chat

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน

เมื่อคนเราอายุมากขึ้นทุกอย่างในร่างกายก็จะเปลี่ยนไป สังเกตได้จากสภาพภายนอกที่ชัดเจนที่สุดอย่างผิวหนังที่จะเริ่มเหี่ยวย่น ขาดความเต่งตึง ขาดคอลลาเจนมาช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่สภาพภายในที่คุณมองไม่เห็นล่ะ จะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน จะมีอะไรที่เสื่อมโทรมลงบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กระดูก’ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของร่างกาย หากวันนี้เราไม่ได้มีการตรวจใดๆ ก็คงจะไม่รู้เลยว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะของโรคกระดูกพรุนหรือไม่

ถ้าใครที่เคยเล่นซนสมัยเด็กหรือเคยเกิดอุบัติเหตุจนต้องขาหัก แขนหัก แล้วต้องเข้าเฝือก คงจะเข้าใจว่ากระดูกนั้นสำคัญขนาดไหนกับร่างกายคนเรา เพราะกระดูกเป็นโครงสร้างหลักที่ช่วยยึดกล้ามเนื้อ ทำให้เราสามารถพยุงตัวเดิน วิ่ง และนั่งได้โดยไม่ล้ม อีกทั้งยังเป็นแหล่งสังเคราะห์เซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ และที่สำคัญกระดูกยังเป็นเสมือนห้องกักเก็บแคลเซียมของร่างกายเรา ซึ่งหากวันหนึ่งแคลเซียมลดจำนวนลงโรคกระดูกพรุนก็จะมาเยือน

หากคุณมีอายุมากกว่า 30 ปี หรือเป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือเป็นชายหนุ่มที่ชอบดื่มเหล้า ติดกาแฟจัด สูบบุหรี่เป็นประจำ ทั้งหมดนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนด้วยกันทั้งสิ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วโรคกระดูกพรุนมักจะพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะความหนาแน่นของมวลกระดูกผู้ชายจะมากกว่า และเมื่อผู้หญิงเรามีอายุมากขึ้นจนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะลดลงทำให้เนื้อกระดูกลดลงตามไปด้วย และนอกเหนือจากปัจจัยทางด้านอายุที่มีผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์, คนที่ขนาดร่างกายผอมจนเกินไป, คนที่รับประทานแคลเซียมต่ำ, คนที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ แม้กระทั่งคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย

สำหรับ ‘โรคกระดูกพรุน’ นี้ คือภาวะที่เนื้อกระดูกทั่วร่างกายมีปริมาณมวลลดลง และมีโครงสร้างทางจุลภาคที่เสื่อมลงจนส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก ทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ ปกติแล้วคนเราจะมีมวลกระดูกสะสมไว้ในร่างกาย มีความหนาแน่นมากในช่วงวัยรุ่นหรือก่อนที่จะอายุ 30 ปี ซึ่งหากร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว เมื่อมวลกระดูกถูกนำไปใช้โดยไม่ได้มีการเพิ่มแคลเซียมเพื่อมาทดแทนที่เสียไป ก็จะส่งผลให้กระดูกของเราอ่อนแอและบางลงในช่วงที่เราอายุมากขึ้นนั่นเอง

วิธิการตรวจโรคกระดูกพรุน

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

วิธีนี้จะเป็นการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์เพื่อบอกความแข็งแรงของกระดูก เป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างให้ผลชัดเจน คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บ และสะดวกสบาย คนไข้แค่นอนนิ่งๆ อยู่บนเตียงแล้วเครื่องมือวัดความหนาแน่นของกระดูกก็จะเคลื่อนตัวเองไปวัดค่ามวลของกระดูกในบริเวณที่เราต้องการ โดยใช้เวลาในการตรวจเพียง 10-20 นาทีเท่านั้น หลังจากตรวจเสร็จแล้ว แพทย์รังสีก็จะมาแปลผลตรวจให้ฟังอีกครั้ง ซึ่งหากผลออกมาว่าคุณมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน แพทย์ก็จะแนะนำในเรื่องของวิธีการรักษาและการดูแลตัวเองต่อไป

* แต่การตรวจความหนาแน่นของกระดูกนี้มีข้อยกเว้นสำหรับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นควรแจ้งต่อแพทย์ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจ

สำหรับใครที่กำลังกังวลว่าหากเป็นโรคนี้แล้วจะรักษาอย่างไร ก่อนอื่นคนไข้ต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาโรคนี้คือการทำให้กระดูกของเรามีความหนาแน่นมากยิ่งขึ้น หรือทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ซึ่งก็มีตัวยาหลายกลุ่มที่ใช้ในการรักษาภาวะกระดูกพรุนได้ ได้แก่ ยาเม็ดฮอร์โมนทดแทน ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาพ่นจมูกแคลซิโตนิน (Calcitonin) ยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) และยาเม็ดแคลเซียม ยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไข้เองต้องระมัดระวังไม่ให้หกล้มรุนแรง ไม่เดินในที่มืดซึ่งเสี่ยงต่อการล้ม ระวังการเดินบนพื้นลื่น และพยายามอย่ายกของหนักมาก

และส่วนหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากวิธีการรักษาก็คือ วิธีการป้องกันตัวเองจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งในเบื้องต้นคุณเองต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเสียก่อน รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เลือกกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ดื่มนมอย่าสม่ำเสมอ รับประทานปลาตัวเล็กทอดกรอบ กุ้งฝอย หรือแม้แต่ยาเม็ดแคลเซียม โดยปริมาณแคลเซียมที่คนทั่วไปควรได้รับต่อวันจะอยู่ที่ 1,000 มิลลิกรัม แต่หากเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน แม้กระทั่งการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็มีส่วนช่วยเช่นกัน ที่สำคัญควรงดการดื่มเหล้า งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์

เมื่อรู้แล้วว่าอะไรคือสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุน คราวนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะว่าจะรักษาตัวเองและคนที่คุณรักอย่างไรให้ไม่ตกอยู่ในภาวะที่มวลกระดูกมีปริมาณลดลง จริงอยู่ว่าโรคนี้อาจจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงหรืออันตรายต่อชีวิต แต่คุณลองคิดเล่นๆ สิว่า หากวันนี้คุณละเลยไม่พาผู้ใหญ่ที่คุณรักไปตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพื่อป้องกันไว้ก่อน เกิดวันข้างหน้าท่านเป็นโรคกระดูกพรุนขึ้นมา แล้วล้มในขณะที่ข้ามถนนล่ะจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก นั่นคือวิธีป้องกันที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งเลยล่ะ