chat

โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

ปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้ ภัยมืดที่คุณไม่ควรมองข้าม

โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

เป็นอีกหนึ่งโรคที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันที โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวมาก่อนว่ากำลังเป็นโรคดังกล่าว หลายๆ คนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมบางคนถึงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ทั้งๆ ที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ แถมออกกำลังกายเป็นประจำ

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โรคลมปัจจุบัน ทางการแพทย์เรียกว่า CVD หรือ Cerebrovascular disease คือ ภาวะที่มีความบกพร่องของการทำงานของสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke)หรือหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) สมองจึงขาดเลือดไปเลี้ยง ทำใหเซลล์ประสาทในสมองตาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศที่เจริญแล้ว นับได้ว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่สำคัญของความพิการที่รุนแรง สำหรับในประเทศไทยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายหรือพิการสูงเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากโรคเอดส์และอุบัติเหตุ และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิงรองจากโรคเอดส์ พบได้บ่อยในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 65 ปี และพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

โดยทั่วไปโรคหลอดเลือดสมองนี้ สมองอาจขาดเลือดทันทีภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง แต่ไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอาการที่เห็นได้ชัด คือ อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เดินเซ พูดไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย อาการต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่ขาดเลือด ความผิดปกติของหลอดเลือดที่ทำให้สมองขาดเลือด มีสาเหตุสำคัญที่ควรคำนึงอยู่ 2 ประการ คือ หลอดเลือดสมองอุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก

1.หลอดเลือดสมองอุดตัน (Ischemic stroke)

เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากหลอดเลือดสมองตีบ อาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

2.หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ที่มักมีสาเหตุจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

  1. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
  2. เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
  3. ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
  4. พันธุกรรม โรคหลอดเลือดสมองเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม จากผลการวิจัยพบว่า คนที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือญาติ เป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่มีญาติเป็นโรคนี้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก หรือดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่พอจะควบคุมได้บางส่วน คือ

  1. โรคบางอย่างได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นรัว (AF, Atrial Fibrillation)โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คนที่เคยมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตชั่วคราวมาแล้ว
  2. การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%
  3. ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
  4. การขาดการออกกำลังกาย
  5. อาชีพ คนที่ว่างงานหรือทำงานบ้าน จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่ทำงานนอกบ้าน
  6. ถิ่นที่พักอาศัย แน่นอนอยู่แล้วว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ย่อมมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าคนภาคอื่นๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีความกดดันมากกว่า
  7. ยาเสพติด
  8. การหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอน

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

อาการจากโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์เป็นอาการที่เกิดทันที เป็นนาทีหรือชั่วโมง โดยอาการขึ้นกับตำแหน่งสมองส่วนที่ขาดเลือด ซึ่งที่พบบ่อยได้แก่

  • แขน ขา ครึ่งซีกอ่อนแรงทันที
  • ใบหน้า ชา เบี้ยวครึ่งซีก
  • สับสน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง หรือพูดไม่ได้
  • กลืนอาหารลำบาก สำลัก
  • อาจมีตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพเพียงบางส่วน หรือเห็นภาพได้แคบลง
  • อาจหายใจเหนื่อยหอบ ติดขัด/หายใจลำบาก
  • มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้
  • ปวดศีรษะรุนแรงทันที
  • ถ้าเกิดจากมีเลือดออกในสมอง ความดันในสมองมักขึ้นสูงส่งผลให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน
  • เมื่อมีอาการมาก อาจหมดสติ โคม่า และเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด

อาการสำคัญที่สุดที่ช่วยการวินิจฉัยโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์หรือโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วย 4 อาการหลักที่เรียกว่า ฟาส (FAST) คือ

F : Facial palsy คือ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
A : Arm drip คือ แขนอ่อนแรง ไม่มีแรง
S : Speech คือ พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
T : Time คือ มีอาการ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ภายใน 4.5 ชั่วโมง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการทุเลาลง มีความพิการน้อยที่สุด และป้องกันการเกิดซ้ำ แต่การที่จะรักษาโรคหลอดเลือดสมองให้ได้ผลดีนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญคือ (1) เวลา หมายถึง ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้มากเท่านั้น (2) ความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่า จะมีโอกาสหายได้มากกว่า และ (3) ความพร้อมของเทคโนโลยีในการรักษา ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ที่เหมาะสมและยาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) ในระยะเฉียบพลันที่มีการศึกษายืนยันแล้วว่าได้ผลดีชัดเจน ได้แก่

  1. การให้ยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drug) ทางหลอดเลือดดำภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะมีอาการดีขึ้นภายหลังได้รับยา 24 ชั่วโมง และมีอาการเกือบปกติที่เวลา 3 เดือน ประมาณ 30% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา
  2. การให้ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันซ้ำและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลง
  3. การให้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant) เลือกใช้ในกรณีการอุดตันของหลอดเลือดเกิดจากก้อนเลือดจากหัวใจ,เป็นต้น
  4. ยาลดความดันโลหิต ถ้าความดันโลหิตสูงมาก อาจทำให้มีเลือดออกในเนื้อสมองหรือทำให้สมองบวมเพิ่มขึ้น แพทย์พิจารณาให้ยาลดความดันโลหิตเป็นราย ๆ ไป
  5. . การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute Stroke Unit) เป็นการรักษาที่สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการลงได้อีกวิธีหนึ่ง
  6. กายภาพบำบัด ฟื้นฟูแขน ขาที่อ่อนแรง,ฝึกพูด,กลืน ช่วยเหลือตนเอง
  7. การผ่าตัดเปิดกะโหลก (Hemicraniectomy) การรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะพิจารณาทำเฉพาะกรณีที่มีอาการสมองบวมที่รุนแรง และมีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ในสมองเท่านั้น และสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ การควบคุมโรคประจำตัว การป้องกันภาวะแทรกซ้อน การทำกายภาพฟื้นฟู และคนในครอบครัวร่วมมือกันในการดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยที่กำลังท้อแท้ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย

ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อย่างไร

เราสามารถป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้คือ การป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่พูดถึงในตอนต้น คือ ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงหนาตัวและแข็งด้วยการไม่สูบบุหรี่ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม งดอาหารที่มีรสเค็ม ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แป้งและน้ำตาลที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจวัดความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือด และโรคหัวใจ เพื่อให้การรักษาและควบคุมโรคตั้งแต่เนิ่นๆ รวมทั้งกินยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดตามที่แพทย์แนะนำ

ถึงแม้ว่าโรคนี้อาจจะเป็นภัยเงียบและเป็นโรคอันตราย แต่ถ้ามีการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย เฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็สามารถทุเลาระดับความรุนแรงของโรคลงได้ เพื่อให้เกิดความพิการน้อยที่สุด และเป็นการป้องกันการเกิดโรคซ้ำอีกครั้ง

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม