chat

โรคกลัว (Phobia)

ทุกคนล้วนมีความกลัวแตกต่างกันออกไป เช่น กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวความสูง กลัวสัตว์ กลัวภัยธรรมชาติ กลัวเลือด กลัวยานพาหนะ กลัวเข็มฉีดยา ฯลฯ หากไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีระดับความรุนแรงมากย่อมส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องหลีกเลี่ยงบางสถานที่ ไม่สามารถเดินทางโดยยานพาหนะบางประเภท เป็นต้น จนมีความเสี่ยงเป็น ‘โรคกลัว’ จำเพาะเจาะจงหรือ specific phobia ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่จะมีอาการกลัวขั้นรุนแรงต่อสถานการณ์หรือบางสิ่งบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล ไม่สามารถควบคุมได้ จนอาจมีอาการคล้ายโรคแพนิก ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นแรง หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ปัจจุบันมีสถิติรายงานความถี่ของโรคกลัวที่คนเป็นกันมากที่สุด ได้แก่ โรคกลัวแมงมุม (Arachnophobia) โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social phobia) โรคกลัวความสูง (Acrophobia) โรคกลัวความสกปรก (Mysophobia) และโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia)

ราคาการขอรับคำปรึกษาและรักษาโรคกลัว (Phobia) ที่ รพ.ยันฮี

โรคกลัว คืออะไร?

โรคกลัวเกิดจากอะไร?

โรคกลัวมีอาการอย่างไร?

โรคกลัวจำแนกได้เป็นกี่ประเภท?

โรคกลัวที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง?

วิธีรักษาโรคกลัว (Phobia)

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ “โรคกลัว”

โรคกลัว คืออะไร?

‘โรคกลัว’ (Phobia) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ เป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น เช่น กลัวที่แคบ กลัวความมืด กลัวความสูง กลัวภัยธรรมชาติ กลัวยานพาหนะ กลัวเข็มฉีดยา กลัวเจ้านาย กลัวที่ทำงาน กลัวความล้มเหลว กลัวการตัดสินใจ เป็นต้น โรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวและคนทั่วไปไม่กลัวกัน ในกรณีรุนแรงไม่เพียงแค่จะมีอาการหวาดกลัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเอ่ยถึง หรือเห็นสิ่งที่มีความใกล้เคียงกันจะทำให้รู้สึกกลัวด้วย

โรคกลัวเกิดจากอะไร?

ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน อาจเกิดจากปมขัดแย้งที่ติดค้างในจิตใต้สำนึก มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสิ่งนั้นมาก่อน เช่น อาจเคยถูกตำหนิบ่อย ๆ อาจเคยมีปัญหากับที่ทำงานอย่างรุนแรง เป็นต้น ความไม่สมดุลของสารเคมีบางอย่างในสมอง ส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากพบความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวที่ขี้กลัวเหมือนๆ กัน

โรคกลัว

โรคกลัวมีอาการอย่างไร?

ตื่นกลัว วิตกกังวลรุนแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้ หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง หายใจถี่ เหงื่อออก ปวดหัว เวียนหัว พูดติดขัด ปากแห้ง คลื่นไส้ มือ เท้า ตัวสั่น เป็นลมหมดสติ กล้ามเนื้อตึงชา

โรคกลัวจำแนกได้เป็นกี่ประเภท?

โรคกลัวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. โรคกลัวเฉพาะอย่าง (specific phobia)
เป็นชนิดของโรคกลัวที่พบได้บ่อย เช่น กลัวงู แมลงสาบ ผีเสื้อ ของมีคม กลัวเลือด กลัวความสูง ความมืด

2. โรคอะโกราโฟเบีย (agoraphobia)
เป็นกลุ่มอาการกลัว (cluster of phobias) สถานการณ์หลายๆ อย่างที่มีลักษณะร่วมกัน คือหลบออกไปจากตรงนั้นได้ยาก หรือความช่วยเหลือเข้ามาถึงได้ยาก เช่น กลัวที่ชุมชนที่มีคนเบียดเสียด กลัวที่แคบ ห้องไม่มีหน้าต่าง กลัวการนั่งรถตู้ด้านหลัง การเข้าเครื่อง MRI การขึ้นเครื่องบิน

3. โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (social phobia)
ผู้ป่วยจะกลัวเมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของผู้อื่น เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดผ่านไมโครโฟน หรือแม้แต่การขึ้นรถเมล์ประตูด้านหน้า

โรคกลัวที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง?

โรคกลัว

กลัวที่แคบ (claustrophobia)
จะมีอาการอึดอัด ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อต้องอยู่ในที่แคบ ๆ ไม่ปลอดโปร่ง

โรคกลัว

กลัวเลือด (hemophobia)
ความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเห็นเลือด จะมีอาการหน้ามืดคล้ายเป็นลม

โรคกลัว

กลัวเครื่องบิน (aerophobia)
หวาดกลัวหรือกังวลว่าเครื่องบินจะตก พื้นฐานของคนที่กลัวเครื่องบินมาจากการกลัวความสูงหรือกลัวที่แคบมาก่อน

โรคกลัว

กลัวความสูง (acrophobia)
มีความรู้สึกกลัวใจสั่น มือขาสั่น ไม่กล้ามอง เมื่อต้องอยู่บนที่สูง ๆ บางคนอาจกลัวจนเกิดอาการช็อกได้

โรคกลัว

กลัวเชื้อโรค (mysophobia)
มีความกลัวและกังวลเกี่ยวกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ กลัวที่จะสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ โรคนี้จะทำให้คนที่เป็นรักความสะอาดมาก ๆ ทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา

โรคกลัว

กลัวเข็ม (needle phobia)
ความกลัวเมื่อเห็นเข็มส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเข็มฉีดยา ทำให้มีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

วิธีรักษาโรคกลัว

-พฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) เป็นการรักษาหลักโดยให้ปรับพฤติกรรมและฝึกจิตใจ เช่น ฝึกการผ่อนคลายและหายใจที่ถูกต้อง ปรับความคิดและนั่งสมาธิ ให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (graded exposure) โดยเริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวน้อยๆ ก่อน เมื่อหายกลัวแล้วจึงค่อยเผชิญกับสิ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมายที่ผู้ป่วยตั้งใจไว้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยอย่างมาก

โรคกลัว

-การรักษาด้วยยา โดยยาที่นำมาใช้ เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาระงับอาการสั่น หรือเบต้าบล็อกเกอร์ (betablockers) ยาคลายเครียด หรือยาลดความดันเลือด โดยแพทย์จะใช้ยาในผู้ป่วยที่กลัวมากจนไม่ยอมทำพฤติกรรมบำบัด เนื่องจากยาจะช่วยให้ผู้ป่วยกลัวน้อยลงจนกล้าปรับพฤติกรรม เมื่อประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมจึงจะค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ เพราะการให้ยาอย่างเดียวไม่ทำให้หายขาด เมื่อหยุดยาอาการกลัวก็จะกลับมาอีกครั้ง

-เมื่อมีอาการกลัวขั้นรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ควรพบจิตแพทย์

ราคาปรึกษาแพทย์และรักษา โรคกลัว ที่โรงพยาบาลยันฮี

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์ตามอาการของคนไข้แต่ละบุคคล

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับโรคกลัว

ถาม
ตอบ

โรคกลัวขั้นรุนแรงสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้หรือไม่?

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคเครียด จนนำไปสู่ความเสี่ยงในการคิดสั้นฆ่าตัวตาย หรือบางรายเลือกใช้วิธีจัดการความเครียด ความกลัวอย่างไม่เหมาะสม เช่น การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลยันฮี

ถาม
ตอบ

มีวิธีป้องกันและดูแลตัวเองจากโรคกลัวได้อย่างไร?

หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดความกลัว หากเกิดภาวะกลัวขั้นรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมร่างกายตนเองได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคกลัว (phobia) อย่างสมบูรณ์ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ นอกจากนี้ โรคกลัว (Phobia) จะต้องถูกวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้น และต้องไม่เกิดจากปัจจัยของโรคทางสุขภาพกาย หากสาเหตุเกิดจากสารสื่อประสาทบกพร่อง จะได้รับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันสั่งจ่ายยาเพื่อแก้สารสื่อประสาทในสมองให้ทำงานอย่างสมดุล ช่วยปรับกระบวนการคิด เพราะสารสื่อประสาทในร่างกาย จะทำหน้าที่เสมือนกลไกการสื่อสารที่ถูกส่งต่อ ป้อนข้อมูลไปยังระบบต่างๆ เมื่อเกิดบกพร่องก็จะทำให้การทำงานผิดปกติ

แพทย์ผู้เขียนบทความ