chat

เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

จากกรณีพบการติดเชื้อ ‘เอนเทอโรไวรัส’ (ENTEROVIRUS DISEASES) ในอากาศจนทำให้เด็กเกิดการติดเชื้อไวรัสที่หัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันและเสียชีวิต ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ และเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก ที่บางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มน้ำขึ้นตามคอแล้วแตกออกเป็นแผลคล้ายร้อนใน หรือมีตุ่มน้ำพองขึ้นตามมือและในช่องปาก หากพบอาการดังกล่าวควรพาเด็กมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ราคาการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

เอนเทอโรไวรัส คืออะไร?

อาการของโรคจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

แนวทางการป้องกันเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก’

เอนเทอโรไวรัส คืออะไร?

เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสทั้งหมด 68 ซีโรไทป์ เกือบทั้งหมดอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ โดยแสดงอาการของโรคต่างกัน ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดโรคในเด็กที่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ เช่น เป็นผื่น ท้องร่วง คล้ายเป็นไข้หวัด โรคมือเท้าปาก ฯลฯ ที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น มีระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน เด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี มีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่ บางกรณีอาจก่อให้เกิดโรคมากกว่าหนึ่งโรคก็ได้ อาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายกับโรคโปลิโอ หรือกลุ่มอาการกิแลงเบอเร่ ถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในเนื้อสมองจะก่อให้เกิดการอักเสบของสมอง ลักษณะเป็นโรคไข้สมองอักเสบ

อาการของโรคจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

แสดงอาการได้หลายลักษณะ ดังนี้

เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

โรคแผลในคอหอย (Herpangina) มีไข้ 1-2 วัน อาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมด้วย เจ็บคอ มีตุ่มพองใสสีแดงกระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน พบมากบริเวณหน้าต่อมทอนซิล เพดานปากด้านหลัง ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิล เป็นอยู่นาน 4-6 วัน

เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

โรคมือเท้าปาก (HFMD) มีไข้ 1-2 วัน บางรายไข้สูง แผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้มและเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น หลังจากนั้น 2-3 วันจะค่อยๆ ตกสะเก็ดและหายไปภายใน 7 -10 วัน จะมีผื่นหรือตุ่มพองใสเกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า แขน ขา ข้อศอกและรอบทวารหนักได้ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บช่องปากและลำคอมากช่วงวันที่ 3-5 น้ำลายไหล กลืนลำบาก อาเจียน ทานอาหารได้น้อยลง บางรายมีถ่ายเหลว

เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

โรคคออักเสบมีต่อมน้ำเหลืองโต (Pharyngitis with lymphadenopathy) มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองอยู่บนฐานรอบสีแดง พบมากบริเวณลิ้นไก่ หน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง

แนวทางการรักษาโรคจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

ยังไม่มียารักษาจำเพาะ เน้นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ใช้ยาลดไข้ ใช้ยาชาทาบริเวณแผลในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลียมากจะให้น้ำเกลือ ร่วมกับเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบผู้ป่วยที่เกิดโรครุนแรงประมาณร้อยละ 1 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2,000-10,000 ราย

แนวทางการป้องกันเชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

แยกผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ

ระมัดระวังการสัมผัสสารคัดหลั่งจำพวกนํ้ามูก นํ้าลาย เสมหะ หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย

พิจารณาปิดสถานศึกษาที่มีเด็กติดเชื้อชั่วคราวประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส

หมั่นทำความสะอาดร่างกาย ล้างมืออยู่สม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังทานอาหาร หรือใช้ห้องสุขา

ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน

หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่ชุมชนหรือแออัดอย่างตลาดนัด สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

วัคซีนป้องกันมือเท้าปากในไทยเป็นวัคซีน Enterovirus Type 71 ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 6 ขวบ ฉีดสองเข็มห่างกันหนึ่งเดือน โดยผู้ป่วยที่หายจากโรคมือ เท้า ปาก ประมาณ 1 เดือน สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้ออีวี 71 ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71 แล้วยังมีโอกาสป่วยเป็นโรคมือเท้าปากได้อีก เนื่องจากไวรัสกลุ่มนี้มีหลายสายพันธุ์

ราคาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเอนเทอโรไวรัสในเด็ก

วัคซีนป้องกันโรคเอนเทอโรไวรัสในเด็ก 2 เข็ม

5,900 บาท

Q&A หลากคำถาม มีคำตอบ เกี่ยวกับ ‘เชื้อเอนเทอโรไวรัสในเด็ก’

ถาม
ตอบ

โรคมือเท้าปากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่?

สามารถเป็นซ้ำได้อีก ถ้าได้รับเชื้อไวรัสคนละสายพันธุ์กับที่เคยเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไวรัสเอนเทอโรเช่นเดียวกันก็ตาม

ถาม
ตอบ

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากจากไวรัส EV71 (EntroVac) มีข้อจำกัดเรื่องใดบ้าง?

วัคซีนนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่มีสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น รวมถึง Coxasackie Virus A16 ได้

ถาม
ตอบ

เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากควรรับประทานอาหารอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงกลุ่มไหนเป็นพิเศษ?

งดรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือโซดาเนื่องจากมีกรด ซึ่งอาจสร้างความระคายเคืองภายในช่องปาก ให้รับประทานของเย็น ๆ เช่น ไอศกรีมแท่ง น้ำแข็ง โยเกิร์ต และหมั่นจิบน้ำเย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เน้นรับประทานอาหารอ่อนหากเคี้ยวไม่ไหวจำพวกข้าวต้มและโจ๊ก

แพทย์ผู้เขียนบทความ

หัตถการของศูนย์กุมารเวช

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม