chat

โรคมือเท้าปากในเด็ก

“โรคมือเท้าปากในเด็ก” ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้บ่อยครั้งแต่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม โรคนี้อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้เช่นกันกรณีสมองอักเสบ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า อัตราการป่วยพบมากสุดในกลุ่มเด็กเล็กอายุไม่เกิน 4 ปี รองลงมา คือเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี ดังนั้น ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักวิธีสังเกต และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคมือเท้าปากเพื่อรักษาสุขภาพของลูกน้อยให้แข็งแรง

ราคาการรักษาโรคมือเท้าปากที่โรงพยาบาลยันฮี

โรคมือเท้าปากคืออะไร?

การติดต่อของโรคมือเท้าปาก

อาการของโรคมือเท้าปาก

การรักษาโรคมือเท้าปาก

แนวทางป้องกันโรคมือเท้าปากในเด็ก

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคมือเท้าปาก”

โรคมือเท้าปากคืออะไร?

โรคมือเท้าปาก

“โรคมือเท้าปาก” เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง กรณีที่สมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สามารถพบได้ในผู้ใหญ่แต่พบน้อยกว่าและมีอาการรุนแรงไม่เท่ากับเด็ก

การติดต่อของโรคมือเท้าปาก

เชื้อไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย ติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มักระบาดในโรงเรียนอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก มีระยะฟักตัวราว 1 สัปดาห์ ติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

อาการของโรคมือเท้าปาก

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน อาการเริ่มต้น คือ

  • มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ เป็นแผลในปาก น้ำลายไหล ไม่อยากอาหาร เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก
  • อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนัง บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์

ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาโรคมือเท้าปาก

การรักษาโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก

แนวทางป้องกันโรคมือเท้าปากในเด็ก

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากจากไวรัส EV71 (EntroVac)ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน-5 ปี 11 เดือน 29 วัน

ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน

สอนวิธีล้างทำความสะอาดมือที่ถูกต้องให้เด็ก ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์

หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่ชุมชนหรือแออัดอย่างตลาดนัด สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค

แยกเด็กที่ป่วยเป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น

หมั่นทำความสะอาดของเล่นและข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวเด็กเป็นประจำทุกวัน ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก

โรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน สามารถหายได้เอง

ราคาการรักษาโรคมือเท้าปากในเด็กที่โรงพยาบาลยันฮี

ขึ้นอยู่กับอาการของเด็กแต่ละคน แพทย์จึงเป็นผู้พิจารณาราคาตามแนวทางการรักษาตามอาการ

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคมือเท้าปากในเด็ก”

ถาม
ตอบ

โรคมือเท้าปากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่?

สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม

ถาม
ตอบ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากจากไวรัส EV71 (EntroVac) มีข้อจำกัดเรื่องใดบ้าง?

วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น รวมถึง Coxasackie Virus A16 ได้

ถาม
ตอบ

ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อใดเมื่อเห็นอาการที่เข้าข่ายโรคมื้อเท้าปาก?

ควรไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือเมื่อเด็กไม่ยอมดื่มน้ำ/ทานอาหารเพราะอาจทําให้ร่างกายขาดน้ำได้ หากมีอาการนานกว่า 10 วันควรปรึกษาแพทย์

ถาม
ตอบ

เด็กที่เป็นโรคมื้อเท้าปากควรรับประทานอาหารอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงกลุ่มไหนเป็นพิเศษ?

งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดาเนื่องจากมีกรด ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองภายในช่องปาก ให้รับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอศกรีมแท่ง น้ำแข็ง โยเกิร์ต และหมั่นจิบน้ำเย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เน้นรับประทานอาหารอ่อนหากเคี้ยวไม่ไหวจำพวกข้าวต้มและโจ๊ก

แพทย์ผู้เขียนบทความ

หัตถการของศูนย์กุมารเวช