chat

โรคหัวใจในเด็ก

โรคหัวใจในเด็ก

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้…เพื่อรับมืออย่างเข้าใจ

คนเป็นพ่อแม่เมื่อคลอดลูกออกมา…วินาทีแรกที่เห็นหน้าลูกคืออยากให้เขามีอวัยวะครบสามสิบสอง สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในบางครั้งอาการผิดปกติบางอย่างก็ไม่สามารถตรวจพบได้ในทันที และหากได้รู้ว่าลูกตัวน้อยป่วยด้วยโรคหัวใจ ก็ยิ่งสร้างความวิตกกังวลและความทุกข์อย่างใหญ่หลวงสำหรับคนเป็นพ่อแม่

ถ้าพูดถึงเรื่องโรคหัวใจในเด็ก ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัดอยู่มาก หลายคนสงสัยและนึกไม่ถึงว่าโรคหัวใจเกิดขึ้นกับเด็กได้ด้วยหรือ?

“โรคหัวใจ” สามารถเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ และในบางรายยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บางรายตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือมีอาการเมื่ออายุ 1-2 เดือนไปแล้ว ซึ่งอาการที่ตรวจพบขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ

โรคหัวใจในเด็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จากสถิติพบว่าเด็กไทยแรกเกิดทุกๆ 1,000 คน จะมี 8 คนที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือประมาณร้อยละ 70-80 ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคนี้อาจตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังคลอด หรือเมื่อโตแล้ว สาเหตุของความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งชัดเจน แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายสาเหตุ อาจเกิดจากพันธุกรรม เด็กมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น Down’s syndrome มารดาได้รับเชื้อในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เช่น หัดเยอรมัน, โรคประจำตัว, โรคเบาหวาน เป็นต้น มีประวัติความผิดปกติของหัวใจในครอบครัว มารดามีอายุมาก มารดาดื่มเหล้า กินยาบางชนิด หรือได้รับรังสีบางอย่างขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กคลอดก่อนกำหนด เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในเด็กได้ โดยอาการที่พบขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค ทารกบางรายอาจไม่มีความผิดปกติเลย แต่ในขณะที่บางรายมีอาการรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ

(1) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดมีอาการตัวเขียว โดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปาก อาจเป็นหลังคลอดเพียงไม่กี่เดือน ชนิดที่พบได้บ่อยคือ ผนังกั้นหัวใจมีรูรั่วระหว่างห้องล่างของหัวใจ ร่วมกับการตีบของทางออกของห้องล่างขวา, ชนิดที่ขั้วหัวใจและปอดสลับกัน, โรคหัวใจพิการแบบซับซ้อน และความผิดปกติของเส้นเลือดปอดที่นำเลือดกลับมายังหัวใจ

(2) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ไม่มีอาการตัวเขียว คือ ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องบนมีรูรั่ว, ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจห้องล่างมีรูรั่ว และมีความผิดปกติของเส้นเลือดใหญ่ระหว่างหัวใจและปอด

อาการที่พบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เด็กบางคนอาจจะไม่มีความผิดปกติเลย แต่ในขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดมีมากจนไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ได้หลังคลอด บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้อาการเลวลง หรือบางรายไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที จนทำให้เสียชีวิตได้

โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง

โรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นหลังคลอด ที่พบได้บ่อยคือ

(1) โรคหัวใจรูมาติก  โรคนี้มักพบในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป สาเหตุมาจากไข้รูมาติก อาการคือ เป็นไข้ ปวด และบวมตามข้อ ผิวหนังมีผื่นแดง และชั้นใต้ผิวหนังมีตุ่มแข็ง หากมีหัวใจอักเสบร่วมด้วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หอบ ขาและเท้าบวม หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ถ้าเป็นแล้วจะรักษาให้หายขาดได้ยากมาก ดังนั้น ต้องให้ความดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

(2) โรคคาวาซากิ  มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด อาการคือ มีไข้สูง 3-5 วัน ตาแดง ริมฝีปากแดง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอ มีผื่น มือบวม เท้าบวม โดยอาการเหล่านี้อาจทำให้การโป่งพองของเส้นเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้องก็จะสามารถช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ได้

(3) โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ที่พบได้บ่อยคือ เชื้อคอกซากิไวรัส อาการของเด็กที่ติดเชื้อคือ เป็นไข้ อ่อนเพลีย หอบ มีผื่น หัวใจเต้นเร็ว และอาจเกิดอาการหัวใจวาย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

(4)โรคหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียทุกชนิดเป็นสาเหตุของการอักเสบของหัวใจ ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุภายในหัวใจได้ ในสมัยก่อนสาเหตุของการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจในเด็กไทยที่พบบ่อยคือ โรคคอตีบ ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน จึงพบได้น้อยมาก และอีกเชื้อที่พบบ่อยคือ เชื้อหนอง เช่น แผลพุพองตามผิวหนัง เป็นต้น

(5)โรคหัวใจเหน็บชา เกิดจากการขาดวิตามินบีหนึ่ง วิตามินชนิดนี้มีมากในผัก ผลไม้ เนื้อหมู ไข่แดง ข้าวกล้อง หากรับประทานอาหารครบหมู่จะสามารถป้องกันโรคหัวใจเหน็บชาได้ ดังนั้น มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ควรงดของแสลง ก็จะทำให้สามารถลดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ เนื่องจากในสมัยก่อนพบทารกที่เป็นโรคนี้มากเนื่องจากความเชื่อเรื่องการงดทานอาหารแสลงที่ไม่ถูกต้องนี้ แต่ปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง

(6)ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วผิดปกติเป็นๆ หายๆ หากมีอาการนานเกิน 24 ชั่วโมง อาจมีภาวะหัวใจวายได้

นอกจากนี้ ยังมีโรคหัวใจในเด็กอื่นๆ คือ โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย ไตวายเรื้อรัง และความผิดปกติทางพันธุกรรม

โรคหัวใจในเด็กสามารถสังเกตอาการได้จากอาการตัวเขียวกับหัวใจวาย ซึ่งอาการตัวเขียวสามารถสังเกตได้ง่าย แต่อาการหัวใจวายหลายครั้งไม่อาจสังเกตได้ทันที พ่อแม่แทบจะไม่รู้เลยว่าตอนนี้ลูกกำลังมีภาวะหัวใจวายเกิดขึ้น เพราะหัวใจวายในเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง พ่อแม่ต้องคอยสังเกตภาวะหัวใจวายในเด็ก ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กแรกเกิดอาจหายใจ 40 ครั้งต่อนาที แต่เด็กที่หัวใจวายจะมีอาการแย่ลง หายใจหอบถี่ อาจหายใจเร็วถึง 60 ครั้งต่อนาที แม้ในขณะนอนหลับ

สังเกตจากการกินนม เด็กทั่วไปจะดูดรวดเดียวหรือพักครั้งเดียว และกินนมอิ่มไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่เด็กที่เป็นโรคหัวใจต้องหยุดกินนมเป็นพักๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมแม่หรือนมจากขวด ดูดได้พักเดียวต้องหยุดหอบ แล้วค่อยกลับไปดูดใหม่ กว่าจะอิ่มต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจในการสังเกตเพราะส่วนใหญ่แล้วมักเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการดังกล่าวให้สงสัยไว้ก่อนว่าเด็กเป็นโรคหัวใจ หรืออาการเลี้ยงไม่โต หมายถึงเด็กได้รับโภชนาการที่เหมาะสม แต่สัดส่วนระหว่างส่วนสูง น้ำหนักตัว และอายุ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน พ่อแม่ควรสังเกตและสงสัยไว้ก่อนว่าต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กโดยกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกาย, ซักประวัติ, เอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography), การใส่สายสวนหัวใจและการฉีดสี, การตรวจด้วยเครื่องพลังแม่เหล็ก MRI

เมื่อตรวจวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใดแล้ว กุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจจะสามารถทำการรักษาได้โดยการให้ยาในกรณีที่มีภาวะหัวใจวาย การทำหัตถการบางอย่างเพื่อซ่อมแซมความผิดปกติ ซึ่งในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจได้ทุกอายุ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักตัว สิ่งที่สำคัญก็คือ

พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจถึงการดำเนินของโรคหัวใจชนิดนั้นๆ มีความรู้และเข้าใจถึงการให้ยา การเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน การสังเกตอาการผิดปกติเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อผ่อนคลายความวิตกกังวลและเป็นทุกข์ของคนในครอบครัว และเพื่อเป็นการสร้างเด็กให้มีสุขภาพจิตที่ดี เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคมและประเทศเช่นเดียวกับเด็กปกติได้

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์กุมารเวช

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม