chat

เบาหวานในเด็ก

หลายคนยังคงเข้าใจผิดว่า โรคเบาหวานนั้นเกิดเฉพาะกับวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นกับวัยเด็กได้ด้วย พบได้ตั้งแต่เด็กที่อายุไม่ถึง 1 ปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากร่างกายมีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด ร่างกายมีการหลั่งอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่เพียงพอหรืออินซูลินทำงานได้ไม่ดีที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานมาตรวจภาวะเบาหวานในเด็กที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาให้กลับมาสุขภาพดีต่อไป

ราคาการตรวจและรักษาโรคเบาหวานในเด็กที่โรงพยาบาลยันฮี

ชนิดของเบาหวานในเด็ก

ลักษณะอาการของเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานในเด็ก

แนวทางการรักษาโรคเบาหวานในเด็ก

แนวทางการป้องกันโรคเบาหวานในเด็ก

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับเบาหวานในเด็กที่โรงพยาบาลยันฮี

ชนิดของเบาหวานในเด็ก

ชนิดของเบาหวานในเด็กแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes)

เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดสำหรับเบาหวานในเด็ก เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เซลล์ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ ต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเท่านั้น และมักเป็นโรคเมื่ออายุยังน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes)

ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงที่เข้าวัยรุ่นแล้ว เกิดจากฮอร์โมนอินซูลินที่มีพอเพียงแต่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินสซูลิน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ภาวะอ้วน ปัจจัยทางพันธุกรรม และประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือมากกว่าปกติ ต้องรักษาด้วยการรับประทานยาและการฉีดอินซูลินร่วมกับการปรับวิถีการดำเนินชีวิต เพื่อลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีเบาหวานชนิดอื่น ๆ เช่น เบาหวานที่เกิดจากการได้รับยารักษาโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดน้ำตาลสูงในเลือด อาทิ ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

ลักษณะอาการของเด็กที่เป็นโรคเบาหวาน

  • เบาหวานชนิดที่ 1

เบาหวานในเด็ก

อาการของโรคเบาหวานเกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลสูงในเลือด น้ำตาลจึงรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเยอะ ดื่มน้ำบ่อย ทานเก่งแต่น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หิวบ่อย แต่น้ำหนักตัวลด เด็กกลุ่มนี้มักมีรูปร่าง ผอม หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา จะทำให้เลือดเป็นกรดและมีสารคีโทนคั่ง ที่เรียกว่า ดี เค เอ (DKA, diabetic ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที เด็กจะมีอาการอาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบลึก ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้จากสารคีโทน ถ้าเป็นรุนแรงอาจหมดสติหรือโคม่าได้

  • เบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวานในเด็ก

มักพบในเด็กที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในระยะที่เริ่มเป็นหนุ่มสาวแล้ว ผิวหนังต้นคอ หนา ดำ บางรายอาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย เช่น ที่ช่องคลอด ผิวหนัง มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานหลายคน ประมาณร้อยละ 50-75 ของผู้ป่วยจะมีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะมีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ปกครองจึงพามาตรวจคัดกรอง เบาหวานในเด็ก ซึ่งเมื่อถามอาการ จะมีอาการร่วมคือปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก เด็กน้ำหนักลด นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่มีอาการ แต่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพทั่วไปหรือมาปรึกษาแพทย์เรื่องอ้วนและแพทย์ทำการตรวจเลือดแล้วพบน้ำตาลสูงในเลือดนอกจากนี้ในเด็กอ้วนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจมีความผิดปกติของระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันเลือดสูง ไขมันสูงในเลือด นอนกรน ปวดข้อ ไขมันเกาะที่ตับประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานในเด็ก

ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารที่มีพลังงานเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง เกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง

ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังกลืนน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป

ตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มโดยไม่ได้งดอาหารที่ให้พลังงาน เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวานเช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคเบาหวานในเด็ก

  • การใช้ยา คือ ยาฉีดอินซูลินสำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเด็กจำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ทุกวันไปตลอดชีวิต และต้องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเอง
  • เบาหวานชนิดที่ 2 ควรดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการทานยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ถ้าการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยยาหรือต้องฉีดอินซูลินร่วมด้วย

แนวทางการป้องกันโรคเบาหวานในเด็ก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่เบาหวานชนิดที่ 2 สามารถดูแลและป้องกันตัวเองเบื้องต้นได้จากการปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัยมากขึ้น เช่น การเลือกกินอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มัน และมีรสหวานจัด เลือกกินอาหารตามหลักโภชนาการ จัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการอออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าในปัจจุบัน โรคเบาหวานเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ แต่การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคการรักษา แนวโน้มของโรค รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของครอบครัวและโรงเรียน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก อันจะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมและพบปะผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยกันจะช่วยปรับแนวคิด ความเข้าใจในโรค และมีกำลังใจในการดูแลเบาหวานด้วยตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม

ราคาการตรวจและรักษา เบาหวานในเด็ก ที่โรงพยาบาลยันฮี

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ เบาหวานในเด็กที่โรงพยาบาลยันฮี

ถาม
ตอบ

ความแตกต่างของโรคเบาหวานในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่?

ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก โอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี

ถาม
ตอบ

ความเสี่ยงต่อภาวะโรคแทรกซ้อน?

  • เบาหวานขึ้นตา ทำให้ตามองเห็นไม่ชัด และอาจร้ายแรงถึงตาบอด หากมีการติดเชื้อหรืออักเสบร่วมด้วย
  • โรคไต การเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ส่งผลทำให้ไตเสื่อม
  • หลอดเลือดแดงตีบตัน มีแข็งและเปราะบางกว่าปกติ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือแตก ที่จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต และการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจวายมากขึ้น
  • ระบบประสาทเสื่อม มีอาการชาบ่อยๆ การรับความรู้สึกตามอวัยวะต่างๆ ลดลงจนไร้ความรู้สึก เช่น มือ เท้า ก้น เป็นต้น

แพทย์ผู้เขียนบทความ

หัตถการของศูนย์กุมารเวช

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม