chat

โรคระบบทางเดินหายใจและปอดในเด็ก

โรคระบบทางเดินหายใจและปอดในเด็ก

พ่อแม่พึงระวัง 2 โรคที่อาจคุกคามสุขภาพลูกน้อย

หากวันนี้ลูกน้อยของคุณยังสามารถวิ่งเล่นได้อย่างเต็มที่ กินได้อย่างอิ่มหนำสำราญ ไม่ได้มีน้ำมูกทุกวัน ไม่ได้ผื่นขึ้นตามตัวเพราะอาการของภูมิแพ้ หรือไม่ได้มีไข้สูงและหนาวสั่นจากอาการปอดบวมก็คงจะไม่เป็นไร แต่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไป เพราะหากลูกคุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีและเป็นเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำด้วยแล้ว ยังไงก็ง่ายต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจและปอดในเด็กอยู่ดี

เด็กเป็นวัยที่มักจะเกิดการติดเชื้อหรือได้รับสารพิษได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นสารหรือเชื้อที่มีผลต่อร่างกายแล้วยิ่งจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและปอดในเด็กได้โดยตรงเลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโรคที่เรามักจะพบบ่อยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและปอดนั้น มักจะมีอยู่สองโรคหลักๆ คือ โรคภูมิแพ้ และโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมนั่นเอง แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองโรคที่ว่านี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่ก็มีสาเหตุการเกิดโรคและวิธีการรักษาที่ต่างกัน

‘โรคภูมิแพ้ในเด็ก’ เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในคุณหนูๆ ทุกราย แต่อาการโรคภูมิแพ้ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป บางคนมีอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ผิวแห้ง ผื่นลมพิษ ที่จะขึ้นตามใบหน้า แก้ม ข้อพับ ศอกและเข่า แต่ในบางรายจะมีอาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัดบ่อย เป็นหวัดในช่วงที่อากาศเย็น มีน้ำมูกไหลเป็นเวลาประจำของทุกๆ วัน เป็นไซนัสอักเสบ หรือมีอาการไอในบางเวลาของวัน ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนั้นโรคภูมิแพ้ในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้กับระบบทางเดินอาหารอีกด้วย เช่น เด็กมีผื่นคันรอบปาก คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด แหวะนมบ่อย ถ่ายเหลว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คืออาการที่คุณแม่สามารถสังเกตถึงความผิดปกติภายนอกที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้

สาเหตุสำคัญที่มักทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวในขณะนั้นและอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น การแพ้นมวัว แพ้ไข่ แพ้ถั่ว แพ้อาหารทะเล หรือหากเกิดจากสิ่งแวดล้อมก็จะมาจาก แพ้ขนสัตว์ แพ้ฝุ่น หรือไรฝุ่นที่มาจากที่นอน หมอน หรือสภาพแวดล้อมรอบบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กหายใจไม่ออก มีน้ำมูกแต่ไม่ได้เป็นหวัด หรือมีผื่นขึ้นตามตัวนั่นเอง

สำหรับโรคนี้อาจไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไรมากนัก เพียงแต่จะสร้างความรำคาญใจให้กับคุณหนูๆ รู้สึกไม่สบายตัว คัน หายใจไม่ออก หรือบางคนอาจเป็นมากจนไม่กล้ารับประทานอะไรหรือไม่กล้าออกไปไหน ดังนั้นคุณแม่เองควรป้องกันด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก่อน โดยดูแลให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หากรู้ว่าลูกแพ้อะไรก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือสภาพแวดล้อมรอบตัว ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนเป็นประจำ หมั่นทำความสะอาดบ้านไม่ให้มีฝุ่น หากแพ้ขนสัตว์ชนิดไหนอาจจำเป็นต้องเลิกเลี้ยง หรือเลี้ยงให้ห่างจากลูก ในเบื้องต้นถ้ายังไม่ช่วยให้มีอาการดีขึ้น อาจพาไปพบแพทย์และขอยามารับประทานเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

‘โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม’ หรือ ‘นิวโมเนีย’ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเนื้อปอดเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ อย่างแรกเกิดจากตัวเด็กเอง นั่นหมายถึงว่าเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี มีความผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กไม่ได้กินนมแม่ หรือไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนด ประการที่สองเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย มีลักษณะอึดอัด อากาศไม่ถ่ายเท มีฝุ่นค่อนข้างมาก หรือบางครั้งอาจจะได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ตัวมากจนเกินไป และสาเหตุสุดท้ายมาจาก เชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็น เชื้อปอดบวมหรือนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus) ที่มักพบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส(Staphylococcus), สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus), เคล็บซิลลา (Klebsiella), เชื้อไวรัส เช่น หัด, ไข้หวัดใหญ่, อีสุกอีใส, เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma pneumoniae) ซึ่งทำให้ปอดอักเสบชนิดที่เรียกว่า Atypical pneumonia เพราะมักจะไม่มีอาการหอบอย่างชัดเจน, เชื้อรา พบได้ค่อนข้างน้อย แต่รุนแรง

สำหรับโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมนี้จะสามารถติดต่อกันได้หลายทาง ทั้งทางเดินหายใจ โดยการไอ หรือจามใกล้กันแล้วไม่ได้ปิดปากหรือมือป้องไว้, โดยการสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด หรือแม้กระทั่งโดยการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา การให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น ซึ่งเมื่อติดเชื้อเข้าไปแล้ว อาการส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นทันที มีไข้สูงและหนาวสั่นโดยเฉพาะในระยะที่เริ่มเป็น หายใจหอบ มีอาการไอแห้งและต่อมาจะมีเสมหะเป็นสีเหลืองออกเขียว สีสนิมหรือสีปนเลือด ในเด็กเล็กจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่ายและชัก ส่วนในเด็กโตจะมีอาการเจ็บแปล๊บๆ ที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก หากรุนแรงมากอาจช็อก หรือมีเลือดออกเป็นจุดๆ ใต้ผิวหนัง การทำงานของระบบหายใจล้มเหลว และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ส่วนวิธีการรักษาโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมนั้น หากในเด็กที่เพิ่งเริ่มเป็น ยังไม่มีอาการอะไรที่รุนแรงมากนัก อาจให้ยาลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน, แอมพิซิลลิน, อีริโทรมัยซิน, เตตราซัยคลีน หรือโคไตรม็อกซาโซล หาผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ไข้ลด และให้ดื่มน้ำตามมากๆ ถ้าผ่าน 3 วันไปแล้วอาการดีขึ้นอาจจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะต่ออีก 1 สัปดาห์ แต่หากในรายที่เป็นหนัก มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรง คุณแม่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งเมื่อถึงมือแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะหาเชื้อต้นเหตุหรือเจาะเลือดไปเพาะเชื้อ และให้ออกซิเจน น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะซึ่งอาจให้เพนิซิลลินฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดในขนาดสูงๆ หรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ ตามแต่ชนิดของเชื้อที่พบ

เมื่อรู้แล้วว่าการเกิดโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร และรักษาได้อย่างไร ก็ถึงเวลาที่คุณแม่ทั้งหลายจะต้องศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกของคุณเป็นโรคนี้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อลดอัตราการเกิดปอดอักเสบ และอย่าลืมหมั่นดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของลูกคุณให้ถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ

แม้ว่าโรคระบบทางเดินหายใจและปอดในเด็ก 2 โรคที่ได้เล่ามานี้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อย และมีการรักษาด้วยแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดคือการทำอย่างไรไม่ให้ลูกของคุณเกิดโรคนั้นได้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรักษาด้วยวิธีไหนๆ

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม