chat

โรคในผู้สูงอายุ

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพผู้สูงวัยไทย เนื่องจากในปีนี้เป็นวาระที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คาดการณ์ว่าจะมีคนไทยที่อายุครบ 60 ปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคน ส่งผลให้ปัญหาด้านสุขภาพและโรคภัยในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและเรียนรู้ เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยในครอบครัว โรงพยาบาลยันฮีในฐานะองค์กรด้านสุขภาพชั้นนำของประเทศซึ่งมีศูนย์ผู้สูงอายุยันฮีเปิดให้บริการเพื่อรับดูแลผู้สูงอายุทั้งที่ดูแลตัวเองได้และดูแลตัวเองไม่ได้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือ “โรคคนแก่” ซึ่งรวบรวมมาจากสถิติของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลยันฮี 10 อันดับแรก

โรคพาร์กินสัน

โรคความดันโลหิตสูง

โรคเบาหวาน

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

หลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

โรคซึมเศร้า

โปรแกรมคัดกรองสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์)

โรคพาร์กินสัน

เริ่มต้นด้วยโรคที่โรงพยาบาลยันฮีมีบริการให้คำปรึกษาและดูแลรักษาโดยตรงอย่าง “โรคพาร์กินสัน” หลายคนอาจเคยเห็นผู้สูงอายุทั่วไปมีอาการมือเท้าสั่นอันเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เนื่องจากขาดสารโดปามีนในสมอง เป็นสารสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

เมื่อเซลล์สมองในตำแหน่งที่สร้างสารโดปามีนเสื่อมและตายไปจนไม่สามารถสร้างสารได้เพียงพอ จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการสั่นที่มือและเท้าซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีก ส่งผลให้การเดินหรือการเคลื่อนไหวช้าลง ปัจจุบันโรคพาร์กินสันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด นอกจากการรักษาทั่วไปด้วยการทำกายภาพบำบัดตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว การรักษาทางยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นรวมถึงยับยั้งการลุกลามของโรคให้ช้าลงได้

โรคความดันโลหิตสูง

“โรคความดันโลหิตสูง” เป็นผู้ที่มีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีระดับไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยเป็นโรคไตหรือเบาหวาน คนที่ทานอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ คนที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่ รวมทั้งคนที่เกิดอารมณ์เครียดอยู่เสมอ อาการที่ปรากฏ ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • แน่นหน้าอก
  • อ่อนเพลีย
  • ใจสั่น
  • นอนไม่หลับ

หากเป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำร่วมกับการให้ยาลดความดันโลหิต และตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน หากเป็นชนิดที่มีสาเหตุมาจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ แพทย์จะให้ยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุ พยายามควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และให้คนไข้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

โรคเบาหวาน

อีกโรคที่มาควบคู่กับความดันโลหิตสูง คือ “โรคเบาหวาน” มักเกิดจากการละเลยเรื่องอาหารการกินและการดูแลสุขภาพจนนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ได้แก่

อาการหมดสติจากน้ำตาลในเลือดต่ำ/สูง หรือการติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ทำให้หลอดเลือดตีบแข็งในอวัยวะต่างๆ

เบาหวานขึ้นตาทำให้ตาบอด

ไตเสื่อม

เส้นประสาทเสื่อม

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

อัมพาต

“เบาหวาน” เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ โดยกลุ่มอาการประกอบด้วย ปัสสาวะบ่อยครั้ง, ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน, กระหายน้ำบ่อย, น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ, อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เมื่อเกิดแผลจะหายช้ากว่าปกติ หลักการรักษาโรคเบาหวาน ต้องอาศัยการรักษาด้วยยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือการฉีดอินซูลิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคนี้ เป็นผลเกี่ยวเนื่องกันกับ 2 โรคก่อนหน้านี้ คือ โรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน เพราะหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคดังกล่าวมาก่อน จะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูงได้ รวมทั้งผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นคนอ้วน และคนที่สูบบุหรี่จัด เมื่อใดก็ตามที่ไขมันในเลือดมาจากการรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป อาจเป็นคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันเหล่านี้จะไปอุดตันหลอดเลือดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคอัมพาตได้ ดังนั้น หลักในการดูแลตัวเองที่ดีที่สุด คือ

  • ควบคุมการรับประทานอาหาร
  • งดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัว
  • ผ่อนคลายความเครียด

โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

อีกหนึ่งปัญหาที่มักสร้างความลำบากใจในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ คือ ระบบขับถ่ายจากการเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ท้องอืด และท้องผูก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการทานอาหารและการขับถ่าย เพราะผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปากและฟันที่เสื่อมสภาพ ทำให้เกิดปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด

หลอดเลือดหัวใจตีบ

“หลอดเลือดหัวใจตีบ” หรือ “หัวใจขาดเลือด” เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีผลสืบเนื่องมาจากอีก 3 โรคข้างต้น เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว เนื่องจากหลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพไปกระตุ้นให้ผนังด้านในหลอดเลือดแข็งและหนาตัว มีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด ซึ่งจะค่อยๆ พอกตัวขึ้นทีละน้อยจนทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง สำหรับปัจจัยเสี่ยงมักเกิดในกลุ่มผู้สูงวัย รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมือนกับกลุ่มเสี่ยงโรคไขมันในเลือดสูงทุกประการ เพิ่มเติมคือการดื่มแอลกอฮอล์และความเครียดร่วมด้วย

สัญญาณอันตรายมักสังเกตได้จากอาการเจ็บหน้าอก, แน่นหน้าอก, เหนื่อยง่าย, เหงื่อออกง่าย, เจ็บร้าวบริเวณต้นแขน ต้นคอ ขากรรไกร และแผ่นหลัง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดกิน หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ให้ยาต้านเกร็ดเลือดเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดหัวใจ และให้ยาควบคุมโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยในการทำงานของสมอง โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติเพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ เมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

ทั้งนี้ ที่โรงพยาบาลยันฮีมีโปรแกรมตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์ โดยแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ขณะที่อาการนอนไม่หลับในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้มากเนื่องจากการทำงานของร่างกายที่เสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดลง

โรคซึมเศร้า

สุดท้ายคือ “โรคซึมเศร้า” เกิดจากการสื่อประสาทและการหลั่งสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก ประกอบกับอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มหมดแรงบันดาลใจหรือเป้าหมายในการใช้ชีวิต บางรายต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังโดยไร้ลูกหลานมาดูแล เกิดความเหงา ความเครียด และความวิตกกังวลจากปัญหาสุขภาพจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ การบำบัดรักษาสามารถใช้ได้ทั้งยาในการควบคุมสารสื่อประสาทและการหลั่งสารเคมีในสมอง กับยาทางใจที่ลูกหลานสามารถให้กำลังใจ คอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

ราคาการตรวจรักษาปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่โรงพยาบาลยันฮี

โปรแกรมตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์

19,000 บาท

อัตราค่ารักษาพยาบาลโรคพาร์กินสัน, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน