เมื่อพูดถึง ไส้เลื่อน โดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ชายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไส้เลื่อนสามารถเกิดกับผู้หญิงได้เช่นกัน เพียงแต่ผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นไส้เลื่อนมากกว่า ดังนั้น โรคไส้เลื่อนจึงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และจากจำนวนผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนพบว่า ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคไส้เลื่อนหนึ่งข้าง จะมีโอกาสเป็นอีกหนึ่งข้างได้มากกว่าคนปกติ
มีความเชื่อผิดๆ ที่บอกต่อกันมาอยู่หนึ่งเรื่อง หลายคนคงจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ‘ถ้าไม่ใส่ กางเกงใน จะทำให้เป็นไส้เลื่อน’ ทำให้ผู้ชายแทบทุกคนมีวินัยในการใส่กางเกงในมาก ความจริงแล้วการไม่สวมใส่กางเกงใน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคไส้เลื่อนแต่อย่างใด คุณผู้ชายทั้งหลายสบายใจได้เลยค่ะ แต่ภาวะอ้วนลุงพุงต่างหากที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไส้เลื่อนมากกว่า ดังนั้น การออกกำลังกาย ดูแลรูปร่าง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เชื่อว่าทุกคนคงมีคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโรคนี้ อธิบายได้ง่ายๆ คือ “ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่” เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องด้านหน้า ร่วมกับ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ถูกพยุงด้วยเยื่อบุช่องท้องและกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง หากเยื่อบุช่องท้องและกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องมีความผิดปกติหรือมีความอ่อนแอ ก็จะทำให้ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้องได้นั่นเอง
ไส้เลื่อนประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 70% ของโรคไส้เลื่อนทั้งหมด และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไส้เลื่อนขาหนีบเกิดจากลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้องบริเวณที่ผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ หากเกิดในผู้หญิงจะมองเห็นเป็นก้อนตุงที่ขาหนีบ ส่วนในผู้ชายจะไหลลงถุงอัณฑะ ที่เรียกว่า ไส้เลื่อนลงอัณฑะ หรือ ไส้เลื่อนลงไข่ นั่นเอง ก้อนนี้จะมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ มองเห็นได้ในขณะที่ลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย แต่เวลานอนหงาย ก้อนนี้จะมีขนาดเล็กลงหรือยุบหายไป
ไส้เลื่อนกะบังลมเกิดจากส่วนใดส่วนหนึ่งของกระเพาะอาหารยื่นออกมานอกช่องท้อง ผ่านรูบริเวณกะบังลมเข้าไปอยู่ในช่องอก กะบังลมเป็นแผ่นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่สำคัญในระบบการหายใจ และยังทำหน้าที่กั้นอวัยวะในช่องอกและช่องท้องออกจากกัน ไส้เลื่อนประเภทนี้ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป หากพบในเด็กโดยมากมักจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติแต่กำเนิด ไส้เลื่อนกระบังลมมักทำให้เกิด โรคกรดไหลย้อน จึงทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกร่วมด้วย
สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กและทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เกิดขึ้นได้เมื่อลำไส้ไหลผ่านผนังหน้าท้องที่อยู่ใกล้กับสะดือ โดยอาจสังเกตเห็นลำไส้ยื่นออกมาบริเวณใต้หรือใกล้กับสะดือ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กหรือทารกกำลังร้องไห้ ไส้เลื่อนสะดือเป็นไส้เลื่อนประเภทเดียวที่มักจะไม่มีอันตรายและสามารถหายไปได้เอง โดยส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบ แต่หากไม่หายอาจต้องได้รับการผ่าตัด ในผู้ใหญ่ก็พบได้บ่อยๆ เช่นกัน
ไส้เลื่อนประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นหลังจากได้รับการผ่าตัดช่องท้อง ลำไส้อาจเลื่อนไหลออกมานอกช่องท้องบริเวณแผลผ่าตัดหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่อ่อนแอโดยรอบ
แพทย์มักวินิจฉัยจากอาการของคนไข้ได้แก่ ปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดเกร็งในช่องท้อง และตรวจพบว่ามีก้อนตุงออกมาตามตำแหน่งต่างๆ ของไส้เลื่อน เช่น หน้าท้อง สะดือ ขาหนีบ มีก้อนเคลื่อนลงไปที่อัณฑะ เมื่อกดลงไปจะไม่เจ็บ มีลักษณะนิ่มๆ หากเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบจะโป่งนูนออกมาเวลายืนหรือออกแรงเบ่ง หากก้อนดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้นานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ลำไส้ถูกบีบ ขาดเลือด ทำให้ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็ง ไม่ถ่ายอุจจาระ เมื่อกดลงไปแล้วจะรู้สึกเจ็บ นอกจากการซักประวัติและการตรวจพบก้อนแล้ว คนไข้บางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวด์ หรือ การเอกซเรย์
1.การผ่าตัดแบบมาตรฐาน (หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผล) โดยแพทย์จะพิจารณาจากผู้ป่วยกรณีที่ไส้เลื่อนลงมาบริเวณขาหนีบและมีขนาดใหญ่มาก เป็นการทำการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง จากนั้นดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม ใส่ตาข่ายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง วิธีผ่าตัดแบบมาตรฐานเป็นวิธีที่นิยมใช้ และจะใช้ในกรณีที่คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยด่วน
2.การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ใช้ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดไม่ใหญ่มากและไส้เลื่อนลงมาบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง หรือกรณีไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำ แต่หากผู้ป่วยมีปัญหา ไอเรื้อรัง ต้องเบ่งปัสสาวะจากกรณี ต่อมลูกหมากโต จำเป็นต้องรักษาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นก่อนทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันโรคไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำ
การผ่าตัดทั้งสองวิธีนี้ แพทย์อาจใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยหรือใช้ตาข่ายสังเคราะห์มาปิดบาดแผล ซึ่งร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาห่อหุ้มตาข่ายจนสมานเข้ากับเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย ดังนั้น ในระยะพักฟื้น ผู้ป่วยไม่ควรเพิ่มความดันในช่องท้อง โดยการหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอหรือจาม ไม่เบ่งถ่ายอุจจาระบ่อย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เช่นนั้นอาจทำให้กลับมาเป็นซ้ำได้
ในกรณีแพทย์ทำการผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องนอนราบ ไม่หนุนหมอน ประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปวดศีรษะ แต่สามารถยกแขนหรือตะแคงตัวไปมาได้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดซึม ปวดแผลมากขึ้น ปวดปัสสาวะแต่เบ่งไม่ออก ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที หลังผ่าตัด 8 ชั่วโมง สามารถลุกนั่ง ยืน เดิน และทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ควรบริหารร่างกายบ่อยๆ เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2-3 วัน เมื่อออกจากโรงพยาบาล ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งและมาพบแพทย์ตามนัด
สำหรับคุณผู้ชายที่กังวลว่าจะเป็นไส้เลื่อนลงอัณฑะ สามารถป้องกันได้โดยการตรวจหาความผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะด้วยตัวเองค่ะ การตรวจใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที โดยเวลาที่เหมาะสมคือหลังอาบน้ำ เพราะผิวหนังบริเวณอัณฑะจะมีความหย่อน ทำให้คลำได้ง่าย การตรวจทำได้โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค่อยๆ คลำเคลื่อนไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่ามีก้อนหรือการอักเสบเกิดขึ้นหรือไม่ ปกติแล้วบริเวณด้านหลังจะคลำได้ส่วนหยุ่นๆ ขนาดเล็ก แต่หากคลำได้ก้อนหรือส่วนใดผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งความผิดปกตินั้นอาจเป็นเส้นเลือดขอดหรือถุงน้ำบริเวณถุงอัณฑะได้
สำหรับคนที่กลัวว่าจะเป็นโรคไส้เลื่อนต้องหมั่นดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพื่อลดอาการไอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการยกของหนักๆ หรือก้มเก็บสิ่งของแบบผิดวิธี และที่สำคัญควรพบแพทย์เพื่อ ตรวจสุขภาพประจำปี จึงจะเป็นแนวทางป้องกันโรคไส้เลื่อนได้
ผ่าตัดไส้เลื่อนโดยระงับความรู้สึกเฉพาะที่
พัก 2 คืน
60,000 บาท
ผ่าตัดไส้เลื่อน โดยดมยาสลบ
พัก 2 คืน
60,000 บาท
ผ่าตัดไส้เลื่อน โดยเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่าย
พัก 2 คืน
70,000 บาท
ผ่าตัดไส้เลื่อนโดยผ่านกล้อง 1 ข้าง
พัก 2 คืน
111,000 บาท
ผ่าตัดไส้เลื่อนโดยผ่านกล้อง 2 ข้าง
พัก 2 คืน
131,000 บาท
ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบ /ข้างเดียว ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
พัก 2 คืน
60,000 บาท
ศัลยกรรมตกแต่งและความงามยอดนิยม