chat

โรคระบบทางเดินอาหารและโภชนาการในเด็ก

โรคระบบทางเดินอาหารและโภชนาการในเด็ก

ทำไมลูกร้องหลังอาหาร?
อาการโคลิกคืออะไร?
ทำไมวันนี้ลูกร้องนานจัง?
ลูกแหวะนมแบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า?
ลูกท้องอืดหลังดูดนมทำอย่างไรดี?
ทำไมลูกถึงเบื่ออาหารและทานยาก?

และยังมีอีกหลายคำถามที่คุณแม่ป้ายแดงส่วนใหญ่ข้องใจว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเลี้ยงลูกน้อยของตนให้สมบูรณ์ได้ ยิ่งเป็นเรื่องของการให้นมแล้วกลับยิ่งมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เยอะจนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ไหนจะเรื่องของโภชนาการในเด็กว่าจะรับประทานอย่างไรให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนอีก ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเราจะไขข้อข้องใจให้คุณแม่ขี้สงสัยได้ทราบกัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่คนก็คงมีหลายต่อหลายเรื่องที่ต้องกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับคุณหนูตัวเล็กของครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่หลายคนมักจะกังวลใจก็คือ เรื่องเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารและการเลือกโภชนาการอย่างไรให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่พอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกิน และปลอดภัย

ระบบทางเดินอาหารในเด็กกับผู้ใหญ่นั้นย่อมมีความแตกต่างกัน หากเป็นผู้ใหญ่โรคที่พบก็จะเป็นที่รู้กันดีว่าหนีไม่พ้น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคท้องร่วง หรืออื่นๆ มากมาย แต่หากเป็นเจ้าเด็กเล็กอย่างคุณหนูๆ ในบ้านคุณ แน่นอนว่าต้องมีรายละเอียดที่บอบบางกว่าคุณผู้ใหญ่หลายเท่านัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องหันมาใส่ใจไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารในเด็กทารก จะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เรามักพบได้บ่อยก็คือ

10 เรื่องที่คุณแม่ควรรู้

1. ลูกมีอาการโคลิก เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในลูกน้อยของคุณ สามารถสังเกตอาการโคลิกได้ง่ายๆ คือ ลูกของคุณจะมีอาการปวดท้องแบบเจ็บแปลบ ท้องอืดเหมือนมีลม ร้องไห้ไม่หยุดโดยเฉพาะเวลา 6 โมง ถึง 4 ทุ่ม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงเวลาหลังจากมื้ออาหารไปแล้วครึ่งชั่วโมงเป็นเวลาเดิมทุกวัน ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ที่ลูกของคุณร้องนั้นอาจจะไม่ใช่เพราะอาการหิวนมแต่อาจจะเป็นอาการโคลิกนั่นเอง และในบางรายเมื่อเวลาร้องหน้าจะแดง ขางอขึ้นและหดเกร็ง อาการแบบนี้แหละที่เป็นสัญญาณที่คุณควรพาลูกน้อยเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการโคลิก ซึ่งถ้าจำเป็นแพทย์จะให้ยาชนิดหยอดเป็นยาคลายการหดเกร็งของลำไส้และยาให้นอนหลับ  ที่เหลือก็อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะที่ต้องดูแลเรื่องการเลือกขวดนม สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และไล่ลมทุกครั้งหลังจากให้ลูกดูดนม

2. ลูกสะอึก เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงอะไรมากนัก สามารถพบได้ในเด็กเกือบทุกรายในช่วง 1-2 เดือนแรก ซึ่งอาการนี้มักจะพบหลังจากให้นมคุณหนูๆ เสร็จ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพบว่าลูกของคุณสะอึก ให้อุ้มลูกน้อยขึ้นพาดบนบ่าแล้วตบหลังเบาๆ เพื่อไล่ลม หลังจากนั้นอาการสะอึกก็จะหายไปเอง

3. ลูกท้องอืด ท้องมีลม เป็นอาการที่พบได้บ่อยในลูกน้อยเช่นกัน ซึ่งคุณจะสังเกตได้ง่ายๆ เลยก็คือท้องของลูกน้อยจะป่องๆ อืดๆ ลักษณะดูเหมือนอึดอัดและไม่สบายตัว มีอาการโยเยและงอแงผายลม ลูกแหวะนมหรืออาเจียน ถ่ายเหลว บางครั้งมีน้ำมูกร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดจากการที่กินนมเข้าไปเยอะหรืออาจจะเรอออกไม่เต็มที่ในตอนที่คุณแม่อุ้มเรอนม ซึ่งอาการลูกท้องอืดนี้คุณแม่สามารถรักษาให้หายได้เองในเบื้องต้นด้วยการลอง อาจลดปริมาณนมเล็กน้อย ถ้าอาการลูกท้องอืดดีขึ้นจึงค่อยกลับมาให้นมในปริมาณเท่าเดิม แต่หากลูกมีอาการท้องผูกหรือท้องเฟ้อร่วมด้วยคุณแม่อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาต่อไป

4. ลูกมีฝ้าน้ำนม มีคราบสีขาวบนลิ้นและในช่องปาก เป็นลักษณะฝ้าขาวเกาะอยู่บนลิ้น ช่องปาก กระพุ้งแก้ม ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ฝ้าน้ำนมธรรมดา แต่เป็นเชื้อราในปากที่มักพบได้บ่อยในเด็กที่กินนมผสมแล้วคุณแม่อาจจะล้างจุกนมไม่สะอาดทำให้มีสารปนเปื้อนอยู่ ซึ่งคุณสามารถลองแก้ในเบื้องต้น ด้วยวิธีการเอาผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดที่ลิ้นของคุณหนูๆ ดู หากรอยฝ้ายังไม่ออกควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาต่อไปเพราะอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเชื้อราในช่องปากมากกว่าเป็นฝ้าน้ำนมธรรมดา

5. ลูกแหวะนม เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในเด็กแรกเกิด ซึ่งอาการก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเศษนมไหลออกจากปากเล็กน้อย ไม่ใช่ลักษณะของการอาเจียนหรือพุ่งออกมา ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะการแหวะนมนี้เป็นอาการที่เกิดจากหูรูดบริเวณปากกระเพราะอาหารยังไม่กระชับนักทำให้เมื่อหนูน้อยดูดนมมากก็จะเกิดการไหลย้อนเอ่อออกมาทางปากนั่นเอง และเมื่อโตขึ้นอาการลูกแหวะนมนี้ก็จะหายไปในที่สุด

6. ลูกอาเจียน อาการอาเจียนจะเป็นอาการที่แตกต่างจากการแหวะนมธรรมดา เพราะเป็นลักษณะที่นมจะพุ่งออกมาอย่างรุนแรงจากปากเด็ก และน้ำนมที่ออกมาจะมีกลิ่นเปรี้ยวๆ คุณแม่สามารถจัดการอาการเหล่านี้ได้ด้วยการตบไล่ลมเบาๆ ทุกครั้งหลังดูดนม หากไม่หายหรืออาเจียนออกมาเป็นสีของน้ำดี สีเขียวๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน

7.  ไวรัสลงกระเพาะในเด็ก โรคนี้ส่วนใหญ่จะพบในเด็กโตขึ้นมาสักหน่อย จะมีลักษณะอาการคล้ายๆ กับไข้หวัดทั่วไป มีไข้ ตัวร้อน ไอ จาม และในบางรายอาจมีอาการอาเจียน ไม่รับประทานอาหารหรือนม หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของเด็กด้วย คุณแม่สามารถดูแลในเบื้องต้นด้วยการให้ยาลดไข้ หากอาเจียนก็ให้ดื่มเกลือแร่ ดูแลสุขภาพอนามัยความสะอาดให้ดี ล้างมือทุกครั้งก่อนทำอาหาร และหากพบว่ามีอาการอาเจียน ไม่ดีขึ้นและเป็นหนักควรไปพบแพทย์ทันที

8. ลูกสำลักนม ส่วนใหญ่แล้วหากคุณแม่ให้ลูกดูดนมจากแม่โดยตรงก็มักจะไม่พบปัญหาอะไร เพราะน้ำนมจะไหลต่อเมื่อลูกดูดเท่านั้น แต่หากในคุณแม่ที่ให้น้ำนมจากขวดนม น้ำนมจะไหลไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณหนูๆ จะดูดหรือไม่ก็ตาม จึงทำให้เกิดการสำลักได้ง่าย ยิ่งหากจุกนมผิดขนาดแล้วก็จะยิ่งทำให้ลูกสำลักได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อมีการสำลักรุนแรง ไอรุนแรง และมีอาการหน้าเขียวร่วมด้วย คุณแม่อาจลองเปลี่ยนขนาดของจุกนมใหม่ให้เหมาะกับลูกน้อยในวัยนั้นๆ

9. เลือกอาหารสำหรับลูกน้อยวัย 0-1 ปี แน่นอนว่าอาหารที่เหมาะกับลูกน้อยของคุณมากที่สุดในช่วง 1 ปีแรกคงจะหนีไม่พ้นนมแม่ ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะเน้นให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 0-3 เดือนแรก และเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนต่อๆ มาก็จะยังคงมีการให้นมแม่เหมือนเช่นเดิมแต่อาจจะเพิ่มอาหารอื่นๆ เข้าไปด้วย อย่างเช่น ในเดือนที่ 4 คุณแม่จำเป็นต้องเพิ่มข้าวบดผสมไข่แดงสุก ¼ ฟอง และน้ำแกงจืด สลับกับกล้วยน้ำว้าสุกบด พอเดือนที่ 5 ให้เปลี่ยนเป็นข้าวบดผสมเนื้อปลาบดและน้ำแกงจืด สลับไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง เพื่อเพิ่มสารอาหารที่จำเป็น พอเข้าสู่เดือนที่ 6 คุณแม่อาจจะเพิ่มการให้ผักสุกบดและผลไม้สุกเข้าไปด้วย และเพิ่มเนื้อสัตว์หรือตับบดสลับกับปลาและไข่ เข้าไปในมื้ออาหารเมื่อถึงเดือนที่ 7 หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8-10 ให้คุณแม่เพิ่มการให้อาหารอื่นๆ เป็น 2 มื้อ และเมื่อใกล้ครบขวบปีแรกแล้วคุณแม่ก็สามารถให้อาหารลูกน้อยได้เหมือนในเดือนที่ผ่านๆ มาแต่เปลี่ยนเป็น 3 มื้อแทน

10. อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน สำหรับวัยนี้เป็นวัยแห่งการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งช่วงนี้เด็กจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก และสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจคือเรื่องของอาหารการกินของลูกน้อย ดังนั้นใน 1 วัน คุณแม่ควรเลือกอาหารที่เหมาะสมและไม่ควรให้คุณหนูๆ ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ซึ่งจะประกอบไปด้วย นม 2 ถ้วย, ไข่ (สุก) 1 ฟอง หรือ 3-4 ช้อนโต๊ะ, เนื้อสัตว์ (สุก) 2-3 ช้อนโต๊ะ, ข้าวสวยหรืออาหารแป้งและผัก 1/2 – 1 ถ้วย, ผลไม้ มื้อละ 1/2 – 1 ผล และไขมันหรือน้ำมัน 2 ช้อนชา เพียงเท่านี้ลูกน้อยของคุณก็จะได้สารอาหารที่ครบใน 1 วัน

เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในเด็ก คุณแม่อาจจะลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือหนังสือ เพื่อแก้ไขในเบื้องต้นก่อน หากลองแล้วยังไม่ดีขึ้น อยากให้คุณแม่ลองปรึกษาแพทย์ดูเพื่อแก้ไข เพราะอาการต่างๆ ของเด็กนั้นอาจรุนแรงและมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมาได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความสะอาดเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การล้างขวดนม จุกนม หรือการทำอาหารให้กับลูกน้อย ล้างภาชนะ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง ก็เป็นสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เองเพื่อลดการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารและช่วยให้โภชนาการในเด็กมีสุขอนามัยที่ดี ให้ลูกน้อยที่น่ารักของคุณจะได้แข็งแรงสมบูรณ์ เจริญเติบโตตามวัยต่อไป

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์กุมารเวช

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม