chat

โรคย้ำคิดย้ำทำ

ไม่น่าเชื่อว่าการย้ำคิด ย้ำทำ จะเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่งของความผิดปกติทางความคิดซ้ำ ๆ ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ที่มีอาการเองก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้ จนนำมาซึ่งความเป็นทุกข์ ส่วนอาการย้ำทำเป็นพฤติกรรมที่ต่อยอดมาจากความคิดซ้ำ ๆ ผลักดันให้ตอบสนองความคิดเหล่านั้นในรูปแบบของการกระทำ เพื่อลดทอนความวิตกกังวลใจ โรคย้ำคิดย้ำทำพบได้ร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป เริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 20 ปี เฉลี่ยจะพบได้พอ ๆ กันทั้งในเพศหญิงและชาย และสามารถพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลทั่วไป โรคกลัวสังคม โรคแพนิก หรือพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสม

ราคาปรึกษาแพทย์และรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำที่โรงพยาบาลยันฮี

โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร?

โรคย้ำคิดย้ำทำเกิดจากอะไร?

โรคย้ำคิดย้ำทำมีอาการอย่างไร?

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ?

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคย้ำคิดย้ำทำ”

โรคย้ำคิดย้ำทำ คืออะไร?

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD : Obsessive Compulsive Disorder) เป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง เป็นโรคของคนที่มีความกังวล และความไม่มั่นใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำไป ซ้ำมาเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความสบายใจ เช่น การปิดไฟห้องน้ำ หรือการล้างมือบ่อย ๆ เป็นต้น

OCD
OCD

ซึ่งผู้ป่วยเองจะรู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นไม่จำเป็น ถึงอย่างนั้นผู้ป่วยก็ไม่สามารถหยุดสิ่งที่ทำอยู่ได้ เมื่อทำแล้วจะทำให้รู้สึกคลายความกังวล ก่อนที่จะเริ่มกังวลใหม่อีกครั้ง พฤติกรรมแบบนี้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยตรง พบได้ร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป เริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยที่อายุ 20 ปี ในอัตราส่วนเท่า ๆ กันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ยังพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆได้ เช่น ซึมเศร้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 60-90 โรคกลัวสังคม, โรควิตกกังวล, โรคแพนิค เป็นต้น

โรคย้ำคิดย้ำทำ เกิดจากอะไร?

โดยทั่วไปอาจแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านชีวภาพและปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้

ปัจจัยด้านชีวภาพ
  • การทำงานของสมอง และระบบประสาทที่ผิดปกติ ส่วน orbitofrontal cortex, cingulate cortex, caudate และ thalamus บริเวณเหล่านี้อาจรวมกันเป็นวงจรที่มีการทำงานมากเกินปกติในผู้ป่วย OCD ทำให้ส่งผลต่อความรู้สึกที่แสดงออกมา
  • มีความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก โดยพบว่า ยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนิน มีประสิทธิภาพในการรักษา OCD
  • เกิดจากพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงได้ อัตราการเกิดโรคในแฝดไข่ใบเดียวกัน (monozygotic twins) เท่ากับ ร้อยละ 60-90 ขณะที่ในประชากรทั่วไป พบร้อยละ 2-3 สภาพแวดล้อม หรือเหตุการณ์ที่เคยพบเจอ ส่วนมากจะเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อชีวิต
  • เป็นผลข้างเคียงจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองในเด็กที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อสเตรปโทคอกคัส (PANDAS Syndrome) มักเกิดขึ้นในเด็กที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อติดเชื้อสเตรปโทคอกคัสหรือไข้อีดำอีแดง
ปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้
  • ทฤษฎีการเรียนรู้เชื่อว่าการเกิดภาวะ เงื่อนไข มีบทบาทสำคัญในการเกิดอาการย้ำคิด โดยสถานการณ์ปกติจะถูกเชื่อมโยงกับสถานการณ์อันตราย จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวล ส่วนการย้ำทำจะเกิดจากการที่ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าการกระทำบางอย่างช่วยลดความวิตกกังวลได้ จึงเกิดเป็นแบบแผนพฤติกรรมดังกล่าว

โรคย้ำคิดย้ำทำ มีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยจะเกิดอาการได้ 2 ส่วนคือ การย้ำคิด และการย้ำทำ

OCD

อาการย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เช่น มีความคิดซ้ำๆว่ามือตนเองสกปรก, คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตู, จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องทางเพศอย่างซ้ำๆ หรือกลัวอันตรายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเองมากจนเกินไป ซึ่งความคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้

OCD

อาการย้ำทำ (compulsion) เป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจที่เกิดจากความย้ำคิด หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆตามที่ตนหวั่นเกรง เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ , พูดขอโทษซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

รักษาด้วยการใช้ยา ประกอบด้วย

  • ยาแก้ซึมเศร้า ยาที่รักษาได้ผลดีใน OCD เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบ serotonin โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้นๆ เพื่อบรรเทาอาการในช่วงแรก
  • ยาต้านโรคจิต ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านโรคจิต เช่น risperidone ควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

การรักษาด้วยวิธีอื่น ‘พฤติกรรมบำบัด’ เป็นการรักษาที่ได้ผลดี ให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เผชิญกับสิ่งที่เป็นกังวลใจและป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมย้ำทำ เช่น จิตแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยฝึกตามลำดับขั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความมั่นใจจนสามารถเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลได้

ราคาปรึกษาแพทย์และรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำที่โรงพยาบาลยันฮี

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ตามอาการของคนไข้แต่ละบุคคล

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ“โรคย้ำคิดย้ำทำ”

ถาม
ตอบ

จิตแพทย์มีวิธีวินิจฉัยผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอย่างไร?

จิตแพทย์ซักประวัติสุขภาพเบื้องต้น ประวัติความเจ็บป่วยทั้งของตัวเองและสมาชิกในครอบครัว และประเมินผลทางจิตเวชเป็นหลัก ซึ่งผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ความรุนแรงของอาการ รูปแบบความคิดและพฤติกรรม และระยะเวลาที่หมดไปกับอาการย้ำคิดย้ำทำ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายหรือมีอาการร่วมกับโรคจิตเวชอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเภท เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจร่างกายหาร่องรอยที่เป็นสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนของ OCD และอาจตรวจหาปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของไทรอยด์ การใช้แอลกอฮอล์ และสารเสพติด เป็นต้น

ถาม
ตอบ

ภาวะแทรกซ้อนหรือผลกระทบข้างเคียงจากการเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำมีอะไรบ้าง?

เป็นผื่นแพ้สัมผัสจากการล้างมือบ่อยเกินไป มีปัญหาด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม รวมทั้งด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เพราะมีทัศนคติในเรื่องอาหารต่างไปจากเดิม คิดว่าตนเองมีรูปลักษณ์บกพร่องหรือมีตำหนิ ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ วิตกกังวลในหลายเรื่องมากเกินควร โดยไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนั้นได้ ซึมเศร้า หรือสูญเสียความสนใจในสิ่งที่ตนเองชอบ

ถาม
ตอบ

มีวิธีป้องกันโรคย้ำคิดย้ำทำอย่างไร?

ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคย้ำคิดย้ำทำที่แน่ชัด แต่สามารถแนะนำวิธีดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้อาการของโรคแย่ลง ผ่อนคลายความเครียดด้วยการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี เรียนรู้วิธีจัดการและรับมือกับอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น โดยอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือเข้ากลุ่มบำบัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดใช้ยาเองเพราะอาจทำให้อาการแย่ลง และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมชนิดอื่น ๆ ไปพบแพทย์ทันทีหากไม่สามารถรับมือกับอาการย้ำคิดย้ำทำได้

แพทย์ผู้เขียนบทความ