chat

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน
เมื่อความชรามาเยือน พาร์กินสันอาจคุกคาม

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมคนชราถึงมือเท้าสั่น?

คงจะมีหลายคนไม่มากก็น้อยที่เกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ อาการสั่นที่มือ เท้า เวลานั่งเฉย ๆ เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมองชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคพาร์กินสัน หรือในชื่อภาษาไทยว่า โรคสั่นสันนิบาต บางทีเรียกโรคสันนิบาตลูกนก ก็มี หากเป็นสมัยก่อนพาร์กินสันอาจจะเป็นโรคที่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในบ้านเรา แต่เดี๋ยวนี้มีคนดังระดับโลกหลายคนเป็นโรคนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันกันมากขึ้น ปัจจุบันโรคพาร์กินสันเป็นโรคสมองที่พบเป็นอันดับสอง รองจากอัลไซเมอร์ซึ่งสถานการณ์ของโรคนี้ในปัจจุบันพบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสเสื่อมของเซลล์สมองก็จะยิ่งมากตามไปด้วย

พาร์กินสันหรือสันนิบาต เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมอง แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมองส่วนที่เรียกว่า เบซอลแกงเกลีย (basal ganglia)เกิดการเสื่อมสลายทำให้กระบวนการผลิตสารโดพามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณภายในสมองมีปริมาณลดลงจึงส่งผลให้เกิดอาการของโรคนี้ได้

อาการของพาร์กินสัน

  • อาการสั่น (Tremor) ที่มือ แขน ขา กราม และใบหน้า จนอาจสั่นไปทั่วร่างกาย
  • อาการกล้ามเนื้อเกร็ง (Rigidity) แขนขาหรือลำตัวแข็งไม่สามารถขยับได้
  • อาการเคลื่อนไหวช้าลง (Bradykinesia)
  • สุดท้ายคืออาการเสียการทรงตัว (Postural Instability) และกล้ามเนื้อ ทำงานไม่ประสานกัน การเดินจะงอ ตัวคล้ายคนหลังค่อม และซอยเท้าก้าวสั้น

เมื่ออาการเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ได้อย่างยากลำบาก มีปัญหาด้านการกลืน การเคี้ยว การพูด การถ่ายปัสสาวะ มีอาการท้องผูก และมีปัญหาผิวหนัง นอกจากนี้อาจมีอาการซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง และนอนไม่หลับร่วมด้วย

พาร์กินสัน

เยียวยารักษา…ได้เพียงใด?

โรคพาร์กินสันถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง ยังไม่มีการรักษาให้หายขาดหรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคได้ สำหรับการรักษาในปัจจุบัน นอกจากการรักษาทั่วไปด้วยการทำกายภาพบำบัดตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว การรักษาทางยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นรวมถึงการลุกลามของโรคช้าลงได้ แต่ยาที่ใช้มักพบว่ามีผลข้างเคียงโดยเฉพาะหากใช้ในขนาดที่สูง ดังนั้น การรับประทานยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมองส่วนลึก( Deep Brain Stimulation)ส่วนการรักษาทางอื่น เช่น การผ่าตัดนำบางส่วนของสมองที่ถูกทำลายออกการปลูกถ่ายเซลล์สมองทารกเข้าไปในสมองของผู้ใหญ่ ล้วนแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับว่าจะได้ผลดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่สามารถทำใจยอมรับกับโรคที่เป็น สามารถขจัดความเครียดและวิตกกังวล รวมถึงมีแรงสนับสนุนทางบวกจากครอบครัวและคนรอบข้างก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยของตนมากนัก

ดังนั้นท่านใดที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคพาร์กินสันหรือมีผู้สูงอายุในบ้านที่มีอาการชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรไปพบอายุรแพทย์ผู้ชำนาญการทางด้านประสาทวิทยาเพื่อตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ถึงโรคนี้จะไม่หายขาดแต่อย่างน้อยก็ช่วยให้อาการดีขึ้นและชะลอการลุกลามของโรคให้ช้าลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุแล้ว และเชื่อว่าในหลาย ๆ ครอบครัวมีผู้สูงอายุอยู่ร่วมด้วย ฉะนั้น “พาร์กินสัน” จึงเป็นโรคที่เราๆ ท่านๆ ควรทำความรู้จักเอาไว้

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1723
การรักษา
อัตราค่ารักษาพยาบาล แพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้ประเมิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร 1723

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม