chat
ค่ารักษาไตวาย

คุณรู้จักโรคไตวายดีพอรึยัง

ความเสี่ยงในการเป็นโรคไต

สำหรับโรคไตนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 8 ชนิดด้วยกันคือ

ไตวายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

อาการที่เราจะสงสัยได้ว่าเป็นโรคไตหรือไม่

การรักษาด้วยการล้างไต สามารถทำได้ 2 วิธี

คุณรู้จัก โรคไตวาย ดีพอรึยัง

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อคนเราอายุมากขึ้นแล้วระบบการทำงานในร่างกายจะเสื่อมโทรมลง ซึ่ง ‘ไต’ ก็ถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญและมีโอกาสเสื่อมโทรมได้ ลองคิดดูสิว่าหากวันนี้คุณไม่มีไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือไตของคุณพังจนใช้การไม่ได้อีก ก็คงจะมีของเสียที่คั่งค้างเต็มร่างกายไปหมดและยังส่งผลร้ายต่อระบบภายในอื่นๆ อีกด้วย ฉะนั้นอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนถึงวันที่คุณต้องเป็นโรคไตและเสียมันไปจะดีกว่า

หากจะว่าไปแล้ว ‘ไต’ถือว่าเป็นอีกอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่ไม่เคยมีเวลาได้หยุดพักเลยสักวันเดียว แถมยังทำงานหนักและทำหลายหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น กำจัดของเสีย สารแปลกปลอมออกมากับปัสสาวะ, ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย, รักษาสมดุลน้ำ, รักษาสมดุลเกลือแร่, รักษาสมดุลกรดด่าง, ควบคุมความดันโลหิต ไปจนถึงการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น Erythropoietin ที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง

ไต ” เป็นอวัยวะที่มีอยู่ 2 ข้าง อยู่ด้านหลังชายโครงบริเวณบั้นท้ายเอว รูปร่างคล้ายถั่ว จะประกอบไปด้วย หน่วยไต (Nephron) จำนวนมาก เมื่อเราอายุมากขึ้นหน่วยไตนี้ก็จะลดจำนวนลง เสื่อมสภาพลงไปตามอายุ และจะไม่สามารถแบ่งตัวใหม่ได้อีก

ความเสี่ยงในการเป็นโรคไตวาย

  • คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
  • โรคหัวใจ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไตอักเสบชนิดต่างๆ
  • คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเก๊าท์
  • โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ

หรือมีคนใดในครอบครัวเป็นโรคไต แม้กระทั่งคนที่ใช้ยาแก้ปวดหรือสัมผัสสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งหมดนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับ โรคไตวาย นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 8 ชนิดด้วยกัน คือ

  • โรคเส้นเลือดฝอยที่ไตอักเสบ (Glomerulonephritis)
  • โรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ (Interstitial nephritis)
  • โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
  • โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure)
  • โรคความผิดปกติของเกลือแร่และความเป็นกรด – ด่างในร่างกาย (Electrolyte and acid-base abnormality)
  • ภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
  • โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ

ซึ่งใน 8 โรคนี้มีโรคหนึ่งที่น่ากลัวอยู่ไม่ใช่น้อยนั่นก็คือ โรคไตวาย เป็นภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาทางปัสสาวะ รวมทั้งไม่สามารถขับเกลือแร่ต่างๆ ออกมาทางปัสสาวะได้ตามปกติ เป็นผลทำให้ของเสียเหล่านั้นเกิดการคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดไม่สามารถขจัดออกไปจากร่างกายได้ ส่งผลต่อระบบการทำงานของไตให้เสื่อมลงและส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกายทุกส่วนตาม

ไตวายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

1. ไตวายเฉียบพลัน จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว การทำงานของไตลดลงเฉียบพลันเพราะเลือดที่ไปเลี้ยงไตมีน้อยลง เช่น คนไข้ที่อยู่ในภาวะช็อก คนไข้ที่ได้รับสารหรือยาพิษต่อไต และคนไข้ที่เสียเลือดนานๆ ซึ่งภาวะไตวายเฉียบพลันนั้นสามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานปกติได้ ภายใน 1-4 สัปดาห์

2. ไตวายเรื้อรัง จะเป็นโรคที่ส่งผลให้ไตทำงานลดลง ทำลายเนื้อไตอย่างช้าๆ จนไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ คนไข้ที่เป็นไตวายเรื้อรังจะมีของเสียคั่งค้างในร่างกายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนใหญ่แล้วจะพบในคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานนั่นเอง

อาการที่เราจะสงสัยได้ว่าเป็นโรคไตวายหรือไม่

สังเกตได้จากอาการบวมที่ใบหน้า เท้า ขา ลำตัว และหนังตา, มีอาการยุบบริเวณหน้าแข้ง, ปวดข้อ, ผมร่วง และอาการสืบเนื่องหลังจากเป็นโรคไตแล้ว จะรู้สึกปวดหลังและคลำเจอก้อนบริเวณไต, มีอาการคลื่นไส้, ท้องอืด, อ่อนเพลีย, ไม่มีแรง, อาเจียน, เบื่ออาหาร, ปัสสาวะผิดปกติ มีสีปัสสาวะขุ่น เป็นฟอง เป็นเลือดสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ และรู้สึกแสบ เป็นต้น

ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงจนถึงขั้นไม่รู้สึกตัว มีอาการชัก และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีอาการใดๆ ที่น่าสงสัยอยากให้คุณปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไป

ซึ่งการรักษาไตวายเรื้อรังในปัจจุบันนั้นยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถหยุดการเสื่อมสภาพของไตหรือลดของเสียในร่างกายได้ คนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการล้างไตเพื่อรักษาอาการของโรคไตวายเรื้อรังเท่านั้น

การรักษาด้วย การล้างไตสามารถทำได้ 2 วิธี

การล้างทางช่องท้องอย่างถาวร โดยการผ่าตัดใส่สายยางลงในช่องท้อง เพื่อใส่น้ำล้างไตเข้าไปแล้วทิ้งไว้ 4-6 ชั่วโมง เพื่อฟอกและล้างเอาของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งหลังการใส่สายในช่องท้องแล้ว คนไข้สามารถกลับบ้านเพื่อไปทำด้วยตนเองได้ แต่ต้องมีผู้ดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำยาให้อย่างถูกวิธี ต้องระมัดระวังในเรื่องของการเปลี่ยนถุงและรักษาความสะอาด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในช่องท้องได้ ควรทำเช่นนี้วันละ 4 รอบต่อเนื่องทุกวัน

-ข้อดีของวิธีนี้คือคนไข้สามารถทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องพึ่งไตเทียม ดำรงชีวิตได้ตามปกติ และยังเหมาะกับทุกเพศทุกวัยอีกด้วย

การฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม คนไข้ต้องมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อฟอกเอาของเสียออกจากเลือดในร่างกาย มีตัวกรองเป็นตัวกลางในการกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออก โดยเลือดจะไหลผ่านตัวกรองนั้นซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ เหมือนหลอดเลือดฝอยที่มีรูขนาดเล็กมากๆ อยู่ที่ผนังของหลอด และมีน้ำยาฟอกเลือดไหลผ่านอยู่ด้านนอกหลอด ของเสียที่มีระดับสูงในเลือดจะเคลื่อนผ่านผนังของตัวกรองเข้าไปอยู่ในน้ำยาฟอกเลือด ทำให้ระดับของเสียในเลือดลดลง น้ำและเกลือแร่จะมีการเคลื่อนผ่านผนังของตัวกรอง ทำให้ระดับเกลือแร่และดุลของน้ำเป็นปกติ หลังจากนั้นเลือดที่ผ่านการฟอกแล้วจะถูกส่งกลับคืนให้ผู้ป่วย ส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาในการทำแต่ละครั้งประมาณ 3-5 ชั่วโมง และจะทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

นอกจากวิธีการรักษาด้วยการล้างไตแล้ว ยังสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไตอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด แต่ตัวคนไข้เองต้องมีสภาพร่างกายที่เหมาะสมกับการผ่าตัดเปลี่ยนไต พูดง่ายๆ ก็คือ การผ่าตัดเพื่อนำเอาไตของผู้บริจาคมาใส่ในร่างกายเรา โดยไตของผู้บริจาคเองต้องสามารถเชื่อมเข้ากันกับร่างกายของเราได้ด้วยซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากหากไม่ใช่คนในครอบครัว

หลังจากที่ได้เข้ารับการรักษาโรคไตวายแล้ว คนไข้ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  • การเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้พอเพียง
  • งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำสะอาดอย่างพอเพียง
  • ระวังอย่าให้เกิดท้องเสีย เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ เพราะในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังอยู่แล้วหากมีอาการท้องเสียจะทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง และเกิดไตวาย เฉียบพลันได้
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเองเป็นประจำ หากรับประทานยาแล้วไม่หายควรปรึกษาแพทย์ตามอาการของโรคต่อไป
  • อย่ากินยาชนิดเดียวกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ยาแก้ปวด เป็นต้น

อย่าลืมว่าสุขภาพตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการอยู่ในสังคมทุกวันนี้ให้ได้อย่างปลอดภัย หากคุณเองมีข้อสงสัยว่าจะเป็นโรคไตหรือไม่นั้น ให้รีบปรึกษาศูนย์แพทย์ที่เกี่ยวกับโรคไต เพราะที่นั่นจะมีทั้งแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านไตและเครื่องมือที่พร้อมในการตรวจหรือรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไตโดยเฉพาะ

ค่ารักษา ไตวาย

ผ่าตัดหลอดเลือดสำหรับฟอกไต โดยใช้เส้นเลือดธรรมชาติ

42,000 บาท

ผ่าตัดหลอดเลือดสำหรับฟอกไต โดยใช้สายฟอกไตชนิดกึ่งถาวร

พัก 1 คืน

55,000 บาท

ผ่าตัดหลอดเลือดสำหรับฟอกไต โดยใช้เส้นเลือดเทียม

59,000 บาท

ล้างไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั่วไป ต่อครั้ง

2,000 บาท

ล้างไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน ต่อครั้ง

3,500 บาท