chat

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด คืออะไร

เอ็นไขว้หน้า อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไร

หากเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะมีอาการอย่างไร

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร

เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ต้องผ่าตัดหรือไม่

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าโดยการส่องกล้อง

ข้อดีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เข้ารับการผ่าตัดต้องเตรียมตัวอย่างไร จะสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้เมื่อไหร่

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด คืออะไร

ในยุคนี้ ใครๆ ก็หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ทานอาหารคลีน ออกกำลังกาย ตามวิถีความชอบที่แตกต่างกันไป เพื่อร่างกายที่แข็งแรง เพื่อความสนุกสนานและคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว แต่ไม่ว่าจะเล่นกีฬาประเภทใดควรเล่นด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ ทำให้บาดเจ็บได้ตลอดเวลา ทั้งนักกีฬาสมัครเล่นและนักกีฬาอาชีพ อย่างที่เราได้ยินข่าวกันบ่อยๆ ว่ามีนักกีฬาบาดเจ็บต้องได้รับการผ่าตัด และพักฟื้น 1 ฤดูกาล

ซึ่งหนึ่งในอาการบาดเจ็บของข้อเข่าที่มีการบาดเจ็บจนต้องได้รับการผ่าตัดมากที่สุด คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัวแล้วเกิดการเสียหลักล้ม หรือกีฬาที่ต้องมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน สกีเป็นต้น

ด้วยการที่หลายๆ คน ทุกเพศ ทุกวัยหันมาสนใจเล่นกีฬากันมากขึ้นนี่เอง ทำให้จำนวนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การดูแลรักษาที่เหมาะสมนั้นมีส่วนในการทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ดังเดิม ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ข้อเข่าแย่ลงเรื่อยๆ จนอาจเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ในที่สุด

เอ็นไขว้หน้า อยู่ตรงไหน มีหน้าที่อะไร

เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament) เป็นหนึ่งในเส้นเอ็นหัวเข่า อยู่กึ่งกลางของข้อเข่าและยาวไปตามแนวเฉียงจากด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง ยึดระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง เพื่อป้องกันการขยับในแนวหน้าหลัง และป้องกันการบิดหมุนที่มากเกินไปของหัวเข่า เอ็นไขว้หน้าจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของหัวเข่า คือมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของหัวเข่าและหน้าแข้งให้เคลื่อนไหวได้มากน้อยและในมุมต่างๆ ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า

หากเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะมีอาการอย่างไร

การฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้านั้น สามารถเกิดการบาดเจ็บได้ในลักษณะที่มีการปะทะหรือไม่มีการปะทะ จากการกระโดด หรือรีบยกเท้า โดยปกติมักจะเกิดในช่วงเล่นกีฬาและมีการบิดหมุนของหัวเข่าที่รุนแรง ผู้ที่มีเอ็นฉีกขาดมักจะรู้สึกมีเสียงลั่นในข้อ(audible pop) หรือมีเสียงดังบริเวณเข่าเหมือนบางสิ่งขาด หลังจากนั้นจะมีอาการปวดบวมบริเวณเข่า มักจะเดินลงน้ำหนักไม่ได้ หรือได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องพักการใช้งานข้อเข่าหลายสัปดาห์จึงจะเดินได้เป็นปกติ แต่ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเสียความมั่นคงของข้อเข่า รู้สึกว่ามีข้อเข่าทรุด หรือข้อเข่าหลวม ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

หลังจากเอ็นหัวเข่าฉีกขาด อาการปวด อักเสบบริเวณหัวเข่าจะค่อยๆดีขึ้น อาการปวด บวมค่อยๆ ลดลง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง โดยไม่รู้สึกผิดปกติ แต่จะมีอาการเวลาที่หัวเข่าต้องบิดหมุน เช่น เดินเร็ว ขึ้น/ลงบันได วิ่ง เล่นกีฬาเป็นต้น หากรู้สึกว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด หรือมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร

โดยทั่วไปศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อสามารถตรวจวินิจฉัยภาวะเอ็นไขว้หน้าขาด ได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งมีการตรวจร่างกายหลายอย่างเพื่อประกอบการวินิจฉัย อาทิ การถ่ายภาพทางรังสีปกติ ( Plain X-Ray) ซึ่งไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัย แต่ไว้สำหรับตรวจหาความผิดปกติอื่น เช่น ภาวะกระดูกหัก

เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ต้องผ่าตัดหรือไม่

การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด โดยปกติแพทย์จะทำการใส่เฝือกอ่อน และให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ จนเมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดลง เมื่ออาการทุเลาแล้วแพทย์จะทำการตรวจวิเคราะห์เข่าอีกครั้ง เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้ในระดับใด หากผู้ป่วยไม่สามารถใช้เข่าได้เหมือนเดิมก็จำเป็นจะต้องลดกิจกรรมลง ถ้าไม่สามารถลดกิจกรรมได้ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดลำดับถัดไป

การรักษาโดยการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า มีข้อบ่งชี้ คือ

  • ผู้ป่วยที่ต้องการใช้งานข้อเข่าในกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ทั้งในการทำงานหรือเล่นกีฬา ที่มีการบิดหมุนของข้อเข่า
  • ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บร่วมในส่วนประกอบอื่นของข้อเข่า ที่ต้องการการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดที่สามารถเย็บซ่อมได้ หรือ กรณีที่ข้อเข่าไม่สามารถงอเหยียดได้เต็มที่ จากการที่มีเนื้อเยื่อเข้ามาขัดในข้อ
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเสียความมั่นคงของข้อเข่ามาก ข้อเข่าหลวมจนรบกวนการใช้งานในชีวิตประจำวัน

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าโดยการส่องกล้อง

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้มีแผลผ่าตัดที่เล็กลง และช่วยการฟื้นตัวของผู้ป่วยให้เร็วขึ้น การส่องกล้องข้อเข่ามีส่วนช่วยในการยืนยันการวินิจฉัยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด สามารถดูส่วนประกอบอื่นภายในข้อได้ว่ามีพยาธิสภาพร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หมอนรองข้อเข่า เอ็นไขว้หลัง กระดูกอ่อนผิวข้อ เป็นต้น ซึ่งสามารถทำการรักษาไปพร้อมกันได้

การผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าจะเป็นการนำเอ็นจากส่วนอื่นของร่างกายมาทดแทน เช่น เอ็นสะบ้า เอ็นแฮมสตริง เป็นต้น โดยเจาะกระดูกแข้งและกระดูกต้นขาในตำแหน่งจุดเกาะของเอ็นไขว้หน้า แล้วจึงร้อยเอ็นที่เอามาทดแทนเข้าไปตามช่องที่เจาะไว้ จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการยึดตรึงเอ็น

ข้อดีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

  • ได้ผลดี
  • งอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก
  • โดยในการเดิน การใช้ไม้ค้ำยันจะแตกต่างตามอวัยวะที่บาดเจ็บ มีตั้งแต่ไม่ใช้เลยจนถึงใช้เต็มที่ 4 สัปดาห์
  • หายเร็ว
  • ฟื้นตัวไวเมื่อทำกายภาพบำบัด

เข้ารับการผ่าตัดต้องเตรียมตัวอย่างไร จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เมื่อไหร่

ก่อนการผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัดควรเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้เส้นเอ็นหลวม ติดช้า หรือไม่ติด ภายหลังการผ่าตัด ต้องมีการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนหัวเข่ารุนแรงจนกว่าแพทย์ผู้ผ่าตัดอนุญาต

หลังการผ่าตัด
  • 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด ให้ใช้ไม้เท้า และสนับเข่า
  • 12 สัปดาห์หลังผ่าตัด สามารถเดินเร็วได้
  • 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด หยุดใช้ไม้เท้าและสนับเข่า
  • 24-36 สัปดาห์หลังผ่าตัด ทำกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับกีฬาแต่ละแบบ

ผู้ป่วยควรมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 80 – 90 % ของข้างที่ปกติ จึงสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ปีหลังผ่าตัด

ทั้งนี้มีการศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 94 ที่เข้ารับการผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าจะสามารถใช้ข้อเข่าได้ตามปกติต่อไปเป็นเวลา 15-20 ปี และมีเปอร์เซ็นต์การเกิดข้อเข่าเสื่อมน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีดั้งเดิม

นักกีฬาและผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจต้องหยุดเล่นกีฬาในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของการรักษา ประกอบกับความเข้าใจในกลไกเข่าที่มากขึ้น ทำให้สามารถแก้ไขให้กลับไปใช้งานใกล้เคียงเดิมได้ แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นสำหรับนักกีฬามือสมัครเล่นและมืออาชีพ ควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การวอร์มอัพร่างกายที่ดีและนานเพียงพอ สภาพพื้นสนาม รองเท้า ตลอดจนปัจจัยภายในเข่า นั่นคือ การบาดเจ็บในอดีต กล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกับการป้องกันการบาดเจ็บของเข่าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี