chat

แขนโก่ง ขาโก่ง

อย่าละเลยอาการแขนโก่ง ขาโก่งสามารถรักษาได้

เชื่อว่าหลายๆ คนที่มีลักษณะแขนและขาโก่งตั้งแต่วัยเด็ก หรือโก่งจากอุบัติเหตุ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าจะมีบุคลิกภาพดีแค่ไหน แต่เวลาเดินแล้วแขนและขาโก่ง ก็คงจะยากที่จะดูดีในสายตาคนรอบข้าง ซึ่งแขนโก่งและขาโก่งอาจจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือความผิดปกติของกระดูกที่งอผิดรูปมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ โดยส่วนใหญ่อาการแขนโก่งและขาโก่งจะเกิดขึ้นในเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ สามารถสังเกตได้เมื่อเด็กเริ่มเดิน

แขนโก่งขาโก่ง

ซึ่งลักษณะอาการแขนโก่งและขาโก่งจะเกิดขึ้นบริเวณช่วงข้อศอกและเข่าทั้งสองข้างโค้งแยกออกจากกัน ส่งผลให้เสียบุคลิกภาพและความมั่นใจในการใช้ชีวิต ซึ่งสาเหตุของขาโก่ง สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือแขนและขาโก่งตามธรรมชาติ หรือ แขนและขาโก่งจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย

แขนและขาโก่งตามธรรมชาติ

แขนโก่งขาโก่ง

ส่วนใหญ่จะพบในเด็กทารกแรกเกิดในช่วงอายุต่ำกว่า 18 เดือน เนื่องจากเด็กต้องนอนอยู่ในท่าขดในครรภ์มารดาเป็นเวลานานก่อนคลอด แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเมื่อเด็กเริ่มมีพัฒนาการตามวัย ซึ่งเด็กทารกส่วนใหญ่จะเกิดมาพร้อมอาการแขนโก่ง ขาโก่ง ซึ่งแขนและขาจะยืดเหยียดตรงขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากเด็กยังคงแขนโก่ง ขาโก่งอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 2-3 ปี อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยด้วยภาวะอื่นๆ

แขนและขาโก่งจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย

เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • กระดูกพัฒนาผิดรูปตั้งแต่วัยเด็ก
  • กระดูกแตกหรือหัก แล้วไม่ได้รับการรักษา
  • ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตของกระดูก
  • การบาดเจ็บต่อกระดูกอ่อนด้านในของกระดูก ทำให้มีการปิดของกระดูกเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้แนวของกระดูกผิดรูป
  • โรคกระดูกอ่อน (Rickets) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของการสร้างกระดูก เนื่องจากขาดวิตามินดี ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง แตกหักง่าย ส่งผลให้แขนและขาโก่ง
  • โรคพาเจท (Paget’s Disease) ส่วนใหญ่พบมากในผู้สูงอายุ เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลายกระดูก ทำให้กระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่แข็งแรง อาจทำให้กระดูกโก่งงอได้

การวินิจฉัย“แขนและขาโก่ง”

แขนโก่งขาโก่ง
แขนโก่งขาโก่ง

อาการแขนโก่ง ขาโก่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยวัดจากระยะห่างจากข้อศอกถึงต้นแขน หรือระหว่างหัวเข่าที่ขาโก่งออกมาในขณะที่นอนหงาย

ซึ่งผู้ป่วยเป็นเด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ที่มีลักษณะแขนและขาทั้งสองข้างโก่งไม่เท่ากัน แพทย์อาจทำการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์กระดูกบริเวณที่มีอาการโก่ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกระดูก และตรวจเลือดเพื่อหาว่าอาการโก่งเกิดจากโรคอื่นๆ หรือไม่

การรักษา“แขนและขาโก่ง”

การรักษาแขนโก่ง ขาโก่ง สามารถทำได้โดยการรักษาประคับประคองโดยไม่ต้องผ่าตัดและการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการโก่ง ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการแขนและขาโก่งที่เกิดจากโรคกระดูกอ่อน โรคพาเจท สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ช่วยดามบริเวณแขนและขา หรือใช้วิธีฝึกกล้ามเนื้อต้นแขนและต้นขาให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย หากรักษาด้วยวิธีประคับประคองอาการไม่ได้ผล ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัด สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับมุมให้กระดูกตรงขึ้น โดยตัดกระดูกให้เป็นรูปโค้งแล้วหมุนข้างในให้ตรงกับข้อพับ แล้วนำเหล็กมายึดตรงข้อแล้วยกขึ้นให้เกิดช่องว่าง โดยใส่เหล็กจนกว่ากระดูกมีการเชื่อมติดกัน ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3-6 เดือนขาจึงจะใช้งานได้ตามปกติ อีกทั้งผู้ป่วยควรทำกายภาพและออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อความแข็งแรงและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • การเปลี่ยนข้อเทียม เป็นการตัดผิวกระดูกตั้งแต่ข้อพับของแขนและขาลงมา แล้วนำข้อเทียมที่เป็นโลหะมาใส่เชื่อมต่อให้มีรูปร่างได้สัดส่วน แต่ข้อเทียมมีระยะเวลาการใช้งาน จึงต้องมีการเปลี่ยนข้อเทียมใหม่อยู่เรื่อยๆ หลังผ่าตัดควรระมัดระวังและไม่ควรออกกำลังกายหนัก เพื่อความปลอดภัยและอายุการใช้งานข้อเข่าเทียม
  • การผ่าตัดดัดกระดูกข้อ โดยแพทย์จะตัดกระดูกหน้าแข้งบริเวณใต้เข่า หรือปรับกระดูกข้อศอกให้ได้รูป จากนั้นกระดูกจะค่อยๆ เชื่อมต่ออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งการผ่าตัดดัดกระดูกจะมีอาการบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกข้อศอกหรือหัวเข่า ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • การผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูก เป็นการผ่าตัดหยุดการเจริญเติบโตของกระดูกในด้านที่เจริญเติบโตปกติ เพื่อให้กระดูกด้านที่ผิดปกติได้มีโอกาสเจริญเติบโตและได้ยืดกระดูกแขน ขาออกไป เพื่อรักษาอาการโก่ง

การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด“แขนและขาโก่ง”

แขนโก่งขาโก่ง
แขนโก่งขาโก่ง

หลังผ่าตัดแขนโก่ง ขาโก่งแพทย์จะใส่เฝือกไว้ในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นฟู ซึ่งระหว่างที่พักฟื้นแพทย์จะแนะนำให้ฝึกทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อให้ข้อสามารถเหยียดตรงและงอได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อคนไข้กลับไปรักษาตัวที่บ้านไม่ควรละเลยการฝึกเดิน เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

แขนโก่งขาโก่ง

เมื่อรู้แล้วว่าแขนโก่ง ขาโก่งก็สามารถรักษาได้ ลองสังเกตตนเองดูว่ามีลักษณะแขนและขาโก่งหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็ก หากพ่อแม่สังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าเด็กจะมีอาการแขนและขาโก่ง หรือคนที่มีอาการโก่งจากอุบัติเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจรักษา อีกทั้งยังช่วยป้องกันความผิดรูปของแขนและขาที่จะโก่งมากขึ้น เพราะการตรวจวินิจฉัยอาการตั้งแต่เริ่มแรก จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทัน และได้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษาอีกด้วย

นอกจากอาการแขนโก่ง ขาโก่งแล้ว ปัญหาเรื่องกระดูกและข้อยังคงพบบ่อยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น นิ้วล็อค Trigger Finger , โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ , โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท , โรคกระดูกพรุน , ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียม หรือแม้กระทั่ง เกาต์ ล้วนเป็นปัญหากวนใจในชีวิตประจำวัน หากเจอปัญหาเหล่านี้สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และทำการตรวจรักษาเพื่อสุขภาพที่ดีของกระดูกและข้อค่ะ

แขนโก่งขาโก่ง