chat

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome)

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม หรือ ‘โรคอัมพาตเฉียบพลัน’ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลันที่เส้นประสาทส่วนปลาย มีอาการแขนขาชา 2 ข้าง อ่อนแรง อาจจะรุนแรงถึงอัมพาตและหายใจเองไม่ได้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ โอกาสเป็นโรคนี้พบน้อยแต่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุระหว่าง 15-35 ปี และ 50-75 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

ราคาตรวจและรักษา โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม ที่โรงพยาบาลยันฮี

สาเหตุของโรค

อาการของโรค

การวินิจฉัยโรค

ภาวะแทรกซ้อน

แนวทางการรักษา

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม”

สาเหตุของโรค

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติหันมาทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทอย่างฉับพลัน มักเกิดภายหลังติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสีย หรือเชื้อไวรัส เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV),โรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus), โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus), โรคปอดอักเสบจากไมโคพลาสม่า (Mycoplasma Pneumonia) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเกิดจากการผ่าตัดหรือฉีดวัคซีน อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

อาการของโรค

อาการชา เหน็บชา บริเวณปลายนิ้วเท้า ปลายนิ้วมือ 2 ข้าง

ผิวหนังรับความรู้สึกแปลกไป มีอาการปวดแสบปวดร้อน ชาซ่า ๆ

กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน โดยมักจะเริ่มที่เท้า ขา แล้วลามมามือ แขน เดินลำบาก เดินเซ ทรงตัวไม่ดี ขึ้นลงบันไดลำบาก หยิบสิ่งของใช้ช้อนส้อมไม่ถนัด

เคี้ยวลำบาก กลืนลำบาก กลืนแล้วสำลัก พูดไม่ชัด หลับไม่สนิท

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก หายใจต้องใช้แรงเยอะขึ้น

ตามองเห็นภาพซ้อน (Double vision) กลอกตาไปทิศทางต่าง ๆ ไม่สุดหรือไม่ได้

ปวดหลัง ปวดตามร่างกาย ปวดมากเวลาเคลื่อนไหว อาจจะปวดช่วงเวลากลางคืนมากขึ้น

หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นช้ากว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำกว่าปกติในบางราย

สามารถแบ่งกลุ่มอาการโรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม ออกเป็นหลายชนิด ดังนี้

Acute Inflammatory Demyelinating Polyradiculoneuropathy: AIDP เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเริ่มจากกล้ามเนื้อส่วนล่าง เท้า ขา 2 ข้าง ค่อย ๆ ลามขึ้นมากล้ามเนื้อส่วนบน มือ แขน 2 ข้าง และใบหน้า

Acute Motor Axonal Neuropathy อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการทางระบบหายใจตั้งแต่แรกและรุนแรง มักพบในเด็ก วัยหนุ่มสาว

Acute Motor-Sensory Axonal Neuropathy: AMSAN มีอาการอ่อนแรงและชา มีอาการทางระบบหายใจ และกลืนลำบาก สำลัก พูดไม่ชัดร่วมด้วย

กลุ่มอาการมิลเลอร์ ฟิเชอร์ (Miller Fisher Syndrome: MFS) มีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวไม่ดี พบบ่อยในชาวเอเชีย

Acute pandysautonomic neuropathy พบน้อยมาก มีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ

การวินิจฉัยโรค

จากประวัติและตรวจร่างกาย มีอาการอ่อนแรงแขนขา 2 ข้างเฉียบพลัน

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) มักมีระดับโปรตีนสูงกว่าปกติและเม็ดเลือดขาวระดับต่ำ

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม

การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) คือ การตรวจคลื่นกล้ามเนื้อ เส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อวินิจฉัยว่าสาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาจากเส้นประสาทส่วนปลายหรือกล้ามเนื้อ

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม

การตรวจการชักนำประสาท (Nerve Conduction Tests) คือ การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท ทดสอบการตอบสนองของเส้นประสาท

โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม

ภาวะแทรกซ้อน

หายใจลำบาก ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ข้อติด ข้อต่อตามร่างกายผิดรูป

ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยอาการแขนขาอ่อนแรงมากจนขยับเองไม่ได้

ความดันโลหิตต่ำ ความดันโลหิตไม่คงที่

เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, สำลักอาหารลงปอด

แผลกดทับในผู้ป่วยที่แขนขาอ่อนแรงมาก

แนวทางการรักษา

การแลกเปลี่ยนพลาสม่า (Plasmapheresis) คือ การกำจัดแอนติบอดีผิดปกติในพลาสม่า โดยการถ่ายเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยแล้วเข้าเครื่องแยกแอนติบอดีที่ผิดปกติออกจากเลือด จากนั้นนำเลือดที่ไม่มีแอนติบอดีกลับสู่ร่างกาย

การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (intravenous immunoglobulin) เข้าหลอดเลือดดำเพื่อยับยั้งการทำงานของแอนติบอดี้ที่ผิดปกติ

ทำกายภาพบำบัด เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้นและป้องกันข้อติด ข้อผิดรูป รวมไปถึงอาจจะรับยาบรรเทาอาการปวด

ในรายที่เคลื่อนไหวตัวเองไม่ได้ พิจารณาให้ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน

ราคาตรวจและรักษา โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรมที่โรงพยาบาลยันฮี

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ตามอาการของคนไข้แต่ละบุคคล

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม”

ถาม
ตอบ

แนวทางป้องกันตัวเองจากโรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม?

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคกิแลง บาร์แร ซินโดรมที่ชัดเจน แต่ผู้ป่วยมักติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียมาก่อน ดังนั้น สิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อดังกล่าว คือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำสะอาด พยายามสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่ติดเชื้อระบาดอยู่

แพทย์ผู้เขียนบทความ

หัตถการของศูนย์อายุรกรรม