chat

โรคออฟฟิศซินโดรม

โรคออฟฟิศซินโดรม

โรคออฟฟิศซินโดรม
นอนไม่หลับ ปวดคอ บ่า ไหล่ สัญญาณของโรคออฟฟิศซินโดรม

อยู่ๆ ก็นอนไม่หลับ ปวดหลัง บ่า ไหล่ ใครมีอาการเหล่านี้ อาจเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงานแล้วนะคะ

รู้หรือไม่? ว่าการนั่งทำงานในออฟฟิศเฉยๆ เป็นเวลานาน ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายได้เหมือนกัน … หากคุณเป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ทุ่มเทเวลาและแรงกายในการทำงาน จนเริ่มมีอาการปวดตามหลัง ไหล่ คอ ปวดหัว ปวดตา จนพาลให้นอนไม่หลับแล้วล่ะก็ อย่าได้มองข้ามเชียว เพราะเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรค “ออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา หรือป้องกันตั้งแต่ต้น ก็อาจกลายเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้

สังคมในปัจจุบันหนุ่มสาววัยทำงานต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานตลอดเวลาจนแทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือความเครียดจากการทำงานที่ต้องเร่งรีบให้ทันท่วงที บวกกับเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า จึงมักชอบทำงานกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ที่พกพาสะดวก ทำให้ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน ไม่ค่อยได้พัก จนส่งผลให้เป็นโรคติดงาน(Workaholic) สิ่งเหล่านี้เองที่ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ ทั้ง หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ หรือที่เรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม”

อาการยอดฮิต ของโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดตึงบริเวณ คอ บ่า ไหล่ จากการนั่งท่าเดิมนานๆ
  2. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ที่พัฒนามาจากอาการปวดเรื้อรัง จนเกิดการอักเสบ เส้นประสาทตึงตัว
  3. อาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดร้าวถึงตา หรือปวดกระบอกตา เนื่องจากการใช้สายตามาก มีความเครียดสะสม
  4. อาการเหน็บชาและแขนขาอ่อนแรง เกิดจากการนั่งนานเกินไป จนการไหลเวียนเลือดผิดปกติ
  5. นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท เกิดจากความเครียด หรือจากอาการปวดมารบกวนเวลานอนเป็นระยะๆ

หากมีอาการ แล้วไม่เปลี่ยนพฤติกรรม อาจทำให้อาการเล็กน้อยแปรเปลี่ยนเป็นอันตรายได้ เช่น

  • เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดเลยทีเดียว
  • เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียดสะสม ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน
  • เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย

สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม

  • จากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ ต่อเนื่อง และไม่มีการยืดหรือขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
  • เกิดจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ การเพ่งและใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ และปวดตาได้
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ
  • ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป
  • ภาวะเครียดจากงาน งานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายเกิดความตึงเครียด

การรักษาออฟฟิศซินโดรม

  1. การรักษาด้วยยา
  2. การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถท่าทางให้ถูกต้อง
  3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
  4. การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม

จะเลี่ยงภาวะออฟฟิศซินโดรมได้อย่างไร

ควรปรับพฤติกรรม ลดความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินพอดี เริ่มจากใช้เวลาในการทำงานกับเวลาในการพักผ่อนให้มีความสมดุล การไปนวดบำบัด ทำสปา หรือกดจุดบ้าง ก็เป็นผลดี เพราะศาสตร์เหล่านี้เป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาอาการปวดเมื่อยหรือความตึงเครียดได้เบื้องต้น สำคัญที่สุดควรมีการพักผ่อนในระหว่างการทำงานบ้าง เช่น กะพริบตาบ่อยๆ ยืด เหยียดขยับกล้ามเนื้อมือและแขนในทุกๆ 1 ชั่วโมง เปลี่ยนท่านั่งในการทำงานทุก 20 นาที พักสายตาจากคอมพิวเตอร์บ้าง โดยเฉลี่ยทุกๆ 10 นาที วางข้อมือในตำแหน่งตรง ไม่บิด หรืองอข้อมือขึ้นหรือลง ท่านั่งก็ควรนั่งตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้

ในส่วนของสภาพแวดล้อมในออฟฟิศ ควรปรับเปลี่ยนเพื่อให้บรรยากาศดูโล่ง โปร่งสบาย ไม่อึดอัด เช่น ควรเปิดหน้าต่างออฟฟิศให้อากาศระบาย อย่างน้อยในตอนเช้าที่อากาศยังไม่ร้อนมาก และตอนออกไปพักกลางวัน ลองหาต้นไม้ให้ร่มมาปลูก เพื่อช่วยซับสารพิษและเป็นที่พักสายตายามอ่อนล้าจากการจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ ทั้งนี้ถ้าเป็นไปได้ควรปิดคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและความเครียดได้

ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือโต๊ะทำงานให้มีคุณภาพ ถูกต้องกับสุขลักษณะและสรีระ ก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้มากขึ้น อาทิ ตั้งจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดไว้ในแนวตรงกับใบหน้า ขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ระดับสายตาในท่านั่งที่คุณรู้สึกสบาย จอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างเท่ากับความยาวแขน ซึ่งเป็นระยะที่อ่านสบายตา การใช้เมาส์ควรพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ ควรปรับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยปรับความสว่างให้มากประมาณสามเท่าจากความสว่างของสภาพแวดล้อม และควรปรับสีของจอให้สบายตา เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าตัวอักษรสีเข้มบนพื้นจอสีอ่อนจะทำให้สบายตา ในส่วนของโต๊ะทำงานควรปรับให้ขอบของเบาะเก้าอี้ต่ำกว่าระดับเข่า และควรมีที่รองแขนที่อยู่ในระดับข้อศอกและไหล่อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายด้วย บนโต๊ะทำงานควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

เรียกได้ว่าสิ่งที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวคุณเองเป็นหลัก ทั้งเรื่องของการให้ความสำคัญกับการพักผ่อน การออกกำลังกาย และหากสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ก็ยิ่งเป็นผลดีกับคุณภาพชีวิตของตัวคุณเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน วันๆ ต้องทำแต่งาน ไม่อาจหลบหนีความเครียด ความวุ่นวายไปได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่เป็นผลพวงให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ ลองให้เวลาตัวเองสักนิด หันกลับมาดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเอง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม