chat

โรคเกาต์

ไม่ใช่โรคใหม่ที่ได้ยินแล้วต้องทำหน้าฉงน? หลายท่านอาจคุ้นเคยกับชื่อโรคนี้ด้วยซ้ำ เพราะมีผู้ป่วยที่ทนทรมานกับโรคนี้กันพอสมควรทีเดียว สำหรับชื่อโรคที่ออกจะฟังดูประหลาดก็เพราะทับศัพท์มาจากคำว่า “gout” ในภาษาอังกฤษนั่นแหละ

โรคเกาต์ เป็นภาวะที่ร่างกายมีสารยูริค(Uric acid)ไปตกตะตอนตามข้อและอวัยวะต่างๆ ภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน, ภาวะนิ่วยูริคในไต

โดยปกติ ร่างกายของคนเราจะมีกลไกในการรักษาดุลของกรดยูริคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นั่นคือ แม้จะมีการสร้างมากขึ้นแต่ร่างกายก็สามารถขับกรดยูริคส่วนเกินเหล่านั้นออกไปได้ แต่คนบางคนร่างกายมีความบกพร่องของกลไกดังกล่าว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดมีการสะสมกรดยูริคส่วนเกินไว้ในร่างกาย ซึ่งกรดยูริคเหล่านี้จะไปตกผลึกอยู่ตามข้อ ตามผนังหลอดเลือด ในไต และอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดความผิดปกติหรือโรคเกาต์ขึ้นได้นั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเกาต์

1. เพศ เพศชายมักพบได้ช่วงอายุ 35 – 45 ปี, เพศหญิงมักพบหลังหมดประจำเดือน

2. อาหาร รับประทานอาหารที่มีสารโปรตีนพิวรีน (purine) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนในร่างกายไปเป็นสารยูริคเช่น เครื่องในสัตว์, สัตว์ปีก, น้ำซุป, ปลาซาร์ดีน, ปลาไส้ตัน, หอยเชลล์, ปลาทู, น้ำปลา, กะปิ, ถั่วต่างๆ, กระถิน, ชะอม

3. ภาวะที่มีการสลายและสร้างสารยูริคมากกว่าปกติ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแตกตัวมากกว่าปกติ

4. ยาบางชนิด เช่น แอสไพรินขนาดต่ำ, ยาขับปัสสาวะ, การดื่มสุรา, แอลกอฮอล์

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน มีอาการปวดบวมแดงร้อนตามข้อต่างๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อหัวแม่เท้า, ข้อเท้า, ข้อเข่า เป็นต้น มักอักเสบเฉียบพลันรุนแรงทันทีและคงอยู่ 5 – 7 วัน แล้วค่อยๆ ทุเลาลง

หากผู้ป่วยละเลยไม่รับการรักษาตั้งแต่เป็นในครั้งแรก ก็จะเป็นบ่อยขึ้นและนานวันเข้าจะมีการทำลายของข้อ ทำให้ข้อค่อยๆ พิการ บางครั้งพบภาวะนิ่วยูริคในไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงได้ นอกจากนั้นอาจมีการสะสมผลึกของกรดยูริคเป็นก้อนใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ที่เรียกว่า ตุ่มโทไฟ (Tophi)ในบริเวณใกล้ข้อที่เคยอักเสบ เช่น ที่ติ่งหู, ข้อศอก, นิ้ว, ตาตุ่ม ซึ่งอาจแตกออกเกิดเป็นแผลเป็นหรืออาจติดเชื้อเป็นฝีหนองแล้วเป็นแผลเรื้อรังได้

โดยปกติโรคเกาต์เป็นโรคเรื้อรังที่จะติดตัวผู้ป่วยไปจนตาย ทราบอย่างนี้แล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ เพราะผู้ป่วยยังคงสามารถมีชีวิตที่เป็นสุขและยืนยาวเช่นคนปกติทั่วไปได้ ถ้ารู้จักที่จะดูแลรักษาตัวเองให้ดี แต่หากปล่อยปละละเลย ไม่เพียงต้องทรมานกับโรคไปเรื่อยๆ ในระยะยาวยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่สำคัญตามมาได้ เช่น ข้อพิการ,นิ่วในไต,ไตวาย ฯลฯ

การรักษาข้ออักเสบเฉียบพลัน

ในการรักษาข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะใช้ยาลดการอักเสบ เช่น ยาโคลชิซีน (Colchicine) ร่วมกับยาลดการอักเสบอื่นๆ เพื่อลดอาการปวดข้อ/บวมแดงร้อนรอบๆ ข้อ ซึ่งยามีผลข้างเคียงทำให้ท้องเดิน มวนท้องได้ และให้หลีกเลี่ยงการนวดคลึงบริเวณที่อักเสบด้วย

หากมีภาวะข้ออักเสบบ่อยๆ หรือมีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดระดับกรดยูริคในเลือดเมื่อจำเป็น เนื่องจากยามีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ภาวะผื่นแพ้ยาได้

สำหรับการปฏิบัติตัวที่จะช่วยมิให้อาการของโรคเกาต์กำเริบขึ้นได้นั้น นอกจากผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ตามนัด และทานยาที่ช่วยควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรลดโดยการอดอาหารอย่างฉับพลันเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้ ควรดื่มน้ำมากๆ ทุกวัน แต่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ รวมถึงการใช้ยาแอสไพรินและยาขับปัสสาวะ เพราะจะทำให้ไตขับกรดยูริคได้น้อยลง ทำให้โรคปวดข้อกำเริบได้ หลีกเลี่ยงการกินเลี้ยงหรือโต๊ะจีน และในขณะที่มีอาการปวดข้อ ควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนสูง แต่ถ้าไม่มีอาการปวดข้อและรับประทานยาควบคุมกรดยูริคอยู่เป็นประจำ ก็อาจไม่จำเป็นต้องควบคุมอาหารเคร่งครัดมากนัก

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ โรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ดังนั้น คนในครอบครัวของผู้ป่วยควรไปรับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของกรดยูริคด้วยนะคะ เพื่อที่ว่าจะได้หาทางป้องกันมิให้เป็นโรคนี้เสียแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนปรากฏอาการเลยจะทุกข์ทรมานร่างกายเสียเปล่าๆ แถมยังพลอยทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ไปด้วย

เกร็ดความรู้

เพิ่มเติม