chat

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

เคยรู้สึกไหมเวลากินอะไรเข้าไปแล้ว เกิดอาการจุก เสียด แน่นเรอ บางทีก็เผลอผายลม และเกิดอาการท้องเสียสลับกับท้องผูกบ้างก็มี หลายครั้งที่กินยาผิดๆ ถูก ๆ เพราะไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

IBS ถือเป็นโรคยอดฮิตของคนในเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบตั้งแต่อาบน้ำ แต่งตัวเพื่อให้ทันตอกบัตรทำงาน รีบทานอาหารในแต่ละมื้อ บางคนรวมมื้อเช้ากับมื้อเที่ยงเข้าด้วยกัน เสร็จแล้วก็รีบทำงานให้เสร็จ จนละเลยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่รวมถึงการออกกำลังกาย วงจรชีวิตจึงถูกความเร่งรีบครอบงำ บีบรัดด้วยสภาวะแวดล้อม กลายเป็นหลุมดำของความเคยชินในการใช้ชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้สภาพร่างกายอ่อนแอเอาดื้อๆ ดังนั้นการรู้เท่าทัน และหาวิธีป้องกันรักษาเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้สุขภาพดี และห่างไกลจากโรคลำไส้แปรปรวนได้ ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับโรคลำไส้แปรปรวนกันก่อนดีกว่า

โรคลำไส้แปรปรวน(lrritable Bowel Syndrome-IBS) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ โดยมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายในท้องที่สัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระเป็นอาการเด่น โดยไม่พบความผิดปกติทางกาย ที่สามารถอธิบายว่าเป็นสาเหตุของอาการได้

ซึ่งพบว่าโรคนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เดี๋ยวท้องผูกเดี๋ยวท้องเสีย เดี๋ยวท้องเสียสลับท้องผูก บางรายก็ไม่ชัดเจน อาการเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดไม่ใช่น้อย ซึ่งหากใครก็ตามมีอาการดังที่กล่าวมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนแสดงว่าเข้าข่ายโดนโรค IBS คุกคามแล้ว

อย่างไรก็ตามสาเหตุแท้จริงของโรคนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บ้างก็เกิดจากการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ บางรายก็เกิดจากประสาทรับรู้ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า บางคนอาจเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผิวลำไส้หรือมีความผิดปกติของแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดโรค นี้ได้อีกไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ผู้ที่ชอบกินรสจัด เปรี้ยว เค็ม หรือเผ็ด ทำให้ลำไส้ปรับสภาพไม่ทันจึงเกิดอาการท้องเสีย ท้องอืดหรือเรอขึ้นได้ และยังพบว่ามียาบางชนิดที่มีผลต่อลำไส้ และความเครียดวิตกกังวลเรื่องงาน เรื่องครอบครัว เรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงเรื่องอื่นๆที่ทำให้เครียด สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรซะโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร คนไข้สามารถมีอายุยืนยาวได้เหมือนคนปกติเพียงแต่สร้างความรำคาญให้แก่ตัวเองแค่นั้น เพราะเป็นโรคที่เรื้อรังเดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย อาจทำให้ชีวิตอยู่ด้วยความหงุดหงิด เดี๋ยวเรอ เดี๋ยวถ่าย นอนไม่หลับ พาลให้ขาดงาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพจิตได้ จึงไม่ควรปล่อยให้อาการเรื้อรังไปเรื่อยๆ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาเพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

ถึงแม้โรค IBS จะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะพบว่ามีหลายโรคทางเดินอาหารมีอาการคล้ายคลึงโรคลำไส้แปรปรวน อาทิ การติดเชื้อในทางเดินอาหาร ภาวะการดูดซึมน้ำตาลแล็กโทสไม่สมบูรณ์ การดูดซึมสารอาหารบกพร่อง ลำไส้อักเสบเรื้อรัง และที่น่ากลัวที่สุดคือมะเร็งของทางเดินอาหาร ดังนั้นหากคุณเป็นโรค IBS และมีสัญญาณผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทันที อาการที่ว่าประกอบด้วย

– อาการที่คุณเป็นอยู่รุนแรงขึ้น

– น้ำหนักลดลงผิดปกติ (ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 ใน 3 เดือน)

– เริ่มมีอาการเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป

– มีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือมูกเลือด

–  มีอาการปวดท้องหรือแน่นท้องรบกวนขณะนอนหลับ

– ตรวจร่างกายพบลักษณะผิดปกติ ตับโต ก้อนในท้อง ซีด เหลือง

– มีไข้

– มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง

หากมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรเข้ามารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่โรค IBS

IBS..ถึงเรื้อรังก็รักษาได้

อาการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการป่วยแล้วควรได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแพทย์จะประคับประคองและรักษาตามอาการโรค ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรค IBS ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง  จะช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยหากมีอาการไม่มาก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้ เช่นการรับประทานอาหารสด สะอาดครบหมวดหมู่ไม่อิ่มจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีใยอาหาร ไม่ทานอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว เพราะร่างกายจะทำงานหนักทำให้ปรับสมดุลไม่ทัน และควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารที่ทำให้แก๊สในลำไส้เยอะ เช่น หอมหรือกระเทียม ของดอง กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ กะหล่ำปลีเพราะอาหารจำพวกนี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นได้ เนื่องจากมีใยอาหารและแป้งมากทำให้ลำไส้ดูดซึมไม่หมด จึงเหลือตกค้างในลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดการหมักหมมจนเกิดก๊าซ นอกจากนั้นควรหาเวลาพักผ่อนจิตใจ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย สบายๆกับการใช้ชีวิตและควรหลีกเลี่ยงยาที่ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง อืดแน่นท้อง และอย่าเครียดวิตกกังวลคิดมากเพราะจะทำให้ลำไส้บีบตัวผิดปกติได้

แต่หากเกิดอาการมากจนถึงขั้นรุนแรง คนไข้ที่มีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องเสียสลับท้องผูก และแบบที่อาการไม่ชัดเจน แพทย์จะใช้ยาในการรักษา เช่น หากคนไข้ที่มีอาการปวดท้องแพทย์จะให้ยาลดอาการปวดเกร็งได้ และมีกลุ่มยาที่รักษาอาการท้องเสีย ลดความถี่ในการถ่ายอุจจาระ ทำให้อุจจาระดีขึ้น นอกจากนี้ยังมียาปฏิชีวนะลดอาการติดเชื้อ บรรเทาอาการท้องอืด อุจจาระเหลว ส่วนรายที่ท้องผูกแพทย์จะเลือกใช้ยาเพิ่มใยอาหารในลำไส้ ซึ่งจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ลดอาการปวดได้ และให้ยาเพิ่มน้ำในลำไส้ เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง โดยยาที่ได้ผลกับคนไข้คนหนึ่ง อาจไม่ได้ผลกับคนไข้อีกคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่พบเจอ ซึ่งควรใช้ยาตามคำแนะนำแพทย์

คนไข้จึงไม่ควรวิตกกังวลใจในการรักษา เพราะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เพียงแต่คนไข้ต้องปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัด ซึ่งอาการของโรคนี้อาจเป็นๆ หายๆ จึงจำเป็นต้องรักษาติดต่อกันระยะยาว จึงไม่ควรกังวลกับการรักษาจนเกิดความเครียด

นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาว่าคนไข้เป็นโรคอะไรกันแน่ เพราะมีหลายโรคที่มีอาการคล้ายกับโรค IBS เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจฮอร์โมน ตรวจเกลือแร่ในร่างกาย เป็นต้น เพื่อง่ายต่อการแยกโรคอื่นเพื่อประโยชน์ในการรักษาในคนไข้ IBS ทั้งนี้การรับประทานยา ดูแลเรื่องอาหารการกิน และการผ่อนคลายความตึงเครียด สามารถลดความถี่ในการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

โรค IBS ไม่ใช่โรคที่เกินรับมือ เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อาการของโรคจะไม่กลับมาสร้างความรำคาญในชีวิตของเราอีก

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม