chat

เท้าปุก เท้าแป

มารู้จักกับโรคเท้าปุก เท้าแป

โรคเท้าปุก เท้าแป แตกต่างกันอย่างไร

การวินิจฉัยโรคเท้าปุก เท้าแป

การรักษาโรคเท้าปุก เท้าแป

ภาวะแทรกของโรคเท้าปุก เท้าแป

การดูแลรักษาเมื่อเป็นโรคเท้าปุก เท้าแป

มารู้จักกับโรคเท้าปุก เท้าแป

โรคเท้าปุก เท้าแป เกิดจากความผิดปกติหนึ่งที่พบได้ในเด็กทารกคือ เท้าบิดผิดรูปหรือที่เรียกกันว่า เท้าปุก เท้าแป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เนื่องจากเด็กที่มีอาการเท้าปุก เท้าแป จะพบสาเหตุของความผิดปกติได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม กระดูกบริเวณข้อเท้าผิดรูปตั้งแต่กำเนิด การเคลื่อนของกระดูกบริเวณข้อเท้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลที่ตามมาหรือเป็นสาเหตุของเท้าปุก เท้าแปก็ได้

โรคเท้าปุก เท้าแป เป็นความผิดปกติของรูปเท้า ซึ่งมักเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจค่อยๆ เกิดขึ้นในภายหลัง อาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ โดยลักษณะโรคเท้าปุกนั้นจะมีลักษณะบิดหมุนเข้าด้านในและปลายเท้าจิกลง ส่วนเท้าแปเป็นภาวะผิดปกติอีกอย่างหนึ่งที่เกิดกับเท้าเด็กซึ่งมีลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด

โรคเท้าปุก เท้าแปแตกต่างกันอย่างไร

เท้าปุกและเท้าแปมีความแตกต่างกันตรงที่เท้าแปนั้นจะมีลักษณะเท้าของเด็กจะยังมองไม่เห็นอุ้งเท้าที่ชัดเจนจนกว่าจะอายุ 5 ขวบ ทำให้การรักษามักจะเป็นการรักษาในเด็กที่โตแล้ว แต่เด็กที่เป็นเท้าแปจะสามารถวิ่งเล่น ทำกิจกรรมได้ตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ก็มีข้อด้อยคือเมื่อเล่นกีฬาหรือเดินเป็นระยะเวลานานอาจจะเกิดอาการเมื่อยบริเวณข้อเท้าและหน้าแข้งง่ายกว่าเด็กทั่วไป

การวินิจฉัยโรคเท้าปุก เท้าแป

โรคเท้าปุก สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจร่างกาย ซึ่งการวินิจฉัยโรคเท้าปุก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

โรคเท้าปุกเทียม (postural clubfoot)

เกิดจากท่าผิดปกติของเท้าทารกที่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา มีลักษณะเท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งไม่มีรอยลึกผิวหนังด้านในของฝ่าเท้าและด้านหลังของข้อเท้า จึงสามารถดัดให้เท้าอยู่ในลักษณะเหมือนเท้าปกติได้ง่าย ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้โดยการดัดเท้าหรือใส่เฝือก

โรคเท้าปุกแท้ (congenital clubfoot)

ไม่สามารถดัดให้ความผิดรูปหายไปได้ ซึ่งการตรวจครั้งแรกพบว่าเท้าบิดเข้าด้านในและมีรอยลึกของผิวหนังด้านในของฝ่าเท้าและด้านหลังของข้อเท้า ขนาดของเท้ามักเล็กกว่าเท้าข้างที่ปกติ ซึ่งในกลุ่มนี้ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคเท้าปุก

โรคเท้าปุกชนิดที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคอื่น (syndromic หรือ teratologic clubfoot)

โรคถุงน้ำในไขสันหลัง (myelomeningocele) โรคกล้ามเนื้อยึดติดแข็ง (arthrogryposis multiplex congenita) กลุ่มนี้เท้าปุกมักแข็งและดัดแก้ไขได้ยาก ใส่เฝือกดัดไม่ค่อยได้ผล และพบว่ากลับเป็นซ้ำได้บ่อย

ส่วนโรคเท้าแปสามารถวินิจฉัย 3 ลักษณะ คือ เท้าแบนหรือไม่มีอุ้งเท้า หลังเท้าที่โก่งนูน และมีอุ้งเท้าปานกลาง ซึ่งโรคเท้าแปจะไม่ส่งผลต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่มีข้อด้อยคือ เมื่อเล่นกีฬาหรือเดินเป็นระยะเวลานาน จะเกิดอาการเมื่อยบริเวณข้อเท้าและหน้าแข้ง และพบอีกว่าในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่ไม่มีอุ้งเท้าจะมีปัญหาเรื่องการปวดเมื่อยเท้าง่าย และเป็นอีกสาเหตุทำให้เกิดข้อเท้าพลิกได้บ่อย โดยมีความเชื่อว่าการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณเท้าที่ไม่สมดุลกัน มีผลทำให้อุ้งเท้าทางด้านในของเท้าแบนราบลง

การรักษาโรคเท้าปุก เท้าแป

การรักษาโรคเท้าปุก

การรักษาโรคเท้าปุก ควรรีบรักษาเพราะถ้าปล่อยไว้กระดูกในเท้าจะเจริญเติบโตผิดแนว ทำให้กระดูกและข้อในเท้าผิดรูปอย่างถาวร และถ้าถึงตอนนั้นการรักษาอาจต้องผ่าตัดตกแต่งกระดูกภายในเท้าเท่านั้น จึงจะทำให้เท้ามาอยู่ในรูปร่างใกล้เคียงเท้าปกติได้ ในบางรายเท้าปุกแข็งปานกลางและแข็งไม่มากการดัดดาม จะได้ผลดีโดยใช้ระยะเวลาในการใส่เฝือกประมาณ 2 เดือน แพทย์จะนัดมาเปลี่ยนเฝือกและดัดเป็นระยะ ส่วนในรายที่แข็งมากอาจต้องการการผ่าตัดเพื่อคลายเนื้อเยื่อเอ็นที่แข็ง และจัดแนวกระดูกเท้าใหม่

การรักษาโรคเท้าแป

การรักษาโรคเท้าแป สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริมรองเท้า จะช่วยดันให้มีอุ้งเท้าเหมือนปกติ เพื่อลดปัญหาการปวดเมื่อยบริเวณน่อง หรือเลือกรองเท้าที่เสริมอุ้งเท้า หากมีอาการรุนแรงอาจจะต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษา ซึ่งการใช้อุปกรณ์เสริมรองเท้าในการรักษาเป็นวิธีการแค่ชั่วคราวเท้านั้น อาการเท้าแปไม่สามารถรักษาให้หายขาดเหมือนเท้าปุกได้

ภาวะแทรกของโรคเท้าปุก เท้าแป

โรคเท้าปุก เท้าแป สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ซึ่งหากอาการเท้าปุก เท้าแปเกิดอาการรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเดินของผู้ป่วย จนทำให้เกิดการสูญเสียการทรงตัวและดีดตัวของเท้า จะทำให้ปวดที่เท้าและหลังเท้ามากขึ้น

หากสูญเสียการทรงตัวและลักษณะรูปเท้าที่เปลี่ยนไปทำให้เท้าเกิดความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้าเกิดงอและติดกันแน่น นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป หนังหนาด้าน เนื่องจากไม่สามารถลงแรงไปที่เท้าได้เต็มที่ แรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวจึงไปลงที่ขามากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหน้าขาอักเสบ ในกรณีที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจติดเชื้อ ข้อเท้าเคลื่อนไหวได้ไม่ดี กระดูกหายช้าและเกิดอาการเจ็บอยู่ แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่พบได้ไม่บ่อยนัก

การดูแลรักษาเมื่อเป็นโรคเท้าปุก เท้าแป

ควรสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับลักษณะของฝ่าเท้า

สวมอุปกรณ์เสริมที่เท้าเพื่อลดอาการปวดเท้า

รับประทานยาเพื่อลดอาการปวด

กรณีคนที่เป็นโรคอ้วนควรลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกระแทกที่เท้า

หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงกระแทกบริเวณเท้า

นอกจากการผ่าตัดแก้ไขโรคเท้าปุก เท้าแปแล้ว ยังมีการแก้ไขความพิการทางกระดูกและข้อ เช่น นิ้วมือผิดรูป แขนโก่ง ขาโก่ง  เป็นต้น อีกทั้งทางศูนย์กระดูกและข้อ ยังมีการรักษาโรคนิ้วล็อค  การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม  อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคเท้าปุก เท้าแป ตั้งแต่แรกเกิดจะได้ผลดีกว่าตอนโตแล้ว พ่อแม่จึงควรนำบุตรเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อทำการรักษาและฟื้นฟูอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม