โรคอ้วนกับการควบคุมน้ำหนัก

“โรคอ้วน” (obesity) หมายถึง ภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อระบบเมตาบอลิกและความเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ จากข้อมูลเชิงสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2017 ได้ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคนจากปัญหาน้ำหนักตัวเกินกว่าค่าปกติ ซึ่งในระดับสากลกำหนดว่าต้องสูงกว่าค่ามาตรฐานของดัชนีมวลกาย 30 แต่คนไทยซึ่งมีรูปร่างทางกายภาพเล็กกว่าพลเมืองในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดค่ามาตรฐานต่ำกว่าอยู่ที่ 25 ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามและไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในภาวะปกติ แต่ความจริงแล้วได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

มูลเหตุที่ก่อให้เกิดความหิวของมนุษย์

แนวทางในการต่อสู้กับโรคอ้วนและควบคุมน้ำหนักในปัจจุบัน

โภชนาการเพื่อการควบคุมน้ำหนัก

ความสำคัญของการรับประทานโปรตีนลูงในช่วงลดน้ำหนัก

5 กระบวนการในการลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนัก

ผลข้างเคียงจากการควบคุมค่าดัชนีน้ำตาล

วิธีเก็บรักษายาฉีดควบคุมความหิว

สำหรับประเทศไทยได้มีการสำรวจข้อมูลเชิงสถิติของประชากรไทยในปี 2016 พบว่ามีจำนวนคนที่อยู่ในภาวะโรคอ้วนมากถึง 7 ล้านคน และมีค่ามาตรฐานดัชนีมวลกายสูงกว่าปกติถึง 23 ล้านคน เปรียบเทียบอัตราส่วนด้วยตัวแปรเรื่องเพศเป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 41 และผู้ชายร้อยละ 32 อยู่ในอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากมาเลเซียที่มีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงสุขภาวะการบริโภคของคนไทยที่คุ้นชินกับพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ปรับพฤติกรรมการควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในค่ามาตรฐานเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง

ผู้ที่เข้ามาอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เพื่อการควบคุมน้ำหนักและรักษาโรคอ้วนอย่างจริงจังจะต้องเริ่มต้นจากการตรวจประเมินองค์ประกอบของร่างกายด้วยเทคนิคต่างๆในเบื้องต้นก่อนเพื่อประเมินปริมาณไขมัน ได้แก่ การวัดสัดส่วนของร่างกาย การวัดความหนาแน่นของร่างกาย การวัดชั้นไขมันใต้ผิวหนัง และใช้วัดค่าดัชนีมวลกายจากน้ำหนัก-ส่วนสูง เป็นต้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนนอกจากสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายแล้วยังพบว่าการกระจายตัวของเนื้อเยื่อไขมันมีผลต่อปัญหาสุขภาพเช่นกัน หากมีไขมันในช่องท้องในปริมาณมากย่อมทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงอีกด้วย

มูลเหตุที่ก่อให้เกิดความหิวของมนุษย์

สามารถจำแนกได้ออกเป็น ความหิวอันเกิดจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร (Hungry Gut) ร้อยละ 18 ฮอร์โมนความหิวที่หลั่งมาจากสมองร้อยละ (Hungry Brain) 16 ความหิวที่เกิดจากอารมณ์ (Emotional Hunger) ร้อยละ 12 และจากการเผาผลาญอย่างช้า (Slow Burn) อีกร้อยละ 12 ปัจจุบันทางการแพทย์มีการตรวจ Body Composition หรือองค์ประกอบของร่างกายโดยใช้เครื่องที่ Dual-Energy X-ray Absorptiometry (DXA หรือ DEXA) โดยเครื่องนี้เป็นการสแกนร่างกาย ซึ่งจะแสดงผลให้เห็นปริมาณกล้ามเนื้อ ปริมาณไขมัน และปริมาณกระดูก รวมไปถึงการวัดองค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analysis)

แนวทางในการต่อสู้กับโรคอ้วนและควบคุมน้ำหนักในปัจจุบัน

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตทั้งการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพฤติกรรมบำบัดซึ่งมีข้อบ่งชี้ในผู้มีกาวะน้ำหนักเกินทุกราย

การใช้ยา มีข้อบ่งชี้เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตแล้วไม่ประสบผลสำเร็จร่วมกับมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กก./ตร.ม. หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 27 กก./ตร.ม. ร่วมกับภาวะแทรกซ้อน

การผ่าตัด มีข้อบ่งชี้เมื่อผู้ป่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตแล้ว ไม่ประสบผลสำเร็จร่วมกับมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก./ตร.ม. ร่วมกับภาวะแทรกซ้อน

ทั้งนี้ การปรับพฤติกรรมสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการประเมินตัวเอง (Self Monitoring), จดบันทึกอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน โดยให้รายละเอียดทั้งชนิด ปริมาณ และจำนวนพลังงานที่ร่างกายได้รับ, อ่านฉลากโภชนาการ และชั่งนํ้าหนักเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมสิ่งกระตุ้น (Stimulus control) ควบคู่ไปกับการลดสิ่งกระตุ้นในทางลบ เพิ่มการกระตุ้นทางบวกจำกัดการทานอาหารเฉพาะในห้องอาหาร ไม่ทานอาหารนอกเวลาหรือมื้อดึก อันเกิดจากความอยากอาหารไม่ใช่ความหิว อย่างไรก็ตาม สมาชิกในครอบครัว คนรอบข้าง รวมทั้งตัวเองต้องสร้างพลังบวกและส่งกำลังใจให้การควบคุมน้ำหนักและดูสุขภาพประสบความสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่แพทย์และคนไข้วางแผนร่วมกันให้ได้

สำหรับวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ประกอบด้วย

  • ลดปริมาณอาหาร
  • เลือกวิธีที่คนไทยสามารถทำได้จริงในระยะยาว
  • ปรับรูปแบบการบริโภคอาหาร
  • เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทานอาหาร
  • การจำกัดพลังงานจากอาหาร

โภชนาการเพื่อการควบคุมน้ำหนัก ประกอบด้วย

การจำกัดพลังงานจากอาหาร (Carolic Restriction) เป็นการสร้างสมดุลพลังงาน (ระหว่างพลังงานเข้าและออก) เป็นพื้นฐานของการควบคุมน้ำหนักตลอดช่วงชีวิต เพื่อควบคุมปริมาณพลังงานเข้าไม่ให้มากเกินไป ร่วมกับการมีกิจกรรมทางกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน ปรับการบริโภคอาหารร่วมกับการเพิ่มการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เพื่อให้มวลกล้ามเนื้อไม่สูญสลายอย่างรวดเร็ว ยังคงระดับการเผาผลาญพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุด

ปรับรูปแบบการบริโภคอาหาร (Dietary Pattern) ซึ่งมีหลากหลายวิธีการที่น่าสนใจ ได้แก่ การรับประทานอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) ซึ่งเป็นรูปแบบการทานอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลเมติเตอร์เรเนียน ซึ่งมีงานวิจัยออกมาว่ายืนยันรูปแบบการทานอาหารแบบนี้ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน รวมไปถึงลดโอกาสเสี่ยงทีจะเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกด้วย โดยจะเน้นรับประทานพืชผักผลไม้เป็นหลัก และเน้นการกิน “ไขมันดี” ใช้น้ำมันมะกอกและเครื่องเทศในการปรุงอาหาร นับว่าเป็นอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักและดีต่อสุขภาพ

การทานอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) จำแนกออกเป็นสองแบบคือ มังสวิรัติไม่เคร่ง (Vegetarian) เป็นการทานมังสวิรัติที่ยังทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์จำพวกนมหรือไข่ได้ และมังสวิรัติเคร่ง (Vegan) จะไม่ทานไข่หรือนมเลย สำหรับคนที่เป็นมังสวิรัติไม่เคร่งที่สามารถทานนมหรือไข่ได้ ไม่ควรเลือกทานอาหารสังเคราะห์เนื่องจากอาหารจำพวกนี้มีไขมันและโซเดียมสูงเพราะจะทำให้อ้วนขึ้นได้ง่ายมาก

การใช้ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) คือ ค่าที่ใช้บ่งบอกถึงความสามารถของอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตว่ามีผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น โดยแบ่งได้ทั้งหมด 3 ระดับ คือค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ กลาง และสูง การเลือกทานอาหารควรเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้บ่อยกว่าอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและสูง อาหารแต่ละประเภทแม้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตใกล้เคียงกัน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ค่าดัชนีน้ำตาลแตกต่างกัน

อาหารลดความดัน (Dash Diet) คือ แนวทางการกินอาหารตามหลักโภชนาที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันหรือลดความดันโลหิตสูงโดยเฉพาะ (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) โดยมีหลักการคือเน้นกินใยอาหาร โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ ร่วมกับการลดปริมาณโซเดียม ไขมัน และคอเลสเตอรอล

การทานอาหารแบบนอร์ดิก (Nordic Diet) คือ อาหารที่มุ่งเน้นการบริโภคอาหารที่มาจากท้องถิ่นในประเทศยุโรปตอนเหนือหรือประเทศในแถบนอร์ดิก ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ โดยเป็นหนึ่งในอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการน้ำหนักนิยมบริโภคนอกเหนือไปจากอาหารคลีนและอาหารคีโตเจนิค (Ketogenic Diet)

นอกจากนี้ยังมีวิธีการทำ IF, การลดน้ำหนักด้วยอาหารคีโต, การลดน้ำหนักแบบนับแคลอรี่, การทานแบบลดแป้ง-น้ำตาล Atkins, การรับประทานอาหารตามคนยุคหิน Paleo Diet, การทานอาหารมังสวิรัติ ฯลฯ รับประทานอาหารพลังงานต่ำ (Low Carolie Diet), อาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index), อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carbohydrate Index), อาหารไขมันต่ำ (Low Fat Diet) จำแนกเป็นอาหารไขมันต่ำที่มีพืชผักเป็นหลัก (Low fat-plant based diet หรือ LFPB) หรือ “อาหารโลว์คาร์บ” แป้งต่ำมีเนื้อสัตว์เป็นหลัก (Low carb-animal based diet หรือ LCAB) และอาหารสำหรับทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) ได้รับการออกแบบมาให้ใช้แทนอาหารปกติ โดยควบคุมแคลอรีที่ได้รับให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการลดน้ำหนักอีกด้วย สำหรับการควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้ทานอาหารอาหารสำหรับทดแทนมื้ออาหาร 1-2 มื้อต่อวัน โดยมักจะเป็นมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น

ความสำคัญของการรับประทานโปรตีนสูงในช่วงลดน้ำหนัก

โปรตีนสูงช่วยควบคุมความหิว ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดความอยากอาหาร

โปรตีนสูงช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานหลังอาหารได้ดีกว่าคาร์โบไฮเดรตและไขมัน

โปรตีนสูงช่วยให้ลดนํ้าหนักได้มากกว่า เมื่อรับประทานอาหารพลังงานตํ่าในช่วงโปรแกรมลดนํ้าหนัก

โปรตีนช่วยให้ลดนํ้าหนักได้สำเร็จในระยะยาว ช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อในช่วงที่ลดนํ้าหนัก

การลดน้ำหนักด้วยวิธี IF หรือ Intermittent Fasting คือ การลดน้ำหนักแบบจำกัดช่วงเวลาการกิน โดยที่นิยมคือกิน 8 ชั่วโมง และอด 16 ชั่วโมง ซึ่งช่วงอดร่างกายจะดึงไขมันที่สะสมออกมาใช้

ในช่วงเวลาที่อดอาหาร(Fasting) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ลดลง ส่งผลให้การเปลี่ยนนํ้าตาลในเลือดไปเป็นไขมันลดลง ทำให้การกักเก็บไขมันใต้ผิวหนังและนํ้าหนักลดลง และช่วงที่ระดับอินซูลิน (Insulin) ลดลง ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน(Growth Hormone) และนอร์อีพิเนฟริน(Norepinephrine) เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและเพิ่มการเผาผลาญพลังงานให้สูงขึ้น โดยไม่ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงเหมือนการอดอาหารอย่างต่อเนื่อง รูปแบบ Intermittent Fasting (IF) นั้นมีหลากหลาย แต่ที่นิยมทำกันมาก ได้แก่•แบบ Lean Gains หรือเรียกอีกอย่างว่าสูตร IF 16/8 การกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง โดยเป็นสูตรที่แนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มทำ แบบ Fast 5 เป็นการกินอาหารเพียง 5ชั่วโมงและอดอาหาร 19 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง, แบบ Eat Stop Eat คือ อดอาหาร 24 ชั่วโมง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่ไม่อดก็กินได้ตามปกติ แต่ต้องกินอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

5 กระบวนการในการลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนัก ประกอบด้วย

สอบถามข้อมูลเบื้องต้น (Initiate) เพื่อประเมินสุขภาพขั้นพื้นฐาน ค่าน้ำหนักตัว พฤติกรรมการกิน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐาน

วินิจฉัย (Diagnose) เพื่อเข้าถึงปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ค่าไขมันในเลือด ความดันหิต ค่าน้ำตาลในเลือด ฯลฯ รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ เป็นต้น

ระดมความคิดเห็น (Discuss) แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่กระบวนการวางแผนการรักษา และกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้แพทย์และคนไข้ประสานความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ขั้นตอนการบำบัดรักษา (Treat) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลให้คำแนะนำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรสหวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำหนัก ได้แก่ นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารมาช่วยวางแผนมื้ออาหาร พยาบาล เภสัชกร ทีมแพทย์ผ่าตัด ทีมแพทย์ดูแลเรื่องการออกกำลังกาย ฯลฯ

ติดตามประเมินผล (Follow-up) ว่าค่าน้ำหนักมีความเสถียรหรือผันแปรไปตามตัวแปรใดก็ตามทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น ค่า BMI, สัดส่วนของร่างกายและน้ำหนัก (Body composition), โรควินิจฉัยร่วม (Co morbid disease Indication), การออกกำลังกาย, ควบคุมสิ่งกระตุ้นเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ, สุขภาวะการนอน, สุขภาวะทางอารมณ์ ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ได้ผลลัพธ์การรักษาอย่างเสถียรในระยะยาวต่อไป

ผลข้างเคียงจากการควบคุมค่าดัชนีน้ำตาล (Effective Management of GI Side Effects)

เป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยและเกิดในระยะอันสั้นเท่านั้น โดยเน้นให้ทานอาหารที่มีกากใยและดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อให้สุขภาวะการขับถ่ายดีขึ้น ทั้งยังพิจารณาให้ลดขนาดของยาลงหากมีอาการข้างเคียงมากขึ้น

1) การใช้ยาฉีดควบคุมความหิว : อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการลดน้ำหนักที่โรงพยาบาลยันฮี

ยาลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาและไทย ถูกพัฒนาในรูปของยาฉีดควบคุมความหิว ใช้ปริมาณยาในแต่ละครั้ง 18 มิลลิกรัม สำหรับฉีดบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หรือต้นแขนของผู้มารับบริการ เพื่อใช้ลดน้ำหนักในระยะยาว โดยแพทย์เป็นผู้กำหนดปริมาณโดสยาที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักได้ดีที่สุด ยาชนิดนี้เป็นเปปไทด์โปรตีนที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon-like peptide-1, GLP-1) ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนในทางเดินอาหารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดที่มีอยู่แล้วในร่างกายของเรา ซึ่งจะหลั่งออกมาหลังจากที่รับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว หลังจากยาเข้าสู่กระแสเลือดจะส่งสัญญาณลดความอยากอาหารไปที่สมอง ทำให้หิวน้อยลง, ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น ย่อยช้าลง จึงทานอาหารได้น้อยลง, ช่วยลดการผลิตน้ำตาลที่ตับ กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินมาช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่ทำให้น้ำตาลตกหรือวูบ เพราะยาจะออกฤทธิ์เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้วเท่านั้น

วิธีเก็บรักษายาฉีดควบคุมความหิว

การจัดเก็บยาฉีดควบคุมความหิวต้องควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ในตู้เย็นอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส ยาฉีดหลังเปิดใช้ครั้งแรกแล้วให้เก็บที่อุณหภูมิห้อง มีอายุอยู่ได้ 1 เดือน ห้ามแช่ยาฉีดในห้องแช่แข็ง ควรสวมปลอกยาทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน ให้ใช้ยาฉีดแต่ละครั้งสำหรับผู้ป่วยรายเดียวเท่านั้น ไม่ควรใช้ร่วมกันถึงแม้จะเปลี่ยนหัวเข็มก็ตาม

2) การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร


เป็นการลดน้ำหนักโดยส่องกล้องใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหารคล้ายกับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารทั่วไป ภายในบอลลูนจะใส่น้ำเกลือผสมกับสารสีฟ้าที่เรียกว่าเมทิลีนบลู (Methylene Blue) ในปริมาตร 400-500 ซีซี เพื่อลดพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มตลอดเวลา และรับประทานอาหารได้ลดลงกว่าเดิม โดยบอลลูนสามารถปรับเพิ่มหรือลดขนาดได้ภายหลัง แต่หากผู้ป่วยพอใจกับน้ำหนักที่ลดลงแล้วก็สามารถนำบอลลูกออกก่อนครบ 1 ปีได้ โดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่า 24 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 1 ปี

3) การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดความอ้วนสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและกลัวความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เพื่อลดขนาดของกระเพาะอาหารให้เล็กลง หรือลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ช่วยให้อิ่มเร็ว ลดความอยากอาหาร และทานอาหารได้ในปริมาณที่น้อยลง เพราะในกระเพาะอาหารของเรามีฮอร์โมนกรีลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็น “ฮอร์โมนความหิว” ที่กระตุ้นความอยากอาหาร เมื่อผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลงก็จะตัดส่วนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ออกไปด้วย ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลง ถือเป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ในระยะยาวการผ่าตัดลดความอ้วนจะสามารถลดน้ำหนักได้ร้อยละ 15-30 จากน้ำหนักตั้งต้น

แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

เพิ่มเติม

หัตถการของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ