังอวัยวะเพศน้อย โดยลักษณะของอวัยวะเพศภายนอกจะเหมือนกับแบบต่อกราฟทุกประการ

ผนังช่องคลอดที่สร้างจากลำไส้จะมีเยื่อเมือก ซึ่งมีลักษณะเหนียวข้น และขังอยู่ภายใน ดังนั้นบริเวณปากทางเข้าจึงมักจะแห้ง แพทย์จึงแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลถลอกจากการเสียดสี

ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศด้วยการต่อลำไส้ จะต้องมีการดูแลตนเองในระยะยาวมากกว่าเทคนิคอื่น ๆ จะต้องตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หมั่นคอยตรวจเช็คว่าปากทางเข้ายังคงเปิด เพื่อให้เมือกสามารถระบายออกมาได้ มิเช่นนั้นอาจเกิดภาวะช่องคลอดอุดตัน (neovaginal closed loop obstruction) และหากต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง จะต้องส่องกล้องตรวจภายในช่องคลอดด้วย นอกจากนี้การผ่าตัดเข้าไปในช่องท้อง อาจทำให้เกิดพังผืด (adhesion band) ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องขึ้นในอนาคตได้

ข้อดี-ข้อเสียของเทคนิคแปลงเพศแบบต่อลำไส้

ข้อดี

  • ช่องคลอดมีความลึก มีความคงทนแข็งแรง
  • มีเยื่อเมือกภายในช่องคลอด
  • สามารถสร้างอวัยวะเพศภายนอกได้ครบถ้วนสมบูรณ์
  • มีความรู้สึกทางเพศ และถึงจุดสุดยอดได้

ข้อเสีย

  • ต้องผ่าตัดช่องท้อง และต้องตัดต่อลำไส้
  • ปากทางเข้าช่องคลอดอาจตีบตันได้ ถ้าหากขยายได้ไม่ดี
  • มีโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ของลำไส้ได้ เช่น มะเร็งลำไส้ ลำไส้อักเสบ
  • อาจเกิดพังผืด จากการผ่าตัดเข้าช่องท้อง
  • มีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง

เทคนิคเยื่อบุช่องท้อง

เทคนิคการแปลงเพศโดยใช้เยื่อบุช่องท้อง จะต้องผ่าตัดช่องท้องเช่นเดียวกัน แต่จะใช้ผนังเยื่อบุช่องท้องมาสร้างเป็นช่องคลอดใหม่ (ไม่ต้องตัดต่อลำไส้) วิธีนี้มักจะใช้สำหรับผ่าตัดแก้ไข หรืออาจทำเป็นการผ่าตัดครั้งแรกก็ได้เช่นกัน ในกรณีที่คนไข้มีผิวหนังอวัยวะเพศน้อยไม่เพียงพอสำหรับการต่อกราฟ

เยื่อบุช่องท้องสามารถสร้างสารหล่อลื่นได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำ สีเหลืองใส อย่างไรก็ตามบริเวณปากทางเข้าช่องคลอดยังคงเป็นผิวหนัง ดังนั้นจึงอาจแห้งและเสี่ยงต่อการเกิดแผลถลอกได้เช่นกัน แพทย์จึงแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

ลักษณะของอวัยวะเพศภายนอกที่ผ่าตัดด้วยเทคนิคเยื่อบุช่องท้อง จะเหมือนกับเทคนิคต่อกราฟและเทคนิคต่อลำไส้ทุกประการ

ข้อดี-ข้อเสียของเทคนิคแปลงเพศแบบเยื่อบุช่องท้อง

ข้อดี

  • ช่องคลอดมีความลึกมากกว่าแบบกราฟ
  • มีน้ำหล่อลื่นภายในช่องคลอด
  • สามารถสร้างอวัยวะเพศภายนอกได้ครบถ้วนสมบูรณ์
  • มีความรู้สึกทางเพศ และถึงจุดสุดยอดได้

ข้อเสีย

  • ต้องผ่าตัดช่องท้อง
  • รอยต่อของเยื่อบุช่องท้องบริเวณปากทางเข้าอาจตีบตันได้ ถ้าหากขยายได้ไม่ดี
  • อาจเกิดพังผืด จากการผ่าตัดเข้าช่องท้อง
  • มีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง

4. ความลึกของช่องคลอดที่ได้ มากเท่าไรหลังการแปลงเพศ

การผ่าตัดแปลงเพศแพทย์จะทำการสร้างช่องคลอดที่มีความลึก เท่ากับความลึกของกระดูกเชิงกรานของคนไข้ในแต่ละรายซึ่งอาจไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5.5-6 นิ้ว แต่ถ้าหากผ่าตัดด้วยเทคนิคต่อลำไส้หรือเยื่อบุช่องท้อง อาจมีความลึกเพิ่มมากขึ้นได้อีก 1-2 นิ้ว

5. อวัยวะเพศใหม่จะมีความรู้สึกหรือไม่

แพทย์จะทำการเก็บเส้นประสาทที่รับความรู้สึก เพื่อสร้างเป็นจุดรับความรู้สึกต่าง ๆ ของอวัยวะเพศใหม่ ซึ่งประกอบด้วย คลิตอริส แคมใน และรอบท่อปัสสาวะ ซึ่งการกระตุ้นภายนอกจะมีความรู้สึกทางเพศได้ ส่วนภายในช่องคลอดจะไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกโดยตรง แต่ในบางรายก็อาจมีความรู้สึกทางเพศได้เช่นกันจากการกระตุ้นบริเวณต่อมลูกหมาก (prostate gland)

6. ระยะเวลาพักฟื้นในแต่ละเทคนิคของการผ่าตัด

เทคนิคต่อกราฟ

คนไข้จะนอนโรงพยาบาล 8 คืน ได้แก่ ก่อนผ่าตัด 1 คืน และหลังผ่าตัด 7 คืน

3 วันแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะยังไม่อนุญาตให้คนไข้ลุกจากเตียง ให้รับประทานอาหารอ่อน และจะมีผ้าก๊อซปิดแผลไว้สองชั้น มีสายสวนปัสสาวะและสายเดรนคาไว้

ในวันที่ 4 แพทย์จะเปิดผ้าก๊อซชั้นนอกออก และอนุญาตให้ลุกจากเตียงได้

ในวันที่ 7 แพทย์จะเปิดผ้าก๊อซออกทั้งหมด ถอดสายสวนปัสสาวะและสายเดรนออก และสอนให้ขยายช่องคลอด และหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ สามารถกลับบ้านได้

หลังผ่าตัดด้วยเทคนิคต่อกราฟ ควรหยุดพักรักษาตัวประมาณ 1 เดือน เพราะจะยังเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก และต้องขยายช่องคลอดทุกวัน โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายดี

เทคนิคต่อลำไส้ และเยื่อบุช่องท้อง

เทคนิคต่อลำไส้และเยื่อบุช่องท้อง คนไข้จะนอนโรงพยาบาล 4 คืน ได้แก่ ก่อนผ่าตัด 1 คืน และหลังผ่าตัด 3 คืน โดยแพทย์จะเปิดผ้าก๊อซปิดแผลทั้งหมดในวันที่ 4 ถอดสายสวนปัสสาวะและสายเดรนออก และสอนให้ขยายช่องคลอด และหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ สามารถกลับบ้านได้

หลังผ่าตัดแปลงเพศด้วยเทคนิคต่อลำไส้และเยื่อบุช่องท้อง ควรหยุดพักรักษาตัวประมาณ 1 เดือน ในกรณีผ่าตัดครั้งแรก และ 2 สัปดาห์ในกรณีผ่าตัดแก้ไข

7. การดูแลแผล และการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

การดูแลแผลภายนอก

ยาทาแผลมี 2 ชนิด คือ โพวิโดนไอโอดีนชนิดน้ำ (Povidone Iodine Solution) และชนิดเจล (Povidone Iodine Gel) ยาชนิดน้ำใช้สำหรับทาแผล “แคมนอก” ส่วนยาชนิดเจลใช้สำหรับทาแผลบริเวณแคมในและรอบท่อปัสสาวะ

ภายหลังขับถ่ายและขยายช่องคลอด ควรทำความสะอาดบาดแผลร่วมกับทายาทุกครั้ง และสวมใส่ผ้าอนามัยเพื่อซึมซับคราบเลือด โดยทั่วไปแผลผ่าตัดจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

การดูแลภายในช่องคลอด

ควรใช้วิธีการสวนล้างช่องคลอดทุกครั้งหลังขยายช่องคลอดเสร็จ โดยใช้น้ำเกลือผสมกับยาโพวิโดนไอโอดีนชนิดน้ำ ในอัตราส่วน 1:10 (เช่น ผสมน้ำ 100 ซีซี เข้ากับยา 10 ซีซี) ควรสวนล้างช่องคลอดครั้งละ 100-200 ซีซี

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด

ห้ามนั่งยองหรือแยกขาก่อนที่แผลผ่าตัดจะหายสนิท เนื่องจากจะทำให้แผลปริแยกได้ ไม่ควรใช้น้ำสบู่สวนล้างช่องคลอดเพราะอาจเกิดการระคายเคืองได้ โดยทั่วไปแพทย์จะอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ ภายหลังจากผ่าตัด 1-2 เดือน (เมื่อแผลภายในช่องคลอดหายสนิท) ส่วนกลิ่นภายในช่องคลอดอาจมีได้ในช่วง 3-6 เดือนแรกเนื่องจากยังมีคราบเลือดที่ยังหลงเหลืออยู่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดและของหมักดอง เพราะอาจทำให้บริเวณที่ผ่าตัดบวมได้นาน

8. ความรู้เรื่องการขยายช่องคลอด (แยงโม)

การแยงโมเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกหลังผ่าตัด เนื่องจากกระบวนการหายของบาดแผล จะทำให้มีการหดตัวของช่องคลอด (การหดตัวสามารถเกิดได้ทั้งในเทคนิคต่อกราฟ ต่อลำไส้ และเยื่อบุช่องท้อง) การหดตัวจะมีมากในช่วง 1 ปีแรก และค่อย ๆ ลดน้อยลงหลังจาก 1 ปีไปแล้ว

ควรใช้แท่งขยายช่องคลอดที่แพทย์จัดเตรียมไว้ให้ซึ่งมีความแข็งที่พอเหมาะ ในช่วง 1 ปีแรกควรขยายช่องคลอดวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 30-60 นาที โดยเพิ่มขนาดของแท่งขยายตามที่แพทย์สั่ง หลังจาก 1 ปีไปแล้ว แนะนำให้ขยายช่องคลอดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยใช้แท่งขยายขนาดใหญ่สุด

สำหรับการขยายช่องคลอดด้วยซิลิโคนแบบนิ่ม สามารถใช้เสริมจากการขยายแบบปกติได้ โดยแนะนำให้สอดแท่งซิลิโคนไว้ในช่องคลอดขณะที่เข้านอน แล้วสวมกางเกงชั้นในเพื่อป้องกันไม่ให้แท่งซิลิโคนเลื่อนหลุดออกมา

ข้อมูลโดย : นพ.วรพล รัตนเลิศ

ราคาแปลงเพศคนไทย

ผ่าตัดครั้งแรกด้วยเทคนิคต่อกราฟ

260,000 บาท

ผ่าตัดครั้งแรกด้วยเทคนิคต่อลำไส้

380,000 บาท

แก้ไขความลึกจากที่อื่นด้วยเทคนิคต่อลำไส้

251,000 บาท

แก้ไขภายนอก หลังแปลงเพศจากที่อื่น

ขึ้นกับการประเมินของแพทย์

FAQ คำถามที่พบบ่อย (แปลงเพศจากชายเป็นหญิง)

ถาม
ตอบ

แปลงเพศแบบต่อลำไส้หรือเยื่อบุช่องท้อง ช่องคลอดมีสารหล่อลื่นในตัวเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้เจลหล่อลื่นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ใช่หรือไม่

ไม่ใช่ เนื่องจากบริเวณปากทางเข้าช่องคลอดยังคงเป็นกราฟ (ผิวหนัง) จึงมักจะแห้ง จึงแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลถลอกจากการเสียดสีบริเวณปากทางเข้า

ถาม
ตอบ

แปลงเพศแบบต่อลำไส้หรือเยื่อบุช่องท้องมาแล้วไม่จำเป็นต้องขยายช่องคลอดใช่หรือไม่

ไม่ใช่ เพราะบริเวณปากทางเข้าช่องคลอดยังสามารถตีบแคบลงได้ จากการหดตัวของบาดแผล

ถาม
ตอบ

ช่องคลอดใหม่มีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่

การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดใหม่ มีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับช่องทางอื่น ๆ

ถาม
ตอบ

ควรใช้ยาฮอร์โมนข้ามเพศหลังจากผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่

ภายหลังจากผ่าตัดแปลงเพศ จะต้องใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิงภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด“ภาวะวัยทองจากการผ่าตัด” หรือการขาดฮอร์โมนเพศอย่างฉับพลัน สำหรับหญิงข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงคู่กับยาต้านฮอร์โมนเพศชายก่อนผ่าตัด เมื่อทำการผ่าตัดแปลงเพศไปแล้วสามารถหยุดใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายได้และใช้เฉพาะฮอร์โมนเพศหญิงเพียงอย่างเดียว

ถาม
ตอบ

ควรตรวจติดตามกับแพทย์บ่อยแค่ไหน

ในช่วง 1 ปีแรกควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการหายของบาดแผล และตรวจความลึกของช่องคลอด หลังจาก 1 ปีไปแล้ว ควรพบแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อตรวจอวัยวะเพศภายนอกส่องกล้องตรวจภายใน

References and notes:

*แพทยสภา. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. ๒๕๕๒. ราชก เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๗๗ ง. หน้า ๓๗๒๕๕๒.

**Coleman E, Bockting W, Botzer M, Cohen-Kettenis P, DeCuypere G, Feldman J, et al. Standards of Care for the Health of Transsexual, Transgender, and Gender-Nonconforming People, Version 7 2012. Available from: https://www.wpath.org/ publications/soc.

***บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับที่ 11 (ICD-11) ซึ่งองค์การอนามัยโลกวางแผนจะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2022 ได้มีการปรับเปลี่ยนคำโดยเรียกภาวะนี้ว่า “gender incongruence of adolescence or adulthood” แทนคำว่า “gender dysphoria”