chat

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง

ถ้าคุณเป็นคนอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ แถมยังชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวอยู่บ่อยๆ ขี้เกียจออกกำลังกาย ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือแม้แต่เป็นคนที่ชอบสูบบุหรี่จัด ให้คุณเตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลย เพราะเมื่อไหร่ที่คุณยังคงใช้ชีวิตประจำวันอย่างตามใจปาก ในอนาคตอันใกล้นี้คุณมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคไขมันในเลือดสูงแน่ๆ

ขึ้นชื่อว่าไขมันก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ซะทีเดียว เพราะว่าร่างกายของคนเรานั้นยังจำเป็นต้องมีไขมันเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน สร้างฮอร์โมนและวิตามินบางชนิด แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ไขมันในเลือดมาจากการรับประทานอาหารมีปริมาณที่มากจนเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันเหล่านั้นไปอุดตันหลอดเลือดเมื่อไหร่ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต

สำหรับการวัดระดับไขมันในเลือด จะวัดเป็นคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ซึ่งวัดแบ่งย่อยไปตามหน้าที่จำเพาะ ระดับไขมันในเลือดที่ตรวจวัด คือ ระดับคอเลสเตอรอลรวมต้องน้อยกว่า 200 มก/ดล

ระดับ LDL-C คอเลสเตอรอล (LDL-C คือ คอเลสเตอรอลในอณูไขมันและโปรตีนความหนาแน่นต่ำ) ควรต่ำกว่า 150 มก/ดล ในคนทั่วไป (แต่หากมีโรคเบาหวาน หรือ โรคหัวใจตีบ ควรต่ำกว่า 100 มก/ดล) เพราะ LDL คือ ไขมันไม่ดี ควรต่ำ

ระดับ HDL-C คอเลสเตอรอล (HDL-C คือ คอเลสเตอรอลในอณูไขมันและโปรตีนความหนาแน่นสูง) ควรมากกว่า 40 มก/ดล เพราะ HDL คือ ไขมันดี ควรสูง

และ ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ต้องน้อยกว่า 150 มก/ดล ซึ่งหากระดับไขมันในเลือดไม่เป็นไปตามค่าที่กำหนดไว้ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดยิ่งขึ้น

คราวนี้มาดูกันสิว่าอะไรคือสาเหตุตัวการที่ทำให้ค่าต่างๆ ที่เรากล่าวไปเมื่อกี้ไม่เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น ซึ่งระดับไขมันในเลือดผิดปกตินี้อาจเกิดจากปัจจัย เช่น พันธุกรรม หรือความเจ็บป่วยบางประการ ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคตับ, ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือจากยา เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ และที่สำคัญคือ ไขมันในเลือดผิดปกติจากการเลือกรับประทานอาหารไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวมาก และ/หรือคอเลสเตอรอลมาก ได้แก่ กะทิ มันหมู เนย หนังสัตว์ ไข่แดง และเครื่องในสัตว์ ส่วนอาหารที่มีไตรกลีเซอร์ไรด์สูงได้แก่ อาหารให้พลังงานเกินความจำเป็น การรับประทานน้ำตาลมาก และการดื่มสุรา

รู้สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงกันไปแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลามาเช็คกันต่อว่าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือด คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน, ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ ผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี, ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเสียชีวิตกะทันหัน โดยผู้ชายเป็นเมื่ออายุไม่เกิน 45 ปี ผู้หญิงเป็นเมื่ออายุไม่เกิน 65 ปี หรือ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง, เป็นเบาหวาน หรือ สูบบุหรี่ นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไขมันในเลือดสูงยังรวมถึง ผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับระดับไขมันผิดปกติ เช่น โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง หรือกลุ่มอาการบวมจากไต, ผู้ที่มีการตรวจพบลักษณะที่มีการบ่งชี้ว่ามีระดับไขมันสูงในเลือด เช่น ก้อนไขมันบริเวณหัวตา ข้อศอก เอ็นร้อยหวาย หรือก้อนไขมันใต้ผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายหัวสิวบริเวณหลังและสะโพกอีกด้วย ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการตรวจแล้วพบว่าระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติควรตรวจซ้ำ 1-3 ปี สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ควรตรวจระดับไขมันในเลือด ตั้งแต่อายุ 35 ปี และควรได้รับการตรวจซ้ำทุก 5 ปี

แน่นอนว่าเมื่อเริ่มเป็นโรคไขมันในเลือดสูงแล้ว การดูแลตัวเองที่นอกเหนือจากการรับประทานยาแล้ว ที่สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องของการเลือกรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกตินั้นเริ่มต้นด้วยการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา ร่วมกับการใช้ยาเมื่อมีความจำเป็น

สำหรับการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การงดสูบบุหรี่ การควบคุมน้ำหนักตัว การผ่อนคลายความเครียด การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง ซึ่งพื้นฐานสำคัญของการป้องกันและการรักษาภาวะไขมันผิดปกติในเลือด ควรปฏิบัติตามที่แพทย์และนักโภชนาการแนะนำอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาไม่ได้ผลจึงใช้ยาร่วมด้วย ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมเป็นรายๆ ไปและจะมีการปรับขนาดยาจนกระทั่งสามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้แพทย์จำเป็นต้องให้การรักษาภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูงและเบาหวานร่วมด้วย ถ้าคนไข้มีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูง บริโภคคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มก./วัน เมื่อคนไข้สามารถควบคุมอาหาร ลดน้ำหนักตัวและออกกำลังกายแล้วแต่ยังไม่สามารถลดระดับไขมันให้เป็นปกติ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเพื่อลดไขมัน ทั้งนี้การตรวจโลหิตวัดระดับไขมัน ควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ถ้าตรวจพบว่ามีระดับปกติ  แต่ถ้าสูงหรือขณะที่ได้รับการรักษาด้วยอาหาร การออกกำลังกาย ลดน้ำหนักตัว หรือรับประทานยาลดคอเลสเตอรอล จะต้องตรวจโลหิตตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา

แม้ว่าการรับประทานไขมัน หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเพียงแค่ไม่กี่มื้อจะเป็นเรื่องที่ใครหลายคนมองข้ามไป แต่อยากให้คุณระลึกไว้เสมอว่า หากมีการรับประทานไขมันในแต่ละมื้อไม่ว่าจะมากหรือน้อย และไม่ได้มีการเผาผลาญหรือใช้พลังงานออกไป หรือพูดง่ายๆ กินแล้วนอนนั่นแหละคือบ่อเกิดของการสะสมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคุณในอนาคต ทางที่ดีควรรับประทานอาหารและใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะดีที่สุด

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม