chat

โรคจอประสาทตา

โรคจอประสาทตา

โรคจอประสาทตา

“ดวงตา” เป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนรู้ในชีวิตเรา ล้วนมาจากการมองเห็นสิ่งต่างๆ ดังนั้นการมองเห็นที่มีความคมชัดก็จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้และอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่ง การมองเห็นของคุณเกิดฝ้าฟาง มองไม่ชัด มองเห็นจุดดำ หรือแยกสีไม่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัย และโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ หากไม่รีบรักษาอย่างถูกวิธีและปล่อยไว้เนิ่นนานอาจมีผลทำให้ตาบอดได้

จอประสาทตา (Retina) คือ ชั้นบางๆ ของเซลล์รับภาพที่อยู่ด้านหลังของดวงตา จอประสาทตาจะช่วยให้การมองเห็นของคุณชัดขึ้น หากจอประสาทตาของคุณปกติการมองเห็นภาพก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากจอประสาทตาของคุณมีปัญหาขึ้นล่ะก็ ภาพที่มองเห็นก็จะไม่ชัด เหมือนเวลาที่เราถ่ายรูปแล้วไม่สามารถโฟกัสภาพได้ หรือมีจุดดำๆ ติดอยู่ที่เลนส์ถ่ายภาพนั่นเอง ซึ่งจุดสำคัญของกลางจอประสาทตา คือ จุดรับภาพ (Macula) มีลักษณะเป็นบริเวณเล็กๆ ที่สำคัญมาก ส่วนบริเวณรอบๆ ของจอประสาทตาจะช่วยในการมองภาพด้านข้าง (Peripheral vision) ตามลำดับ

โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา และ การรักษา

สำหรับโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตา ที่มักพบได้บ่อยได้แก่ โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา, จอประสาทตาเสื่อม, จอประสาทตาฉีก และจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งแต่ละโรคนั้นก็จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป เราจะมาทำความรู้จักกับโรคจอประสาทตาในแต่ละแบบกัน

  • โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน) หรือที่เรามักเรียกกันว่า “เบาหวานขึ้นตา” นั้น ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไรที่ชัดเจนมากนัก โรคจะกำเริบไปเรื่อยๆ การมองเห็นจะแย่ลงจนกระทั่งบางรายมีอาการตาบอดตามมาในที่สุด สำหรับอาการที่พอจะสังเกตได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้แก่ มองไม่ชัด, มักเห็นเศษชิ้นส่วนลอยในตา, มีปัญหาการมองเห็นในตอนกลางคืน, มองเห็นจุดดำ และแยกสีไม่ชัดเจน ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการตรวจตาสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ผู้ที่เป็นเบาหวานกลุ่มแรก อายุมากกว่า 10 ปี และเป็นเบาหวานมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ควรจะได้รับการตรวจจอรับภาพทุกคน, ผู้ที่เป็นเบาหวานกลุ่มที่ 2 ควรจะได้รับการตรวจจอประสาทตาหลังจากวินิจฉัยโรคเบาหวานแล้ว ทั้งนี้การติดตามผลการตรวจนั้นจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของจอรับภาพ หากปกติอาจจะติดตามทุก 1 ปี หากผิดปกติต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญหากเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานจะต้องเข้ารับการตรวจจอรับภาพด้วย

    เมื่อพบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว สิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามมาคือ เข้ารับการขยายม่านตา ตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าตาได้รับผลกระทบอะไรจากโรคเบาหวานหรือยัง และเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในบางรายจักษุแพทย์จะทำการนัดตรวจบ่อยขึ้นตามระดับความรุนแรงของโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คนไข้ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดได้แก่ งดสูบบุหรี่, ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ถ้ามีโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับการรักษาและดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, เคร่งครัดในการใช้ยาให้ถูกต้องตามเวลาและวิธีการใช้ยาที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีไม่ควรปล่อยปละละเลย

  • โรคจอประสาทตาเสื่อม คือ อาการที่สูญเสียการมองเห็น มองไม่ชัดเหมือนมีเงาดำบดบังตรงกลางภาพ แต่จะสามารถมองเห็นด้านข้างของภาพได้ และอาจมีการเกิดภาพบิดเบี้ยว (Distortion) ซึ่งสาเหตุของโรคนี้เกิดจากจุดรับภาพชัดของจอประสาทตา ที่มีหน้าที่ช่วยในการมองเห็นบริเวณกึ่งกลางภาพเกิดความผิดปกติขึ้น และสามารถแบ่งความผิดปกตินี้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแห้ง ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งจอประสาทตาจะเสื่อมและบางลง ทำให้ความสามารถในการมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ และสามารถพัฒนากลายไปเป็นชนิดเปียกได้ ซึ่งความผิดปกติชนิดเปียกนี้จะมีอาการที่รุนแรงกว่า เนื่องจากมีเส้นเลือดงอกผิดปกติบริเวณใต้จอประสาทตา ส่งผลให้เลือดออกหรือเป็นแผลที่จอประสาทตา คนไข้จึงมองเห็นเงาดำตรงกึ่งกลางของภาพ ทำให้การมองเห็นแย่ลงในระดับเลือนราง หรือถึงขั้นตาบอดได้

    สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมมีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อายุที่เพิ่มมากขึ้น, พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็น คุณควรเข้ารับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 2 ปี, เชื้อชาติ มักพบมากในคนผิวขาว (Caucasian), เพศ ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย, การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างน้อย 6 เท่า, ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน

    สำหรับการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้น โดยปกติแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นเพียงการช่วยชะลอไม่ให้โรคมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้สามารถป้องกันได้ด้วยตัวเองโดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค เช่น หมั่นตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี, งดสูบบุหรี่, เลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างพวก ผักใบเขียวและผลไม้, รับประทานวิตามินเสริมพวก วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน สังกะสี คอปเปอร์ หมั่นรับประทานปลา และสวมแว่นกันแดด เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเพิ่มความรุนแรงของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้

  • จอประสาทตาฉีกและหลุดลอก โดยปกติแล้ว จอประสาทตาจะมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ และใสอยู่ด้านในผนังลูกตา ทำหน้าที่เป็นจอรับภาพคล้ายๆ กับฟิล์มในกล้องถ่ายภาพ แสงที่ผ่านจากด้านหน้าของลูกตา รับภาพไปตามเส้นประสาทตา และเข้าสู่สมองเพื่อแปลภาพว่าเป็นภาพอะไร แต่หากจอประสาทตาฉีกและหลุดลอกจากผนังด้านหลังของตา เซลล์ที่ไวแสงจะเริ่มเสื่อมสมรรถภาพจนไม่สามารถส่งภาพเข้าสู่เส้นประสาทตาและสมองได้ ดวงตาจึงเริ่มมีปัญหาในการรับภาพ ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ อาจส่งผลให้ตาบอดลงในที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกนั้นมักเกิดจากการเสื่อมของน้ำวุ้นตาเกิดการสลายตัว ขาดน้ำหล่อเลี้ยงตา ส่งผลให้จอประสาทตาฉีกและหลุดลอก

    สำหรับอาการของจอประสาทตาฉีกและหลุดลอกนั้น ส่วนใหญ่จะมองเห็นจุดดำหรือเงาดำเป็นจุด อาจมีไฟแลบเกิดขึ้นทั้งในเวลาหลับตาและลืมตา หรือมีเงาคล้ายม่านดำมาบัง ทำให้สายตัวมัวและมืดลงในที่สุด ซึ่งการรักษาจอประสาทตาฉีกขาดหรือจอประสาทตารั่ว จักษุแพทย์จะพิจารณาจากตำแหน่งของโรค เพื่อวินิจฉัยว่าจะรักษาวิธีใด โดยปกติมักจะใช้วิธีการฉายแสงเลเซอร์ที่จอประสาทตา และการรักษาโดยใช้ความเย็น ส่วนการรักษาจอประสาทตาหลุดลอกนั้นสามารถรักษาได้ 3 วิธีคือ การใช้แสงเลเซอร์ ฉายไปรอบๆ แผลรูฉีกของจอประสาทตา, การจี้ด้วยความเย็น เหมือนการใช้แสงเลเซอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉีกขาดเพิ่มขึ้น และสุดท้าย การผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของคนไข้ ในบางรายอาจใช้วิธีการฉีดแก๊สเข้าในตาเพื่อดันจอประสาทตาไว้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก้มศีรษะไว้เป็นเวลาหลายวันหลังผ่าตัด เพื่อจอประสาทตาจะได้ติดกลับไปที่เดิม

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาแบบใด หากคนไข้เริ่มมีอาการที่ผิดสังเกตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น อาการตามองไม่ชัด มองเห็นจุดดำ, แยกสีไม่ชัดเวลามอง, มองภาพตรงกลางไม่ชัด หรืออาการอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการรับภาพ คุณควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานหรือรักษาไม่ตรงจุดอาจจะส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้นั่นเอง

“การเข้ารับการตรวจจอประสาทตาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีสายตาสั้น ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยให้ผลการรักษาที่ดีกว่าตรวจพบเมื่อโรคลุกลาม… อย่ารอจนสายเกินแก้”

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
ตรวจจอประสาทตา (funduscopy) 1,600 บาท/ครั้ง
ตรวจจอประสาทตาด้วย Slit Lamp (90D) 1,200 บาท
ตรวจจอประสาทตา (funduscopy) ในผู้ป่วยเบาหวาน 1,500 บาท
การรักษา
ตรวจจอประสาทตา (funduscopy)
1,600 บาท/ครั้ง
ตรวจจอประสาทตาด้วย Slit Lamp (90D)
1,200 บาท
ตรวจจอประสาทตา (funduscopy) ในผู้ป่วยเบาหวาน
1,500 บาท

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม