chat

เตรียมพร้อมอย่างไรยาม… ตั้งครรภ์

เตรียมพร้อมอย่างไรยามตั้งครรภ์

เตรียมพร้อมอย่างไรยาม..ตั้งครรภ์
เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์

ระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ เป็นระยะเวลาที่แม่ต้องอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกาย แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความปิติยินดีและความหวังที่จะได้พบกับสมาชิกใหม่ตัวน้อยๆของครอบครัว ระยะเวลา 40 สัปดาห์นี้ การดูแลสุขภาพของแม่ที่ตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อลูกตัวน้อยในท้องทุกด้านทั้งด้านกายและใจ คุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งท้องครั้งแรก ต้องหาข้อมูลในการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกในครรภ์ อาหารการกิน การออกกำลังกาย สิ่งที่ควรและไม่ควรทำระหว่างตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้อง ฯลฯ ซึ่งคุณแม่แต่ละคนก็จะมีอาการหรือภาวะต่างๆในช่วงตั้งครรภ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะคุณแม่ในวัยทำงานที่ต้องเดินทางไปทำงานด้วยแล้ว ยิ่งต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เราจึงรวบรวมข้อมูลที่คุณแม่ทุกคนควรรู้เพื่อช่วยคุณแม่ทั้งหลายอีกแรงในการดูแลสายใยรักของคุณด้วยดีตลอดเวลา 9 เดือน

หากคุณกำลังตั้งครรภ์

ก่อนที่จะได้รับการตรวจและยืนยันจากแพทย์ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณกำลังตั้งครรภ์นั้นจะมีอาการที่บ่งบอกได้หลายอาการซึ่งแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่เอง บางคนแทบไม่มีอาการใดๆเลย แต่บางคนก็มีหลายอาการพร้อมๆกันได้ เช่น

  • ประจำเดือนไม่มาตามกำหนดโดยเฉพาะถ้าปกติประจำเดือนคุณมาสม่ำเสมอ หรือประจำเดือนอาจจะมาน้อยในช่วงที่มีการฝังตัวของไข่ในมดลูก และจะเกิดขึ้นประมาณ 8-10 วัน ก่อนที่ประจำเดือนปกติจะมา คุณสามารถแยกแยะจากประจำเดือนปกติได้ หากประจำเดือนมาก่อนกำหนด หรือหากประจำเดือนกระปริดกระปรอย สีอ่อน และไม่ได้มาตามขนาดปกติ ซึ่งอาจจะมามาก
  • มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ เหม็นกลิ่นอาหาร อาการแพ้ท้องนี้เกิดได้ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มักเป็นในช่วงเช้า
  • อาการเหนื่อยง่าย เมื่อคุณตั้งครรภ์กระบวนการเผาผลาญพลังงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับการปรับตัว โดยมากแล้วอาการนี้จะหายไปในสัปดาห์ที่ 12
  • ระบบขับถ่ายผิดปกติ มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น บ่อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากทารกกำลังเติบโตอยู่ในมดลูกและกดทับกระเพาะปัสสาวะ หรือ อาการท้องผูกเนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลงทำงานได้น้อยลง
  • อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยไม่มีอาการไข้

หากสังเกตอาการดูแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าท้อง-ไม่ท้อง ควรพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นชุดตรวจปัสสาวะตรวจสอบการตั้งครรภ์ สามารถซื้อมาทดสอบเองได้ที่บ้าน หาซื้อไม่ยาก มีขายตามร้านขายยาทั่วไป วิธีนี้จะมีความแม่นยำกว่าดูจากสภาพทางกายทั่วไป แต่ถ้าตรวจแล้วผลว่าไม่ตั้งครรภ์หรือเป็นลบ แต่คุณยังมีอาการที่ชวนสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจ ซึ่งการทดสอบการตั้งครรภ์ที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และได้ผลแม่นยำ คือ การตรวจปัสสาวะ ที่เรียกว่า Pregnancy test วิธีนี้จะได้ผลแม่นยำ 100% หากตรวจหลังจากประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไปแล้ว 35-40 วัน หรือเลยกำหนดที่ประจำเดือนควรมา 7-10 วันขึ้นไป ในกรณีที่คุณแม่มาฝากครรภ์ครั้งแรกแล้วไม่เคยตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์มาก่อน แพทย์จะใช้วิธีการตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ด้วย

ส่วนการตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ก็สามารถทำได้ ผลตรวจเลือดจะแม่นยำ 100% หากตรวจหลังการปฎิสนธิ 2 สัปดาห์ แต่วิธีนี้ไม่นิยมเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงและทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

ข้อควรปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์มีคำแนะนำในการดูแลตัวเองและครรภ์ง่ายๆดังนี้

  • ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
  • ควรล้างหัวนมด้วยสบู่อ่อนๆ กับน้ำ หากหัวนมบอดหรือสั้นควรค่อยๆดึงหัวนมขึ้นเบาๆทุกวัน
  • นอนหลับไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง และทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่กังวลหรือเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่แต่ละท่าน ซึ่งมีสุขภาพ อายุ ที่แตกต่างกัน
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์และช่วงที่ครรภ์ใกล้กำหนดคลอด ควรปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
  • การจัดการกับอาการแพ้ท้อง ซึ่งมักจะเป็นในช่วง 3 เดือนแรก ด้วยความเป็นกังวลที่ทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย แปรปรวนและหงุดหงิดง่าย คลื่นไส้อาเจียนตอนเช้าๆ หรือตอนกลางวัน อ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร ร่างกายซูบซีดอิดโรย ตัวดำ หรือเหลืองซีด น้ำหนักตัวลด อาการนี้สามีอาจมีอาการร่วมด้วย ที่เรียกว่า แพ้ท้องแทนเมีย ซึ่งถ้าปล่อยให้อาการเหล่านี้เป็นมากเป็นบ่อย อาจส่งผลกระทบถึงทารกที่กำลังจะคลอดออกมาตัวอาจเล็กลง และเป็นโรคขาดสารอาหารได้ หรืออาจจะคลอดออกมาก่อนกำหนด อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาเจียนคลื่นไส้มากคือ ร่างกายแม่รับประทานอาหารน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ พยายามอย่าให้ท้องว่าง โดยทานอาหารอยู่เสมอแต่ทานทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ หรือมีลูกอมเปรี้ยวหวานไว้ติดตัวเสมอ ควรดื่มน้ำนมอุ่นๆ หรือน้ำสุกอุ่นๆ ช่วงเช้าละลายยาหอมสำหรับสตรีมีครรภ์ให้กินเพื่อแก้อาเจียน หรือกินวิตามินบำรุงจำพวกวิตามินรวม วิตามินบี 12 และบี 1 แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ คุณแม่มากกว่าครึ่งจะมีอาการแพ้ท้อง บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย คนที่แพ้น้อยๆ อาจมีแค่เหม็นอาหารนิดหน่อยวิงเวียนคลื่นไส้เล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับอาเจียน ส่วนคนที่เป็นมากควรปรึกษาแพทย์
  • ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ อ่อนๆ เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกในครรภ์ ด้วยการตรวจอย่างละเอียดและดูแลตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์ โดยเลือกโรงพยาบาลหรือแพทย์ตามความสะดวก เช่นใกล้บ้านหรือที่ทำงาน

ฝากครรภ์ เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งไม่ว่าจะท้องแรกหรือท้องที่เท่าไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะเวลายาวนานถึง 9 เดือนอาจมีอาการต่างๆที่ทำให้ลูกน้อยของคุณไม่มีโอกาสเกิดมาให้คุณชื่นชม การฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจครรภ์สม่ำเสมอ ดูแลทั้งคุณแม่และคุณลูกในครรภ์ให้รอดปลอดภัยตลอดเวลา 40 สัปดาห์ มีการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอซึ่งสำคัญมากโดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่นเบาหวาน สูตินรีแพทย์และพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่และคนในครอบครัว อาหารและยา ตลอดจนแก้ไขอาการที่อาจผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อให้ลูกน้อยของคุณได้เกิดมาเป็นสายใยแห่งครอบครัวอย่างสมบูรณ์ที่สุด แนะนำการสร้างพัสฒนาการลูกน้อยในครรภ์ เช่น การลูบท้อง การทำจิตใจ การสื่อสารกับลูกในครรภ์ตลอดเวลาที่คุณตั้งครรภ์ 9 เดือน ให้คุณมีเทคนิคที่จะพัฒนาการรับรู้ของลูกในครรภ์เพื่อให้แม่และลูกมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีจนถึงกำหนดคลอด

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่าง ตั้งครรภ์

ครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์ช่วงท้าย มักมีอาการความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ข้อเท้า เท้า หรือมือบวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ถ้ามีอาการเหล่านี้ แพทย์ต้องดูแลเป็นพิเศษ และถ้า ความดันโลหิตสูงควบคุมไม่ได้ อาจจะเกิดอันตรายมาก ทำให้ชักหรือหมดสติได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนมากๆ อาจมีการให้ยาลดความดัน งดอาหารที่มีรสเค็มจัด ถ้าอาการรุนแรงอาจจะต้องรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และแพทย์อาจจะกระตุ้นให้เกิดการคลอดขึ้นก่อนกำหนด

ทารกเล็กกว่าอายุครรภ์ ทารกบางคนเติบโตไม่ปกติในครรภ์ ทำให้มีขนาดตัวเล็กกว่าปกติได้หากมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาทิ คุณแม่ที่สูบบุหรี่ หรือโภชนาการไม่ดีได้รับสารอาอาหารไม่ครบถ้วน หรือเกิดจากภาวะสุขภาพของคุณแม่เอง เช่น รกไม่สมบูรณ์ เป็นเบาหวาน เป็นต้น หากพบว่าทารกมีความผิดปกติดังกล่าว จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษตลอดการตั้งครรภ์ และอาจจำเป็นต้องเร่งการคลอดให้เร็วขึ้น เพื่อความปลอดภัยของทารก

การตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะที่พบได้ ซึ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดควรไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอเพราะครรภ์แฝดอาจทำให้คุณแม่เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจมีผลต่อการคลอด จึงอย่าละเลยเรื่องการฝากครรภ์เป็นอันขาด

มีอาการเลือดออกจากช่องคลอด ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในระยะกี่สัปดาห์ไม่ต้องรอดูอาการอะไรทั้งสิ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงก่อน 28 สัปดาห์ อาจเป็นอาการนำของการแท้ง แต่ถ้ามีเลือดออกหลังจากนั้นอาจเกิดจากรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ทั้งสิ้น

สิ่งที่คุณแม่ควรพิจารณาก่อนเลือกว่าจะ ฝากครรภ์ ที่ไหนดี

  • ความสะดวกของสถานพยาบาลที่คุณแม่ไปพบแพทย์ สะดวกต่อการเดินทางเพียงใดถึงแม้ใกล้แต่การจราจรติดขัดมากน้อยเพียงใด หากเกิดกรณีฉุกเฉิน คุณแม่สามารถพบคุณหมอได้ที่ไหน อย่างไรบ้าง มีการติดต่อที่สะดวกไหม
  • ตารางวัน เวลา ของโรงพยาบาลหรือคลินิก ที่คุณหมอออกตรวจในแต่ละวัน
  • จำเป็นต้องนัดล่วงหน้าทุกครั้งหรือไม่ และนัดหมายกับใคร หมายเลขโทรศัพท์อะไร
  • สามารถโทรศัพท์สอบถามปัญหา ขอคำแนะนำจากคุณหมอหรือบุคลากรสะดวกหรือไม่
  • หากไม่ใช่เวลาที่คุณหมอปฏิบัติงาน สามารถพบหมอท่านอื่น หรือฝากให้หมอท่านไหนดูแลแทน
  • ขอทราบข้อมูลว่าคุณหมอท่านที่ดูแลอยู่ มีความชำนาญด้านใดเป็นพิเศษ เช่น สูติ-นรีเวช หรือการตั้งครรภ์
  • การบริการและการให้คำแนะนำเหมาะสมดีหรือไม่ เมื่อคุณแม่มีข้อสงสัย ทุกคำถามได้รับคำตอบหรือไม่ การไปตรวจเป็นไปอย่างละเอียด เอาใจใส่หรือไม่
  • หลักการรักษา คำแนะนำหรือการดูแลของหมอท่านนี้คุณแม่เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร มีคำอธิบายเพื่อช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้ดีหรือละเอียดพอไหม

ครั้งแรกที่คุณแม่มาฝากครรภ์

คุณแม่มือใหม่ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกอาจเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง ผิดกับคุณแม่ที่ผ่านการมีบุตรมาแล้ว ก็จะพอทราบขั้นตอนของการฝากครรภ์ ซึ่งจริงๆ แล้วการมาฝากครรภ์ครั้งแรกก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่อาจต้องใช้เวลานานอยู่บ้างเนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องตรวจหลายอย่าง มาดูกันค่ะว่าเรื่องทั่วๆไปที่จะพบได้เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรกมีอะไรบ้าง

  • แพทย์จะสอบถามข้อมูลสำคัญๆเกี่ยวกับตัวคุณแม่ อาทิ
    – วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อใช้คำนวณอายุครรภ์ ถ้าจำวันที่แน่นอนไม่ได้เนื่องจากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แพทย์จะคำนวณอายุครรภ์ด้วยวิธีอื่น จึงไม่ต้องกังวล
    – ประวัติส่วนตัวต่างๆ อาทิ ประวัติการมีประจำเดือน, การตั้งครรภ์, โรคประจำตัวของคุณแม่และคนในครอบครัว, ประวัติการผ่าตัด, การแพ้ยา, วิธีการคุมกำเนิด, การฉีดวัคซีน เป็นต้น
  • แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจหน้าท้องดูขนาดมดลูกที่โตขึ้น
  • ตรวจเลือดดูหมู่เลือด, ภาวะซีด, โรคธาลัสซีเมีย, ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV), ซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น สำหรับผลเลือดบางตัวอาจทราบผลในวันนั้นเลย แต่บางตัวอาจต้องแจ้งให้ทราบในนัดครั้งถัดไป กรณีพบว่าผลเลือดมีความผิดปกติ แพทย์จะให้คำแนะนำและแนวทางในการรักษาที่ปลอดภัยกับทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
  • แพทย์จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์อย่างละเอียด และอธิบายถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
  • แพทย์จะนัดมาตรวจครรภ์ครั้งถัดไปในอีกประมาณ 1 เดือน โดยทั่วไปการนัดตรวจครรภ์จะปฏิบัติดังนี้ ถ้าตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนแรก แพทย์จะนัดตรวจเดือนละครั้ง หลังจากนั้นจนถึงเดือนที่ 8 จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ พอในเดือนที่ 9 เป็นต้นไปจะนัดตรวจทุกสัปดาห์หรือตามแพทย์สั่ง แต่การนัดตรวจอาจไม่เป็นไปตามกำหนดที่ว่ามาก็ได้หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • คุณแม่จะได้รับสมุดฝากครรภ์กลับบ้านไปด้วย ซึ่งในสมุดจะมีรายละเอียดสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ควรพกสมุดฝากติดตัวมาทุกครั้งที่มาพบแพทย์

การฝากครรภ์ในครั้งถัดๆ ไป

เมื่อคุณแม่มาฝากครรภ์ตามนัด แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจขนาดของครรภ์ ฟังเสียงหัวใจของลูกน้อยในกรณีที่อายุครรภ์เกิน 5 เดือน รวมถึงการตรวจปัสสาวะเพื่อดูโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ

แพทย์จะให้คุณแม่รับประทานยาบำรุงเลือด เพื่อป้องกันภาวะซีด ซึ่งจะเริ่มให้เมื่ออายุครรภ์เกิน 4 เดือนไปแล้ว เหตุที่ไม่ให้ในช่วง 3 เดือนแรกเพราะหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง ยาบำรุงเลือดอาจไปกระตุ้นให้อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนเป็นมากขึ้น

การตรวจอัลตราซาวนด์ หลายท่านมักเข้าใจผิดว่าการทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศทารกอย่างเดียวจริงๆ แล้วยังใช้ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ด้วย ซึ่งการทำอัลตราซาวนด์ จะทำอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงตั้งครรภ์หรือทุกไตรมาส โดยทั่วไปนิยมอัลตราซาวนด์ เมื่ออายุครรภ์ครบ 8 สัปดาห์ไปแล้ว ถ้าเป็นการดูเพศทารกควรทำหลัง 12 สัปดาห์ เพราะจะเริ่มแยกได้ว่าอวัยวะเพศภายนอกเป็นชายหรือหญิง แต่ถ้าจะให้ชัดเจนควรมีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามการดูเพศทารกจะตรงตามจริงหรือไม่ขึ้นกับท่าของทารกในครรภ์และประสบการณ์ของแพทย์ด้วย

เมื่ออายุครรภ์เกิน 5 เดือน คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ที่เรามักเรียกกันว่าลูกดิ้น ควรสังเกตลักษณะการดิ้น ถ้าดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย ควรรีบมาพบแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวันนัด

เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 7-8 เดือน แพทย์จะตรวจดูท่าของทารกในครรภ์ ซึ่งท่าของทารกจะมีผลต่อการคลอด โดยปกติทารกควรอยู่ในท่าที่ศรีษะอยู่ทางด้านล่างของท้อง เมื่อใกล้กำหนดคลอดในเดือนที่ 9 ศรีษะควรเคลื่อนลงมาอยู่ในช่องเชิงกราน ทำให้อาจมีอาการหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยหรือปวดหลังได้

ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ย่อมเป็นไปได้มากขึ้น ในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์จึงอาจต้องนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้น หรืออาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ ตามความเหมาะสม

การเจาะน้ำคร่ำ

เป็นการตรวจทางการแพทย์ก่อนการคลอดเพื่อค้นหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น การตรวจวินิฉัยนี้จะต้องมีข้อบ่งชี้ว่าควรทำ ไม่ได้ทำทุกราย การเจาะดูดน้ำคร่ำไม่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ น้ำคร่ำที่ดูดออกมาใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย คุณแม่จึงไม่ต้องกังวลเนื่องจากวิธีการจะอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์

ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 9 เดือน อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งสุขภาพของคุณแม่ สุขภาพของลูกในครรภ์ สิ่งแวดล้อมต่างๆที่จะส่งผลกระทบทั้งทางกายและทางใจต่อคุณแม่ ร่างกายคุณแม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ เพื่อเป็นการป้องกันทั้งคุณแม่และคุณลูก จึงขอแนะนำให้ฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ

จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ็บท้องคลอด

  • อาการเจ็บครรภ์เตือนท้องจะแข็งเป็นพักๆ พอรู้สึกได้แต่ไม่มีอาการเจ็บ เพียงนอนพักหรือนั่งพัก อาการเจ็บท้องจะหายไป ไม่มีน้ำเดิน และไม่มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
  • อาการเจ็บครรภ์จริง ท้องจะแข็งเป็นพักๆ และมีอาการเจ็บแรงขึ้นเรื่อยๆ ห่างกันครั้งละประมาณ 30 วินาที เว้นระยะ 10 นาที และเริ่มปวดใหม่ถี่ขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดหลัง ปวดหน่วงบริเวณก้นกบ มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ในช่วงใกล้คลอดจะมีอาการคล้ายอยากถ่ายอุจจาระ

การคลอด สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคลอด

คลอดปกติ ถึงแม้จะเป็นการคลอดปกติ แต่คุณแม่ควรพิจารณาหลายๆ ด้าน เช่น แพทย์ สถานที่ ค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ตอนที่ฝากครรภ์ ซึ่งปัจจุบันการคลอดจะมีราคาเหมาจ่ายซึ่งรวมทั้งค่าห้องพักและเตียง พร้อมอาหาร ค่าแพทย์ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจต่างๆ บางแห่งรวมค่าอบรมการดูแลทารกแรกเกิด ชุดของขวัญสำหรับทารก ภาพแรกเกิด จัดทำสูติบัตร ให้พร้อมสรรพ เพื่อความสะดวกของคุณแม่ในราคาประหยัด

ผ่าตัดคลอด การผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ทันสมัย ปลอดภัย และสามารถเลือกกำหนดคลอดตามความเชื่อเรื่องโชคให้ลูกน้อยได้มีชะตาวัน เดือน ปีเกิดที่ดีเป็นสิริมงคลต่อครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งแพทย์ปัจจุบันเข้าใจเรื่องความเชื่อนี้และสามารถนัดหมายตามวันเวลาที่กำหนดได้ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่มีแพทย์หลายท่านก็จะสามารถอำนวยความสะดวกให้คุณแม่ได้ตามต้องการ และการผ่าคลอดปัจจุบันมีระบบการเหมาจ่าย ทำให้ได้ความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการคลอดได้เช่นเดียวกัน

เพื่อการฟูมฟักสายใยรักตัวน้อยๆ สมาชิกใหม่ในครอบครัวที่จะมาเติมเต็มชีวิตคู่ของคุณ วางแผนการตั้งครรภ์ ฝากครรภ์และคลอดกับแพทย์และโรงพยาบาลที่คุณมั่นใจและไว้วางใจได้ตั้งแต่วันนี้

ค่ารักษา

เพิ่มเติม
การรักษา ราคา(บาท)
คลอดบุตร ปกติ พัก 2 คืน 34,000 บาท
คลอดบุตรมีข้อบ่งชี้ทำหัตถการ (ใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศ) พัก 2 คืน 41,000 บาท
คลอดบุตร แบบผ่าคลอด พัก 3 คืน 46,000 บาท
เจาะน้ำคร่ำ ส่งตรวจ Chromosom (Amniotic Fluid Aspiration) 9,900 บาท
การรักษา
คลอดบุตร ปกติ
พัก 2 คืน
34,000 บาท
คลอดบุตรมีข้อบ่งชี้ทำหัตถการ (ใช้คีมหรือเครื่องดูดสูญญากาศ)
พัก 2 คืน
41,000 บาท
คลอดบุตร แบบผ่าคลอด
พัก 3 คืน
46,000 บาท
เจาะน้ำคร่ำ ส่งตรวจ Chromosom (Amniotic Fluid Aspiration)
9,900 บาท

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม